"การบินไทย" ชุบชีวิตเครื่องยนต์เก่าสู่ของใหม่ ขายสร้างมูลค่าเพิ่ม 20 เท่า

16 มี.ค. 2565 | 16:44 น.
อัปเดตล่าสุด :17 มี.ค. 2565 | 00:00 น.
1.4 k

สายช่าง "การบินไทย"โชว์ศักยภาพในโครงการ “Engine Re-birth” นำเครื่องยนต์อากาศยานเก่ามาประกอบใหม่ สร้างรายได้กว่า 100 ล้านบาท สร้างมูลค่าเพิ่มได้ถึงประมาณ 20 เท่า

นายเชิดพันธ์ โชติคุณ ประธานเจ้าหน้าที่สายช่าง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่การบินไทย ฯได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร ปรับปรุงกระบวนการ รวมถึงบริหารจัดการพนักงานให้เหมาะสมกับปริมาณงาน และสถานะของบริษัทฯ ตามแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันในตลาดธุรกิจการบิน

โดยฝ่ายซ่อมใหญ่เครื่องยนต์อากาศยานได้ปรับลดจำนวนพนักงานลงจาก ประมาณ 200 คน เหลือ 33 คน เพื่อให้สอดคล้องกับขนาดฝูงบิน และสถานะทางการเงินของบริษัท ทั้งนี้ พนักงานทุกคนมีความมุ่งมั่นและมีแนวความคิดที่จะช่วยเหลือบริษัทฯ ในช่วงวิกฤติ จึงเป็นที่มาของหนึ่งในโครงการที่เกิดจากการระดมความคิดของพนักงาน (Initiative) เพื่อสร้างรายได้ และเพิ่มมูลค่าให้แก่ทรัพย์สินของบริษัทฯ

 

\"การบินไทย\" ชุบชีวิตเครื่องยนต์เก่าสู่ของใหม่ ขายสร้างมูลค่าเพิ่ม 20 เท่า

สายช่าง  บริษัท การบินไทย โดยฝ่ายซ่อมใหญ่เครื่องยนต์อากาศยาน ได้ริเริ่มโครงการ Initiative “Engine Re-birth” โดยการนำชิ้นส่วนเครื่องยนต์ GE CF6-80C2B1F ของเครื่องบินแบบโบอิ้ง 747-400 ที่ปลดระวางแล้ว แต่ยังคงมีชิ้นส่วนอะไหล่ ที่อยู่ในสภาพใช้งานได้ (Serviceable Condition) มาประกอบเป็นเครื่องยนต์ที่สมบูรณ์พร้อมใช้งาน  เพื่อนำไปจำหน่ายเป็นการสร้างรายได้ให้บริษัทฯ 

 

\"การบินไทย\" ชุบชีวิตเครื่องยนต์เก่าสู่ของใหม่ ขายสร้างมูลค่าเพิ่ม 20 เท่า

 

นับเป็นเวลากว่า 2 เดือนที่ทีมงานสายช่าง บริษัท การบินไทย ได้ใช้ศักยภาพ ความชำนาญ และความคิดสร้างสรรค์ ในการรวบรวมอะไหล่ และชิ้นส่วนต่างๆ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 5.5 ล้านบาท  มาทำการประกอบตามมาตรฐานของบริษัทผู้ผลิตเครื่องยนต์ และทดสอบสมรรถนะจนได้เครื่องยนต์ GE CF6-80C2B1F แบบสมบูรณ์ที่พร้อมใช้งาน (Serviceable Engine) 

 

\"การบินไทย\" ชุบชีวิตเครื่องยนต์เก่าสู่ของใหม่ ขายสร้างมูลค่าเพิ่ม 20 เท่า

 

โดยได้รับใบรับรองการซ่อมตามมาตรฐานของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) รวมถึงองค์การบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (FAA) เนื่องด้วย ในอุตสาหกรรมการบินเครื่องยนต์รุ่นดังกล่าวเป็นที่นิยมและมีความต้องการสูง

 

บริษัทการบินไทยจึงสามารถจำหน่ายเครื่องยนต์ที่ประกอบได้ในราคาที่สูงกว่า 100 ล้านบาท กล่าวคือสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ถึงประมาณ 20 เท่า จึงนับเป็นอีกหนึ่งในความภาคภูมิใจของ สายช่าง บริษัท การบินไทย