เจน 3 ‘เจ้าสัว’  รู้จริง-ปรับตัวเร็ว-ไม่ปิดกั้นความคิด

09 เม.ย. 2565 | 16:18 น.
อัปเดตล่าสุด :24 พ.ย. 2565 | 16:37 น.

กว่า 20 ปีที่ผู้บริหารเจน 3 แบรนด์ “เจ้าสัว” เข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัว “ณภัทร โมรินทร์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เตียหงี่เฮียง (เจ้าสัว) จำกัด ต้องผ่านมาหลายวิกฤติ

กว่าจะมายืนอยู่จุดนี้ได้ ซึ่งทุกครั้ง เธอสามารถนำพาองค์กรและธุรกิจ ก้าวผ่านช่วงที่ยากลำบากมาได้ สาวเก่งนักบริหารคนนี้ทำอย่างไร ลองมาติดตามดูกัน 
 

ในฐานะผู้นำ การขับเคลื่อนองค์กรให้เดินหน้าสู่ความสำเร็จ ไม่ใช่ความฟลุ๊ค และไม่ใช่ว่าบุญหล่นทับ หรือเป็นลูกเจ้าของแล้วจะะทำให้ธุรกิจเดินหน้า หรือสั่งงานลูกน้องให้หันซ้ายหันขวาได้ “ณภัทร” เล่าว่า เธอเรียนรู้ทุกอย่างด้วยการลงมือทำ เริ่มตั้งแต่เรียนรู้ในภาพกว้างของงานทุกแผนก ทุกฟังก์ชั่น จนมาเจาะจงที่แผนกการขาย การตลาด การออกไปพบปะลูกค้าลงพื้นที่ด้วยตัวเอง รับรู้และทำความเข้าใจกับความต้องการของลูกค้า 

ได้ลงพื้นที่ เดินเข้าไปพูดคุยกับลูกค้าด้วยตัวเองทำให้ผู้บริหารท่านนี้รับรู้ถึงความต้องการของลูกค้า และคอนซูเมอร์ ที่ซื้อโปรดักต์ “เจ้าสัว” ไปรับประทานจริงๆ เธอนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ และพัฒนาโปรดักต์ รวมทั้งการทำตลาดให้ตอบโจทย์ทุกฝ่าย ทั้งร้านค้าซึ่งเป็นลูกค้า และผู้บริโภค ซึ่งเป็นลูกค้าโดยตรง เธอเริ่มปรับทั้งระบบการทำงาน และบริหารการผลิตให้มีคุณภาพ พัฒนาสินค้าและแพคเกจจิ้งให้น่าซื้อหา สร้างทีมฝ่ายขายและการตลาดที่มีศักยภาพ ทำโปรโมชั่นและข้อเสนอที่ดีให้กับร้านค้า 

 

“แรกๆ เข้ามา จะให้เข้ามานั่งเปลี่ยนโน้นเปลี่ยนนี่ แบบนั้นไม่ได้ เราต้องลงถึงข้อมูลด้วยตัวเองก่อน เวลาเราทำอะไร น้องๆ นำเสนอ เราเปิดรับไอเดีย แต่เราต้องเข้าใจด้วย ต้องลงไปดูที่หน้าร้าน ไปดูที่ซูเปอร์มาร์เก็ตก่อน ให้รู้ถึงความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า”

ซีอีโอท่านนี้ ไม่ได้รู้แค่ความต้องการของร้านค้าและผู้บริโภคเท่านั้น การที่ได้ลงทำงานในแต่ละแผนกแต่ละฟังก์ชั่นของธุรกิจ ทำให้เข้าใจด้วยว่า ความต้องการของพนักงานในแต่ละส่วนเป็นอย่างไร ทำยังไงให้เซลอยากขาย ทำยังไงให้ขายสินค้าได้ง่ายขึ้น การนำเสนอสินค้า ฝ่ายจัดซื้อของแต่ละช่องทางขายเขาต้องการอะไร ทุกส่วนต้องทำความเข้าใจและมีการพูดคุยกัน 


การเป็นนักบริหารที่มีความละเอียดรอบครอบ และเข้าใจทุกส่วนงาน ทำให้ “ณภัทร” สามารถแก้ไขปัญหาในแต่ละครั้งได้อย่างตรงจุด บาลานซ์ทั้งพอร์ตสินค้าและการทำงานได้อย่างดี ทำให้ลดความเสี่ยงเมื่อเกิดวิกฤติในแต่ละช่วง


 “ณภัทร” นำโจทย์หลักของแบรนด์ “เจ้าสัว” คือ การเป็นผู้ค้นคิดความอร่อย มาผนวกกับตัวตนของแบรนด์ ที่มีลุคจีน พรีเมี่ยม สินค้นในพอร์ต 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มอาหารพร้อมรับประทาน, กลุ่มอาหารพร้อมปรุง, ขนมอร่อยรองท้อง, ขนมอร่อยเพลิน และกลุ่มเซ็ทของฝาก จึงเน้นที่จะตอบโจทย์เหล่านี้คู่กับคุณภาพ ทำให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ดี และสอดรับการบริโภคในโอกาสต่างๆ ได้


 นอกจากนี้ เธอยังบาลานซ์ช่องทางขาย รองรับกับโลกที่ปรับเปลี่ยนไป ด้วยการเพิ่มช่องทางออนไลน์ การขยายตลาดต่างประเทศ รวมถึงรุกเข้าไปในตลาดโมเดิร์นเทรด เทรดดิชั่นนอลเทรด อย่างครอบคลุม

 

ในช่วงต้มยำกุ้งเป็นช่วงที่ “เจ้าสัว” ออกโปรดักต์ใหม่ คือ ข้าวตังหมูหยอง และเริ่มส่งสินค้าออกทำตลาดต่างประเทศ​ทำให้แบรนด์ “เจ้าสัว” ผ่านวิกฤติในครั้งนั้นมาได้ 

เจน 3 ‘เจ้าสัว’  รู้จริง-ปรับตัวเร็ว-ไม่ปิดกั้นความคิด
ส่วนช่วงโควิด-19 ซึ่งถือเป็นวิกฤติที่หนักหนา เจอกันทั่วโลก ในส่วนของ “เจ้าสัว” รับมือด้วยการบริหารต้นทุนการผลิต บริหารคนงาน และบาลานซ์ช่องทางการขายให้ชัดเจนมากขึ้น ช่วงที่นักท่องเที่ยวหายไป คนเดินทางได้ ช่องทางหน้าร้าน ที่เปิดตามปั้มต่างๆ ก็มีบางสาขาต้องปิด แล้วหันมาเน้นช่องทางโมเดิร์นเทรด คอนวีเนียร์สโตร์ และออนไลน์มากขึ้น ก็ทำให้ธุรกิจเดินหน้าทำรายได้เติบโตต่อเนื่อง


“ณภัทร” เน้นยํ้าว่า ต้องบาลานซ์ช่องทางการขาย และบาลานซ์พอร์ตสินค้าที่หลากหลาย โดยผู้บริหารและทีมงานต้องร่วมมือกันปรับตัวอย่างรวดเร็ว บริหารต้นให้ดี ผลกระทบต่างๆ ก็จะทุเลาเบาบางลง และทำให้เดินหน้าต่อได้ โดยเธอวางแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่มีความยืดหยุ่นพร้อมปรับตัวอย่างรวดเร็วตลอดเวลา 

 

การสร้างนวัตกรรมโปรดักต์ใหม่ๆ หาตลาดใหม่ๆ ภายใต้วิชั่น “การคิดค้นความอร่อย” ด้วยการรู้ลึกรู้จริงและเข้าใจผู้บริโภค รวมถึงคนทำงาน คือเส้นทางที่ซีอีโอท่านนี้วางไว้...วันนี้เราพยายามพัฒนามากขึ้น จากการเป็นเบอร์หนึ่ง เบอร์สอง วันนี้เราต้องก้าวไปมาตรฐานต่างประเทศ เพื่อสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน องค์กร ลูกค้า ผู้ขาย ผู้ซื้อ ตลอดซัพพลายเชนของเรา ต้องยั่งยืนร่วมกัน


หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,772 วันที่ 7 - 9 เมษายน พ.ศ. 2565