ผู้นำ Mercedes-benz บริหารทีมด้วยใจและการรับฟัง 

02 เม.ย. 2565 | 09:49 น.
อัปเดตล่าสุด :24 พ.ย. 2565 | 16:41 น.

Mercedes-benz เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยกว่า 20 ปี ด้วยความเป็นแบรนด์อันดับต้นๆ ในใจคนไทย และขณะเดียวกัน ก็เป็นองค์กรระดับต้นๆ ที่บรรดาแรงงานอยากเข้าทำงานและมีความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมงานกับองค์กรแห่งนี้

“โรลันด์ โฟล์เกอร์” ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด บอกเลยว่า เป็นเพราะ “คน” คือ หัวใจสำคัญของ Mercedes-benz

ผู้นำ Mercedes-benz บริหารทีมด้วยใจและการรับฟัง 

 จากการเข้าทำหน้าที่เป็นเบอร์หนึ่ง ใน Mercedes-benz ประเทศไทยมากว่า 3 ปี “โรลันด์” ไม่เพียงทำหน้าที่รักษาแบรนด์ Mercedes-benz ให้ยังคงเป็นเบอร์ต้นๆ ในใจคนไทยเท่านั้น แต่ล่าสุด เขายังทำให้ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ได้รับรางวัล “บริษัทที่น่าทำงานมากที่สุดในเอเชียปี 2021” (Best Companies to Work For in Asia 2021) จาก HR Asia อีกด้วย 

“คน เป็นแฟคเตอร์สำคัญที่ทำให้บริษัทมีการเติบโตและมีผลกำไร เรามองว่าจะทำอย่างไรให้พนักงานของเราดีขึ้น มีสิทธิประโยชน์อะไรที่เขาควรได้ หรือเขาจะมี Career Path ที่ดีได้อย่างไร เพราะถ้าพนักงานมีความรู้สึกที่ดี เขาก็เสมือนเป็นตัวแทนที่ดีของบริษัทด้วย เพราะพนักงานคือ คนที่อยู่ใกล้ชิดกับลูกค้ามากที่สุด”

 

ผู้นำ Mercedes-benz บริหารทีมด้วยใจและการรับฟัง 
ผู้นำ Mercedes-benz ประเทศไทยท่านนี้ ไม่ได้มองแค่ความก้าวหน้าขององค์กรหรือธุรกิจ แต่ยังให้ความสำคัญกับทีมงาน ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญ 

“โรลันด์” ทำงานอยู่กับ Mercedes-benz มาตั้งแต่ปี 1979 เขาบอกเลยว่า เห็นการเปลี่ยนแปลงมาเยอะ ได้เรียนรู้และเข้าใจว่า อะไรที่จะมีผลกระทบกับคน อะไรที่ต้องพัฒนา อะไรที่องค์กรต้องลงทุนด้วยความเหมาะสม และอะไรที่จะทำให้พนักงานของเขาเติบโตก้าวหน้า 

 

อนาคตรูปแบบธุรกิจยานยนต์อาจเปลี่ยนแปลงไป เช่นเดียวกับอีกหลายๆ ธุรกิจ ที่ไม่ได้ขายแค่โปรดักต์ แต่ต้องขายเซอร์วิส หรืออาจจะเปลี่ยนเป็นการขายเซอร์วิส
เป็นหลักเลยก็ได้ เพราะฉะนั้น “คน” หรือ “พนักงาน” จึงมีความสำคัญอย่างมาก ในช่วงที่ธุรกิจถูก ดิสรัปต์จากทั้งเทคโนโลยีและวิกฤตโควิด -19 สิ่งสำคัญที่เขาทำคือ การ Upskill-Reskill ทีมงาน เพิ่มทักษะใหม่ๆ เพราะเชื่อได้ว่า ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า งานที่เป็น manual จะลำบาก คนต้องเปลี่ยนมายด์เซ็ท ต้องอัพสกิลตัวเอง เอาข้อมูลมาประยุกต์ใช้ให้เป็น คนที่เป็นพนักงานระดับล่าง ยิ่งต้องเร่งพัฒนาตัวเอง เพิ่มทักษะใหม่ๆ ให้เต็มที่ 


ที่ผ่านมา Mercedes-benz มีการเทรนด์เรื่องดิจิทัล และพยายามกระตุ้นให้พนักงานร่วมกันเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ระดับ Top Management ลงไป จะเตือนพนักงานทุกๆ วันว่า เราต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง แม้แต่ตัวซีอีโอเอง ก็เข้าร่วมการอบรมด้วย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ การทดลองทำ และปรับปรุง อย่างรวดเร็ว


“ผมจะไม่บังคับให้ใครทำ ถ้าผมเองยังไม่อยากทำ” อันนี้แสดงให้เห็นได้ว่า ผู้นำระดับซีอีโออย่าง “โรลันด์” ก็ยังต้องเรียนรู้ และปรับปรุงอยู่เสมอ 
 

สิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่แค่ความท้าทายของพนักงานทั่วไป แต่ยังหมายถึงความท้าทายของผู้นำ ที่จะต้องซัพพอร์ตแรงงานขององค์กร ให้เดินหน้าไปพร้อมกับโลกยุคใหม่ให้ได้  
 

“ในฐานะผู้นำ เราต้องสร้างความเข้าใจกับพนักงาน ว่าทำไมคุณถึงต้องเปลี่ยน เปลี่ยนแล้วจะได้อะไร และสุดท้ายพนักงานต้องภาคภูมิใจ ที่เขาเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้...ดังนั้น ในฐานะผู้นำสูงสุดขององค์กร การสื่อสารถือเป็นเรื่องสำคัญมาก” 

ผู้นำ Mercedes-benz บริหารทีมด้วยใจและการรับฟัง 
“โรลันด์” เล่าว่า ปกติเขาจะพูดคุยกับพนักงานอยู่แล้ว...ในฐานะซีอีโอ เรามีให้พนักงานมานั่งคุยกัน ต้นปีมีการเซ็ทเป้าหมาย แล้วสิ้นปี ก็ดูว่าเราทำอะไร ผลเป็นอย่างไร ตอนนี้ จากที่เคยทำปีละครั้ง ต้องปรับมาทำทุกเดือน ทำให้ทุกอย่างเชื่อมต่อกันได้เร็วขึ้นและดีขึ้น เพื่อให้เกิด work life balance ที่ดีกับการทำงาน ซึ่งรูปแบบการทำงาน มีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ ตามสถานการณ์และสภาพแวดล้อม 


“มันไม่มีอะไรถาวร เราต้องปรับตัวไปเรื่อยๆ เราต้องเรียนรู้ ปรับตัว และทำให้งานของเราเดินต่อไปได้ สิ่งสำคัญคือ ต้องรับฟัง และต้องฟังด้วยหัวใจ ว่า ลูกน้องเราแฮปปี้หรือเปล่า และเมื่อฟังแล้วเราต้องลงมือทำ”


ซีอีโอท่านนี้ ยังกล่าวอีกว่า Mercedes-benz ขายรถได้ 2 ล้านคันต่อปี แต่ต่อไปนี้จะเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 100% ดังนั้น Mercedes-benz ต้องปรับตัว พนักงานที่เคยทำส่วนหนึ่ง ก็ต้องเปลี่ยนไปทำอีกส่วนหนึ่ง เช่น คนที่เคยทำแก๊ซโซลีนเอ็นจิ้ิน เขาก็ต้องปรับตัวเอง ซึ่งตอนนี้ Mercedes-benz กำลังพยายามมองหาโมเดลธุรกิจที่สมบูรณ์แบบ (complete business model) เพื่อให้การทำธุรกิจในอนาคตของ Mercedes-benz ยังครองความสำเร็จต่อไปอย่างยั่งยืน 

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,770 วันที่ 31 มีนาคม - 2 เมษายน พ.ศ. 2565