ผวา ‘มาม่าโมเดล’ ของกินของใช้ดิ้น แห่ขึ้นราคาขายส่ง

17 มี.ค. 2565 | 06:00 น.
695

ของกิน-ของใช้พาเหรดขึ้นราคาแล้วกว่า 30% ของสินค้าทั้งหมด จับตาสบู่ สแน็ค น้ำอัดลมเริ่มขาดตลาด หวั่นสวมรอย “มาม่าโมเดล” ขึ้นราคาขายส่งทำยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ทุนหาย กำไรหด

นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่งค้าปลีกไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมสินค้าอุปโภคบริโภคในร้านค้าต่างๆ ทยอยปรับขึ้นต่อเนื่อง เบื้องต้นประเมินได้ว่า มีสินค้าปรับขึ้นแล้วราว 30% ของสินค้าทั้งหมดที่จำหน่ายภายในร้าน ส่วนจะมีสินค้าใดปรับขึ้นอีกนั้น ยังต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะในเดือนเมษายนนี้

 

ทั้งนี้สินค้าที่ปรับขึ้นราคาแล้วมีทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า” ที่ปรับขึ้นราคาขายส่ง 10 สตางค์ต่อซอง ขณะที่ราคาขายปลีก 6 บาทเท่าเดิม นอกจากนี้ยังมีนมข้นหวาน อาหารกระป๋อง ไม่ว่าจะเป็นปลากระป๋อง ผักกาดดองกระป๋อง ฯลฯ ที่ปรับขึ้นราคาจากสาเหตุบรรจุภัณฑ์กระป๋องที่มีต้นทุนสูงขึ้น รวมทั้งเคมีภัณฑ์ เช่น สารกันบูด สารปรุงแต่ง รสเทียม เฟเวอร์ต่างๆ เป็นต้น

สินค้าขึ้นราคา

ขณะที่มีสินค้าอีกหลายรายการที่รอปรับขึ้นราคา ทั้งที่เป็นสินค้าทั่วไป และสินค้าควบคุมซึ่งผู้ประกอบการต้องยื่นขอปรับราคากับกระทรวงพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นน้ำอัดลม น้ำมันพืช ข้าวสาร ฯลฯ แต่จากการสำรวจล่าสุดพบว่า มีสินค้าหลายรายการที่ไม่มีวางจำหน่าย โดยตัวแทนจำหน่ายให้เหตุผลว่า สินค้าขาดตลาด ผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ขณะที่ร้านค้าส่งต่างวิตกว่า สินค้าลอตใหม่ที่มาจะมีการปรับราคาขึ้น

 

ต่อกรณีดังกล่าว นายสมชาย กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า สินค้าขาดตลาด ส่งสัญญาณว่าอาจจะมีการปรับราคาขึ้นได้ เช่น เหล้า เบียร์ หากบอกว่าของจะขาด ก็จะเกิดภาวะการกักตุนสินค้า เมื่อคนแห่ซื้อตุนของก็ช็อต เช่นเดียวกับการขึ้นราคาหากประกาศขึ้นราคา คนก็จะแห่ซื้อตุนเช่นกัน

 

อย่างไรก็ดีหากทุกวันแบรนด์ต่างๆ กำหนดนโยบายในการขายเป็น one price policy โดยกำหนดราคาขายเป็นโครงสร้างราคาเดียว เอเย่นต์จะนำไปขายในราคาเท่าใดก็ได้ เมื่อตลาดเกิดการแข่งขันรุนแรง เอเย่นต์ก็สามารถทำโปรโมชั่น ลดราคาได้โดยไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท ทำให้เอเย่นต์สามารถกำหนดราคาขายเองได้

สินค้าขึ้นราคา

ดังนั้นเมื่อเป็นสินค้าควบคุมไม่สามารถขึ้นราคาจำหน่ายปลีกได้ เอเย่นต์ก็สามารถขึ้นราคาขายส่งได้ ซึ่งแน่นอนว่า ร้านค้าส่งยี่ปั๊ว ซาปั๊วก็จะได้มาร์จิ้นลดลง ขณะที่ร้านค้าปลีก โชห่วยไม่สามารถขึ้นราคาขายเกิน 6 บาทตามที่รัฐบาลกำหนดได้ ซึ่งโมเดลนี้เกิดขึ้นในสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และมีโอกาสที่สินค้าอื่นๆ จะนำไปทำตามก็เป็นได้

 

“ยังต้องจับตาดูหลายสินค้าที่ต้นทุนวัตถุดิบยังสูง เช่นน้ำมันปาล์ม ซึ่งปกติแล้วในเดือนมีนาคม ผลผลิตปาล์มจะออกตลาดมากขึ้น ราคาปาล์มจะถูกลง ดังนั้นน้ำมันปาล์มน่าจะลดลง ทำให้ต้นทุนผลิตในหลายๆสินค้า ไม่ว่าจะเป็นสบู่ก้อน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รวมถึงสแน็คต่างๆ ลดลง เพราะหากยังคงสูงเช่นนี้ สินค้าพวกนี้ก็ไม่สามารถเดินหน้าได้ ต้องปรับราคาขึ้น รวมถึงสินค้าอื่นๆ อีกหลายประเภท เช่น น้ำยาปรับผ้านุ่ม ซอสปรุงรส ของใช้ต่างๆ ด้วย”

สินค้าขึ้นราคา

ด้านเจ้าของร้านโชห่วยรายหนึ่ง กล่าวว่า ทุกวันนี้น้ำอัดลมเป๊ปซี่ ขายราคา 12 บาท ขณะที่ต้นทุนมา 10-11 บาท ร้านค้าแทบไม่ได้กำไร สินค้าหลายอย่างลดการผลิตเพราะยิ่งผลิตมาก ยิ่งขายมากก็ยิ่งขาดทุน ทำให้ของขาดตลาด แต่เมื่อต้นทุนขึ้น ก็ต้องแบกรับภาระ วันนี้จึงเห็นสินค้าที่พยายามปรับตัว ทั้งการลดไซส์ เช่นกระดาษทิชชู่ ที่ม้วนเล็กลง หรือจากเดิมขาย 500 แผ่นต่อแพ็ค ก็เหลือ 450 บาทต่อแพ็ค สบู่ก้อน จากเดิม 100 กรัมต่อก้อน ก็ปรับลดเหลือ 65 กรัมต่อก้อน

 

ขณะที่นางสิญจ์พธู หาญวรากิตติ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วีเอส 09 ออริจินอล เฮิร์บ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายสบู่ผสมสมุนไพรแบรนด์ “วิภาดา” กล่าวว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ได้กระทบต่อต้นทุนการผลิตสบู่โดยตรง ทั้งเรื่องการขนส่งและวัตถุดิบที่ใช้เป็นส่วนผสมหลักในการผลิตที่ได้ปรับราคาขึ้น บริษัทจำเป็นต้องปรับราคาขายสบู่วิภาดาทุกชนิดขึ้นอีกโหลละ 5 บาท ซึ่งอาจกระทบต่อราคาขายปลีกเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย หากเปรียบเทียบกับแบรนด์อื่นที่ปรับเพิ่มมากกว่า จึงมั่นใจว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อลูกค้ามากนัก

 

“ต้นทุนการผลิตสบู่ที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ทำให้บริษัทต้องพยายามแบกรับต้นทุนบางอย่างเท่าที่ทำได้ เพื่อไม่ให้ราคาสบู่ที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันมีราคาแพงมากขึ้น และยังกระทบต่อบริการ OEM สบู่บ้าง ที่ราคาอาจสูงกว่าช่วงก่อนหน้านี้ แต่ OEM เครื่องสำอางทุกประเภทยังไม่ปรับราคาขึ้นเพราะต้นทุนบางอย่างบริษัทยังสามารถแบกรับไว้ได้ เพราะวัตถุดิบบางอย่างได้สั่งซื้อล่วงหน้าไว้แล้ว”