พิลึก!ทำไมอีอีซีต้องตั้งบริษัทลูกบริหารสัญญา“สนามบินอู่ตะเภา”

21 ก.พ. 2565 | 14:44 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.พ. 2565 | 21:59 น.

พิลึก!ทำไมอีอีซีต้องชงวาระตั้งบริษัทลูก "อีอีซี พัฒนาสินทรัพย์สนามบิน" บริหารสัญญา“อู่ตะเภา”ทั้งที่มีคณะกรรมการบริหารสัญญา อยู่แล้ว

วันนี้(21 กุมภาพันธ์2565)ในการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.)ซึ่งมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานนอกจากจะติดตามความคืบหน้าการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก รวมถึงจะมีการพิจารณาแผนงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ปี 2565

แต่ยังมีวาระที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.)จะเสนอตั้งบริษัทอีอีซี พัฒนาสินทรัพย์สนามบิน จำกัด ทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท โดยมีสกพอ.ถือหุ้น 99.99% ซึ่งบริษัทดังกล่าวจะได้รับสัญญาจ้างจาก สกพอ.ในการบริหารโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่ สกพอ.เป็นคู่สัญญา ซึ่งจะได้รับค่าจ้างในระหว่างปี 2567-2569 วงเงิน 30 ล้านบาท 
 

รวมทั้งบริษัทอีอีซี พัฒนาสินทรัพย์สนามบิน จำกัด จะได้สิทธิเช่าที่ดินราชพัสดุพื้นที่พัฒนาสนามบิน(ATZ) ในเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออกจาก สกพอ.ตามมาตรา 53 แห่ง  พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 ที่กำหนดให้เกี่ยวกับที่ดินราชพัสดุที่ สกพอ.ใช้อำนาจกรมธนารักษ์ หรือที่ดินราชพัสดุที่หน่วยงานอื่นครอบครองหรือใช้ประโยชน์ และ  สกพอ.ได้รับความยินยอมจากหน่วยงานนั้นในการเข้ามาดูแล

นอกจากนี้ บริษัทอีอีซี พัฒนาสินทรัพย์สนามบิน จำกัด จะได้รับมอบหมายจาก สกพอ.ในการบริหารสัญญาร่วมลงทุนและสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตลอดอายุสัญญา และสามารถลงทุนหรือร่วมลงทุนในกิจการที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน
 

ทั้งนี้โครงการเมืองการบินอู่ตะเภาได้มีการลงนามไปเรียบร้อยแล้ว ที่ทำเนียบรัฐบาล แต่วาระการตั้งบริษัทลูก ที่สอดใส่เข้ามา ทำให้ กรรมการหลายท่าน รวมทั้งนายสุพัฒนพงษ์ แปลกใจกับวาระ ในการตั้งบริษัลูกนี้ เพราะต้องพิจารณารายละเอียด ทีโออาร์ ที่เอกชนชนะประมูล ให้รอบคอบ และไม่เกิดความซ้ำซ้อน 

 

เนื่องจากว่า ใน ทีโออาร์ ไม่ได้ ระบุว่าจะมีการตั้งบริษัทลูกมาบริหารโครงการ ดังนั้น หากมีการตั้งบริษัทลูกขึ้นมาถือว่าอาจเข้าข่าย ผิดทีโออาร์ 

 

นอกจากนั้นการบริหารโครงการ ก็มีคณะกรรมการบริหารสัญญา ดูแลอยู่แล้ว เหมือนกับโครงการอีอีซีอื่นๆเช่น รถไฟความเร็วสูงสนามบิน และ ท่าเรือ ก็อยู่ในรูปคณะกรรมการบริหารสัญญา 

 

ทั้งนี้สกพอ.ได้ลงนามสัญญาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก กับบริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จํากัด (UTA)เพื่อร่วมกันลงทุนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2563 โดยเอกชนคู่สัญญาได้สิทธิการบริหารพื้นที่ของสนามบินอู่ตะเภา6,000 ไร่ เพื่อเป็นเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กองทัพเรือใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตสนามบินและยินยอมให้ สกพอ.ดำเนินการร่วมลงทุนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา


อย่างไรก็ตามหากในการประชุมครั้งนี้การเสนอตั้งบริษัทลูกผ่าน ก็จะมีการนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมในเดือน มี.ค.2565 และหากได้รับอนุมัติ สกพอ.จะดำเนินการจดทะเบียนตั้งบริษัทเพื่อดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว
 


ขณะที่การเสนอตั้งบริษัทลูกดังกล่าว สกพอ.อ้างว่า มีฐานะเป็นนิติบุคคลหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีงบประมาณและกฎหมายอื่น โดมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 กำหนดหน้าที่และอำนาจของ สกพอ.ครอบคลุมถึงการลงทุนหรือร่วมลงทุนกับบุคคลอื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อประกอบกิจการที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอีอีซี รวมทั้งสามารถตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดเพื่อประกอบกิจการที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอีอีซี