ปลดล็อก ‘กัญชา-กัญชง’ สร้างโอกาสไทย บนเวทีโลก

28 เม.ย. 2565 | 19:00 น.
อัปเดตล่าสุด :29 เม.ย. 2565 | 02:00 น.

นับถอยหลังปลดล็อก “กัญชา-กัญชง” พืชเศรษฐกิจดาวรุ่ง รัฐ-เอกชน-สมาคมประสานเสียง เร่งสร้างโอกาส อุดช่องว่าง เสริมความแข็งแกร่งสายพันธุ์ไทย ผงาดบนเวทีโลก

การประกาศปลดล็อก “กัญชา-กัญชง” ออกจากบัญชีรายชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ซึ่งจะมีผลเป็นรูปธรรมหลังพ้นกำหนด 120 วัน นับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (8 กุมภาพันธ์ 2565) หน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนต่างเชื่อมั่นว่าจะขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากกัญชาทั้งในระดับครัวเรือน วิสาหกิจชุมชนและระดับประเทศ และพลิกฟื้นให้เศรษฐกิจไทยกลับมาผงาดได้ “กัญชา-กัญชง” จึงเป็นพืชเศรษฐกิจดาวรุ่งที่ต้องจับตามอง โดยเฉพาะบนเวทีโลก

สัมมนา .. CANNABIS WEALTH “สูตร (ลับ) ฉบับ รวยด้วย...กัญชา”               

การเสวนาเรื่อง “ส่องโอกาส “กัญชา-กัญชง” ไทยบนเวทีโลก” บนเวทีสัมมนา .. CANNABIS WEALTH “สูตร (ลับ) ฉบับ รวยด้วย...กัญชา” จัดโดย “ฐานเศรษฐกิจ” ที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ตรงมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สะท้อนถึงโอกาสของกัญชา-กัญชงไทยได้อย่างน่าสนใจ

 

ปลดล็อกกัญชาใต้ดิน

นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่าธุรกิจกัญชา ยังเป็นบลูโอเชี่ยนและไวท์โอเชี่ยน ที่มีโอกาสในการพัฒนาธุรกิจเศรษฐกิจด้วยการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจในวงกว้างได้ เนื่องจากมีช่องว่างในตลาดอยู่มาก

นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์

ทั้งหลัง 9 มิถุนายนนี้เปิดให้ชาวบ้านจดแจ้งและปลูกกัญชาใช้ในครัวเรือนได้ หากมาจดแจ้ง 1 ล้านครัวเรือน ให้อบจ.ต้องช่วยหนุนโดยหาต้นพันธุ์กัญชาไปมอบให้ชาวบ้านปลูก อย่าใช้เมล็ด เพราะปลูกยาก ปลูก 200 ต้นโต 2 ต้น จับมือโครงการเพาะต้นกล้ากัญชา 200 ล้านบาท เพาะต้นกัญชาอย่างเดียว กัญชาจึงเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ดี

 

นอกจากนี้ยังมีแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชา/กัญชง เพื่อสุขภาพและส่งเสริมการท่องเที่ยวสุขภาพ โดยมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใน 3 ระดับ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ ได้แก่ Food grade ปลูกนำไปทำอาหารเครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ของใช้ในชีวิตประจำวัน แชมพู สบู่ ยาสระผม ครีมนวด ปลูกผม โดย (ต้นน้ำ) เราพัฒนาเมล็ดพันธุ์ สนับสนุนวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ปลูกแบบพันธสัญญา (กลางน้ำ)

 

โรงงานแปรรูป สารสกัด โรงงานผลิตอาหาร เครื่องดื่ม โรงงานเครื่องสำอาง (ปลายน้ำ)ผลิตภัณฑ์อาหาร,เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง Traditional grade (ต้นน้ำ) เราถอดองค์ความรู้ภูมิปัญหาพัฒนาสูตรตำรับ เพื่อให้ได้วัตถุดิบคุณภาพ เครื่องยาคุณภาพ ต่อไปยัง (กลางน้ำ)

CANNABIS WEALTH “สูตร (ลับ) ฉบับ รวยด้วย...กัญชา” จัดโดย “ฐานเศรษฐกิจ”

โรงงานยาแผนไทย (ปลายน้ำ)ยาแผนไทย ยาปรุงเฉพาะราย ยาแพทย์ทางเลือก Pharma/Medical grade (ต้นน้ำ) ลงทุนโรงเรียนปลูก ระบบปิด เพื่อให้ได้รูปแบบบริการที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ (กลางน้ำ) โรงงานยาแผนปัจจุบัน (ปลายน้ำ) บริการการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ (ปลายน้ำ ) ยาแผนตะวันตก

 

“มีช่องว่างทางธุรกิจที่สอดแทรกเข้าไปดำเนินการได้ทุกระดับและกว้างขวางมาก และกระทรวงสาธารณสุขมุ่งต่อยอดนวัตกรรมกัญชา กัญชง ตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ เพื่อส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่าสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงการส่งเสริมแหล่งปลูกเป็นเส้นทางท่องเที่ยว เป็นศูนย์การเรียนรู้ และส่งเสริมเป็นผลิตภัณฑ์ในเวลเนส เซ็นเตอร์

 

จากการเก็บข้อมูลในพื้นที่ พบว่าไทยมี 50 สายพันธุ์ น่าจะถือโอกาสการที่เราจะปลดล็อกกัญชาในวันที่ 9 มิถุนายน นำกัญชาอยู่ใต้ดินกลับขึ้นมา มีการรับรองให้ประชาชนมีทุนทางทรัพยากรอยู่ในพื้นที่ที่ไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพมากน่าจะรับรองสิ่งเหล่านี้ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ต่างชาติก็ตามหากัญชาไทยเช่นกัน”

 

กำหนดเกณฑ์ควบคุมมาตรฐาน

ด้านดร.ไพศาล การถาง รองคณบดี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (มทร.พระนคร) กล่าวว่า มทร.พระนครเดินหน้าในการคัดสายพันธุ์กัญชา หรือกัญชงที่ทนต่อความชื้นและเชื้อราเพื่อให้ได้ “ช่อดอกที่มีคุณภาพ” ซึ่งช่วงที่ผ่านมาช่อดอกกัญชาของไทยติด 1 ใน 5 ของโลก

 

นั่นหมายความว่าคุณภาพในการทำช่อดอกกัญชาของไทยดีและมีนัยสามารถพัฒนาได้ แม้ว่าความสำเร็จดังกล่าวเกิดจากทีมใต้ดินที่อาจทำผิดกกฎหมาย แต่เป็นโอกาสในการต่อยอด โดยเฉพาะช่อดอกเป็นตลาดใหญ่ (Big Market)

ดร.ไพศาล การถาง               

วันนี้ในต่างประเทศมีการพัฒนา และกำหนดมาตรฐานเป็นเงื่อนไขในการซื้อขายในอนาคต รวมถึงกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐได้ระดมสรรพกำลังจากทั่วโลกเพื่อสร้างมาตรฐานเพื่อจะใช้เป็นมาตรฐานบอกถึงคุณภาพการนำเข้ากัญชาไปยังสหรัฐ หรือแต่ละประเทศกำลังจัดทำมาตรฐานกัญชากัญชงที่จะใช้ในทางการแพทย์ทั้งการนำเข้าและการส่งออก

              

ในทางกลับกัน ประเทศไทยปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงาน หรือข้อกำหนด ที่เป็นสาระสำคัญ สำหรับพืชที่จะใช้ทางการแพทย์ซึ่งจำเป็นต้องทำในรูปมาตรฐานตั้งแต่ขั้นตอนปลูก ดังนั้นหากต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อขีดความสามารถทางการตลาดในอนาคต ทั้งภาคการเมือง ภาครัฐควรโฟกัสประเด็นเหล่านี้ เป็นสาระสำคัญในการขับเคลื่อน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ผ่าน ISO1705 เป็นอย่างน้อย เพื่อที่จะนำเข้าสู่การนำเข้าหรือส่งออกในตลาดต่างประเทศ

              

อีกประเด็นคือ กังวลว่าช่อดอกกัญชาที่จะออกมาจะมีอะไรมากำกับเรื่องคุณภาพ และช่อดอกที่จะออกมาหลังวันที่ 9มิ.ย.เป็นต้นไป เนื่องจากพืชชนิดนี้ต้องทำด้วยความรับผิดชอบ เพราะหากดำเนินการไปแล้วไม่มีความแน่นอนเรื่องคุณภาพ ตรงนี้จะเป็นการทำลายตลาดอนาคต เพราะฉะนั้น สิ่งที่ควรจะเดินให้ถูกต้องตั้งแต่ต้นน้ำ ปลายน้ำ หากจะดำเนินการก็ต้องแยกให้ชัด ระหว่างการจะใช้ภูมิปัญญาเพื่อประโยชน์ในครัวเรือน แต่หากจะทำในมุมที่กว้างขึ้นโดยการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ก็ต้องให้มีความชัดเจนเรื่องมาตรฐาน ซึ่งเราควรมีเป้าหมายที่จะทำเชิงพาณิชย์หรือการส่งออกและต้องมาพูดกันเรื่องมาตรฐานช่อดอก

 

ผนึกกำลังจัดทำยุทธศาสตร์กัญชา

นายพรชัย ปัทมินทร นายกสมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทยและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ดร.ซีบีดี จำกัด กล่าวว่า อดีตกัญชง กัญชาเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจับต้องไม่ได้ในเชิงพาณิชย์หรือแม้แต่การวิจัยก็ยังไม่สามารถทำได้ เพราะฉะนั้นนี่เป็นโอกาสที่ดีซึ่งมาพร้อมกับความรับผิดชอบความสำคัญของการที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมกัญชง กัญชาเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของคนทั้งประเทศ กัญชง กัญชาเป็นอุตสาหกรรมที่มีอายุจริงๆ แค่ 1 ขวบกว่าๆ ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือตั้งแต่ภาครัฐในการให้แนวทางในการประกอบกิจการชัดเจนทั้งกัญชาหรือกัญชงก็ตาม

              

เพราะฉะนั้นจุดแรกเริ่มของอุตสาหกรรมคือไทยควรที่จะมีสายพันธุ์ที่เป็นของตัวเองเพราะปัจจุบันในส่วนของการปลูก นี่คือโอกาสอันแรกที่จะต้องทำกันให้ได้อย่างมีความรับผิดชอบ คือมีสายพันธุ์ของตัวเองที่ชัดเจนมีการอนุมัติอย่างถูกต้องและส่งเสริมให้คนใช้ไปในแนวทางที่ถูก

พรชัย ปัทมินทร

ในทางฝั่งของผู้ออกกฎไทยเองถือว่าทำงานเร็วที่สุดทำให้ไทยอยู่ในจุดที่กฎหมายก้าวหน้าที่สุดในระยะเวลาไม่นาน สิ่งที่จะตามมาจากการสร้างอุตสาหกรรมไปพร้อมกับกฎหมายที่มีการสนับสนุน คือผู้ประกอบการในทุกๆส่วนต้องมองความสมดุลในเรื่องของต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำและความยั่งยืนและอยู่อย่างช่วยเหลือกันและรับผิดชอบ ในปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ตื่นเต้นในฝั่งของอุตสาหกรรมต้นน้ำ คือการปลูก แต่ว่าวันนี้อุตสาหกรรมได้พัฒนาขึ้นมาถึงจุดที่ว่าจะนำกัญชง กัญชาไปใช้หรือนำไปทำประโยชน์อะไรต่อได้

 

ในอนาคตอันใกล้ กัญชง กัญชาจะหลุดออกจากการเป็นยาเสพติดซึ่งจริงๆจะมีกฏหมายและข้อระเบียบอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่จะมี 2 ประเด็นหลักที่ต้องเร่งขับเคลื่อนคือ การร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในการลงมาทำยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ร่วมกันอย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมจะต่างคนต่างเดิน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดี

 

ส่วนที่สองคือส่วนของการทำงานของเอกชนซึ่งในช่วงแรกจะต้องระมัดระวังและช่วยกันดูแลดีๆ บน 2 เรื่องคือ 1. การนำไปใช้ต้องใช้ให้ถูกต้อง ถูกประเด็น ถูกเรื่อง ถูกมาตรฐาน อย่าไปสนับสนุนในการใช้ผิดประเภทหรือการนำไปใช้แบบไม่มีความรับผิดชอบซึ่งส่วนนี้เป็นความรับผิดชอบร่วมกัน

 

2. การนำไปพัฒนาไปเป็นเรื่องของผลิตภัณฑ์จะต้องแจ้ง และสื่อสารชัดเจนว่านำไปใช้ประโยชน์อะไรได้ เพื่อเป็นการสร้างตลาดขึ้นมาร่วมกัน ถ้าคนซื้อของไปใช้แล้วไม่ได้ประโยชน์หรือใช้แล้วไม่ได้ผลตามที่โฆษณาก็จะเป็นผลเสียกับเพื่อนบ้านที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันนี่เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องร่วมกันขับเคลื่อน

 

วอนออกกม.เอื้อนักปลูก

ด้านนายอร่าม ลิ้มสกุล ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมปลูกกัญชาอาชีพแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับกัญชามีสายพันธุ์ไทยค่อนข้างเยอะตามท้องถิ่น จากที่เคยสำรวจและเก็บเมล็ดพันธุ์มามีถึง 50 สาย ในฐานะผู้ใช้กัญชาและผู้ผลิต ซึ่งเป็นฟันเฟืองในภาคอุตสาหกรรมถ้าไม่มีนักปลูกที่ดี สายพันธุ์ที่ดี

 

คงไม่ได้ผลิตภัณฑ์ที่ดี ขณะที่ในต่างประเทศ พบว่ามีกัญชาหลายสายพันธุ์ที่มีชื่อเสียง โดยส่วนใหญ่เป็นกัญชาที่มีส่วนประกอบมาจากไทย เช่น สายพันธุ์เคดี (Kodam) ซึ่งเป็นสายพันธุ์แรกที่ชาวต่างชาตินำไปใช้ในต่างประเทศ

นายอร่าม ลิ้มสกุล

“อยากเก็บสายพันธุ์ไว้ให้ประเทศชาติ ทำเพื่อคนไทยจริงๆไม่เคยคิดค่าใช้จ่าย ตามปกติแล้วสายพันธุ์กัญชาตามท้องถิ่นจะมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในที่แห่งนั้นและกลายเป็นสายพันธุ์ท้องถิ่นในระยะเวลา 4-5 ปี อยากฝากให้ทางรัฐบาลปลดล็อกการทำเมล็ดพันธุ์กัญชาง่ายขึ้น เพราะมีผู้ผลิตเยอะมากและมีนักปลูกเยอะมาก เขามีประสบการณ์ในการปลูก

 

อย่าห้ามนักปลูกใช้กัญชา เพราะมันผิดหลักการ ควรออกกฎหมายให้เอื้อกับนักปลูกกัญชาบ้าง เพราะนักปลูกคือฟันเฟืองที่สำคัญของอุตสาหกรรมกัญชา เชื่อว่าจะมีนักปลูกและนักพัฒนากัญชาเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เราก่อตั้งสมาคมนักปลูกกัญชาอาชีพแห่ประเทศไทย เพราะต้องการให้คนที่ปลูกแบบผิดกฎหมายหันมาปลูกแบบถูกกฎหมายมากขึ้น เพื่อกระจายความรู้ในกลุ่มวิสาหกิจด้วย”

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,778 วันที่ 28 - 30 เมษายน พ.ศ. 2565