ครม.ผ่านร่างเอกสารสำคัญ นายกฯ หอบร่วมประชุม “อาเซียน-สหรัฐฯ”

10 พ.ค. 2565 | 15:19 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ค. 2565 | 22:32 น.

ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างเอกสารแถลงการณ์วิสัยทัศน์ ให้นายกฯ ใช้ร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐอเมริกา สมัยพิเศษ 12-13 พ.ค.นี้ ที่กรุงวอชิงตัน ครอบคลุมประเด็นต่อสู้โควิด-19 การฟื้นตัวร่วมกัน และส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้เข้มแข็งกว่าเดิม

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมของการประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐอเมริกา สมัยพิเศษ โดยให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างแถลงการณ์ดังกล่าว ในการประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐอเมริกา สมัยพิเศษ ระหว่างวันที่ 12-13 พฤษภาคม 2565 ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา

 

สำหรับประเด็นสำคัญของร่างแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมฯ นั้น เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันระหว่างอาเซียน – สหรัฐอเมริกา ในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน ได้แก่ การต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 และการฟื้นตัวร่วมกัน 

 

อีกทั้งมีการเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต เช่น การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากสหรัฐอเมริกา ได้แก่ กองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 คลังสำรองอุปกรณ์ทางการแพทย์อาเซียนสำหรับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ระบบประสานงานภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขอาเซียน

รวมถึงการส่งเสริมให้มีการทำวิจัยร่วม การสนับสนุนทางการเงินที่ยั่งยืนสำหรับความมั่นคงด้านสาธารณสุข การลงทุน และร่วมทุนในอุตสาหกรรมด้านเภสัชกรรม การร่วมผลิตวัคซีน เพื่อรับมือกับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข รวมถึงผ่านข้อริเริ่มอาเซียน – สหรัฐอเมริกา ด้านสาธารณสุขเพื่ออนาคต

 

นอกจากนี้ยังรวมถึง การสนับสนุนทางการเงินในระดับนานาชาติที่เพิ่มขึ้นและยั่งยืนยิ่งขึ้น เพื่อการป้องกัน การเตรียมความพร้อม และการตอบสนองต่อโรคระบาด และการลงทุนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบสาธารณสุขผ่านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

 

โดยเฉพาะบริการสาธารณสุขมูลฐาน และกำลังคนด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่เข้มแข็งของความมั่นคงด้านสาธารณสุข โดยคำนึงถึงวาระและเป้าหมายความมั่นคงด้านสุขภาพโลก ค.ศ. 2024

 

ขณะเดียวกันยังมีประเด็นด้านการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้เข้มแข็งกว่าเดิม ได้แก่ ขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยให้มีความเท่าเทียม เข้มแข็ง และยั่งยืน การเติบโตที่ครอบคลุม และการพัฒนาที่ยั่งยืน การส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน

รวมทั้งการตอบสนองต่อความต้องการด้านโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาค ซึ่งจะช่วยให้เกิดการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่มีมาตรฐานสูง โปร่งใส ยั่งยืน และมีภูมิต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

การส่งเสริมการค้าการลงทุน และสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานระดับโลกที่มั่นคงและฟื้นตัวได้เร็ว และความเชื่อมโยงไร้รอยต่อในภูมิภาค และ กระชับความร่วมมือด้านความเชื่อมโยงด้านคมนาคม เพื่อสนับสนุนการนำเทคนิคที่เป็นเลิศมาใช้ เช่น การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 

 

รวมถึงประเด็นเรื่องการส่งเสริมความร่วมมือทางทะเล การเสริมสร้างความเชื่อมโยงระดับประชาชน การส่งเสริมการพัฒนาในอนุภูมิภาค การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและการส่งเสริมนวัตกรรม และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น