กรุงเทพฯขึ้นแท่นจุดหมายการประชุมนานาชาติอันดับ 6 ของโลก

27 ก.พ. 2565 | 18:09 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.พ. 2565 | 14:29 น.
2.6 k

กรุงเทพฯขึ้นแท่นเป็นเมืองจุดหมายการประชุมนานาชาติอันดับ 6 ของโลกจากการสำรวจของบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลกด้านอุตสาหกรรมไมซ์ (GainingEdge) จาก 101 เมืองที่มีความสามารถในการแข่งขันของการเป็นจุดหมายจัดการประชุมนานาชาติ

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ความสะดวกในการเดินทางเข้าถึงเมือง เป็นจุดหมายของการเดินทาง ทำให้หลายครั้งที่กรุงเทพฯ ได้ถูกคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับนานาชาติ 

จากการสำรวจของบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลกด้านอุตสาหกรรมไมซ์ (GainingEdge) ใน 101 เมืองที่มีความสามารถในการแข่งขันของการเป็นจุดหมายจัดการประชุมนานาชาติ โดยพิจารณาจากโครงสร้างพื้นฐานของเมือง ความสะดวกในการเดินทางเข้าถึงเมือง ระบบโลจิสติกส์ สมาคมหรือประชาคมวิชาชีพสาขาต่าง ๆ ความน่าสนใจในฐานะจุดหมายของการเดินทาง และต้นทุนการดำเนินงานของผู้วางแผนและผู้จัดงาน 

กรุงเทพฯ คว้าอันดับ 6 เมืองจุดหมายการประชุมนานาชาติ ขยับอันดับดีขึ้นจากอันดับ 8 ในปี 2563 โดย 10 อันดับแรกของโลกประจำปี 2564 เรียงตามลำดับ ดังนี้ ปารีส นิวยอร์ก สิงคโปร์ ปักกิ่ง โตเกียว กรุงเทพฯ ลอนดอน บาร์เซโลนา อิสตันบูลและวอชิงตัน

 

กรุงเทพฯขึ้นแท่นจุดหมายการประชุมนานาชาติอันดับ 6 ของโลก

 

ทั้งในวันที่ 23-25 มิ.ย.65 กรุงเทพฯ จะเป็นเจ้าภาพจัดงาน Global Summit of Women และยังได้รับเลือกเป็นสถานที่จัดประชุม APEC 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในเดือน พ.ย.นี้ ด้วย

 

ทั้งนี้ 101 เมืองที่ได้รับการสำรวจคัดเลือกมาจากรายชื่อเมืองที่มีการจัดประชุมนานาชาติจำนวนมากในรอบปี 2560-2562 ของ International Congress and Convention Association (ICCA) โดยพิจารณาจากดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันของการเป็นจุดหมายจัดการประชุมนานาชาติหรือ International Convention Destination Competitive Index ประกอบด้วยโครงสร้างพื้นฐาน ความสะดวกในการเดินทางเข้าถึงเมือง ระบบโลจิสติกส์ สมาคมหรือประชาคมวิชาชีพสาขาต่าง ๆ ความน่าสนใจในฐานะจุดหมายของการเดินทาง และต้นทุนการดำเนินงานของผู้วางแผนและผู้จัดงาน 

 

ผลสำรวจได้จัดอันดับเมืองจุดหมายการประชุมนานาชาติ 10 อันดับแรกของโลกประจำปี 2564 เรียงตามลำดับดังนี้ ปารีส นิวยอร์ก สิงคโปร์ ปักกิ่ง โตเกียว กรุงเทพฯ ลอนดอน บาร์เซโลนา อิสตันบูลและวอชิงตัน สำหรับกรุงเทพฯ เป็นการขยับจากอันดับ 8 ในปี 2563 เมื่อเปรียบเทียบเมืองเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 10 ลำดับแรก กรุงเทพ ฯ อยู่ลำดับที่ 4 ประกอบด้วยสิงคโปร์ ปักกิ่ง โตเกียว กรุงเทพฯ ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ กัวลาลัมเปอร์ โซล มาเก๊าและบาหลี 

 

รายงานดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันของเมืองในการเป็นจุดหมายจัดการประชุมนานาชาติประจำปี พ.ศ. 2564 เป็นการประเมินคุณภาพของปัจจัยหลักในแต่ละเมือง โดยพิจารณาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ 1. ด้านสุขอนามัยหรือ Hygiene Factors 2. ด้านความได้เปรียบในการแข่งขันหรือ Competitive Advantages 3. ด้านการสร้างความแตกต่างหรือ Key Differentiators ซึ่งดัชนีบ่งชี้เหล่านี้มาจากการวิจัยเบื้องต้นและข้อมูลจากองค์กรที่เกี่ยวข้อง อาทิ International Congress and Convention Association (ICCA) ธนาคารโลก World Economic Forum และสหประชาชาติ ซึ่งออกแบบมาเพื่อช่วยให้เมืองมีแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในการเร่งฟื้นฟูอุตสาหกรรมไมซ์ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด 19

 

การขยับอันดับของกรุงเทพฯ มีขึ้นในช่วงที่งานไมซ์ต่าง ๆ เริ่มกลับมาดำเนินงานอีกครั้ง โดยในวันที่ 23-25 มิถุนายนปีนี้ กรุงเทพฯ จะเป็นเจ้าภาพจัดงาน Global Summit of Women ในขณะที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิต์ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่จะเปิดใช้งานเต็มรูปแบบในเดือนกันยายน และยังได้รับเลือกเป็นสถานที่จัดประชุม APEC 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในเดือนพฤศจิกายนนี้ด้วย

 

 

กรุงเทพฯขึ้นแท่นจุดหมายการประชุมนานาชาติอันดับ 6 ของโลก

 

 

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า “การขยับอันดับของกรุงเทพฯ สู่อันดับ 6 ของโลกเป็นนิมิตหมายที่ดี ในช่วงที่ทีเส็บกำลังมุ่งพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ เพื่อดึงดูดนักวางแผนการจัดประชุมนานาชาติและผู้ร่วมงานจากต่างประเทศ โดยทีเส็บดำเนินงานแบบพุ่งเป้าชัดเจนในการดึงงานใหญ่ ๆ จากทั่วโลกให้เข้ามาจัดในไทย เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ 

 

ทีเส็บได้ขยายบริการ MICE Lane ไปยังสนามบินดอนเมือง เปิดศูนย์ประสานงานเพื่ออำนวยความสะดวกอุตสาหกรรมไมซ์ (Thailand MICE One Stop Service) ในรูปแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.thaimiceoss.com เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้จัดงานในการติดต่อประสานงานกับหน่วยราชการเมื่อต้องจัดงานกับต่างประเทศ และขยายเครือข่ายกับภาคธุรกิจหลัก เพื่อช่วยผลักดันให้กลุ่มวิชาชีพของภาคธุรกิจยื่นประมูลสิทธิ์ดึงงานประชุมนานาชาติมาจัดในประเทศไทยได้สะดวกยิ่งขึ้น และช่วยสร้างจุดขายที่แตกต่างให้กับกรุงเทพฯ

 

นอกจากนั้นทีเส็บยังได้ร่วมกับโรงแรมต่างๆ จัดทำแพ็กเกจสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้า ตลอดจนการจับคู่ธุรกิจผู้ประกอบการไมซ์กับผู้ประกอบการสายเทคโนโลยีภายใต้โครงการ MICE Winnovation เพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการจัดงาน และยังมีแคมเปญสนับสนุนงานประชุมนานาชาติในชื่อ Convene Plus ที่ให้งบประมาณสนับสนุนการจัดงานทั้งในรูปแบบ Hybrid และ Virtual รวมถึงสนับสนุนการจัดงานที่สร้างผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เรายังคงเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบเพื่อสร้างมูลค่าให้กับงานของลูกค้า และดึงดูดนักเดินทางไมซ์นานาชาติให้มาจัดงานในประเทศไทย”