โอกาส-ทางเลือก ‘แพทย์แผนจีน’ คนไทยรักษาโรค

10 ก.พ. 2565 | 15:44 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.พ. 2565 | 22:44 น.
1.5 k

ชี้เทรนด์คนไทยหันใช้บริการรักษาด้วย “แพทย์แผนจีน” เติบโตก้าวกระโดด ทั้งฝังเข็ม นวดทุยหนา ยาสมุนไพรจีน ล่าสุด แพทย์เฉพาะทาง “ทางเลือก” ใหม่ในการรักษาควบคู่แพทย์แผนปัจจุบัน

การแพทย์ทางเลือก (Complementary and Alternative Medicine) คือ การแพทย์ทางเลือกที่นำมาใช้เสริมหรือใช้ร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบัน หรืออาจจะใช้ทดแทนการแพทย์แผนปัจจุบันได้โดยไม่ต้องอาศัยการแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันมีความหลากหลาย อาทิ การแพทยแผนโบราณจากจีน (Traditional Chinese Medicine) การแพทย์แบบอายุรเวชของอินเดีย

 

รวมไปถึง การบำบัดรักษาแบบ การใช้สมาธิบำบัด โยคะ ชี่กง ฯลฯ หรือที่เรียกว่า Mind-Body Interventions การใช้สมุนไพรในการรักษา ทำให้ปัจจุบันมีตำรับยากแผนไทยกว่า 4 หมื่นตำรับ และตลาดยาสมุนไพรไทยมีมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท

แพทย์แผนจีน

หนึ่งในศาสตร์ทางการแพทย์ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในประเทศไทย คือ “แพทย์แผนจีน” ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลชั้นนำให้ความสำคัญและเปิดให้บริการเพื่อเป็น “ทางเลือก” ในการรักษาให้กับผู้ป่วย รวมถึงจำนวนผู้เข้ามาใช้บริการที่เพิ่มขึ้น สอดรับกับการรักษาของแพทย์แผนจีนที่มีความชำนาญเฉพาะทางมากขึ้น ไม่ใช่เพียงการฝังเข็ม การนวดทุยหนา (Tuina) หรือยาสมุนไพรจีน เท่านั้น

 

แพทย์จีนเชน ปรีชาวณิชวงศ์ แพทย์แผนจีนประจำ คลินิกแพทย์แผนจีน “หยินหยางคลินิก” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แพทย์แผนจีนได้รับการยอมรับและเป็นหนึ่งในวิชาชีพสาขาการแพทย์แผนจีนกระทรวงสาธารณสุขมากว่า 20 ปี ซึ่งแพทย์ที่จะให้บริการรักษาแบบแพทย์แผนจีนได้ต้องมีใบประกอบโรคศิลปะสาขาแพทย์แผนจีน ปัจจุบันมีอยู่กว่า 1,600 คน ที่คอยให้บริการทั้งในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โรงพยาบาลชุมชน คลินิกส่วนตัว เป็นต้น รวมทั้งมีการจัดตั้งสมาคมแพทย์แผนจีนประจำประเทศไทยด้วย

 

อย่างไรก็ดีคนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการรักษาแบบหมอแมะ หรือการจับชีพจร การฝังเข็ม การนวดทุยหนา การกินยาจีน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนเครื่องมือในการรักษาของแพทย์แผนจีน ที่จะถูกนำมาใช้ประกอบกับหลังการวินิจฉัยโรค เช่น อาการปวดหลัง เอว ก็สามารถใช้การฝังเข็ม การนวดทุยหนาได้ หรือโรคอื่นๆ ที่ปัจจุบันพบว่า ผู้ป่วยจำนวนมากที่เลือกใช้การรักษาโดยแพทย์แผนปัจจุบันควบคู่กับแพทย์แผนจีน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษาที่มากขึ้น

แพทย์แผนจีน

ขณะที่ในประเทศจีน ซึ่งเป็นต้นฉบับของการแพทย์แผนจีนในปัจจุบันพบว่ามีการพัฒนาอย่างมาก โดยมีการสนับสนุนให้มีการวิจัยที่หลากหลาย และเชิงลึกมากขึ้น มีการแยกแผนกย่อยเช่นเดียวกับแพทย์แผนปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น แพทย์แผนจีนโรคไต โรคมะเร็ง โรคผิวหนัง โรคนรีเวช โรคบุรุษเวช เป็นต้น ซึ่งมีผลงานวิจัยการรักษา เป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก

 

ส่วนในประเทศไทยเอง พบว่าปัจจุบันโรงพยาบาลหัวเฉียว ซึ่งเป็นต้นแบบการรักษา ของแพทย์แผนจีน มีคลินิกแพทย์แผนจีนคอยให้บริการในเมืองไทย ปัจจุบันมีการแบ่งแยกแผนกที่ชัดเจน ทั้งแผนกโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคไต โรคนรีเวช โรคกระเพาะอาหาร โรคทางเดินอาหาร โรคต่อมไร้ท่อ เป็นต้น และยังส่งเสริมให้บุคคลากรทางการแพทย์ไปศึกษาต่อ พร้อมกับมาให้บริการแก่ประชาชน

แพทย์แผนจีน

“แพทย์แผนจีนต้องเรียนรู้แพทย์แผนปัจจุบันควบคู่กันไป เพื่อใช้ในการประกอบการวินิจฉัยโรค ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาโรคทั่วไปได้ ก่อนที่จะเสริมทักษะจนเป็นแพทย์แผนจีนเฉพาะทางเพื่อทำการรักษาโรคต่างๆ”

 

แพทย์จีนเชน กล่าวอีกว่า แพทย์แผนจีนไม่ได้เป็นพระเอก ที่รักษาได้ทุกโรค บางโรคต้องใช้ควบคู่กับแพทย์แผนปัจจุบัน เช่นในประเทศจีน เรียกว่า Integrative medicine แต่ในประเทศไทยยังเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องใช้เวลาในการพัฒนา ให้มีส่วนร่วมในการบริการสุขภาพกับประชาชน

 

ทั้งนี้จุดเด่นของแพทย์แผนจีน จะมุ่งการรักษาใน 2 ส่วนคือ 1. การรักษาแบบองค์รวม ซึ่งแพทย์แผนจีนมองว่า ร่างกายคนเราเป็นองค์รวม ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จะส่งผลกระทบกันหมด การรักษาแม้จะดูไม่เกี่ยวข้องกัน แต่จะพยายามหาการเสียสมดุลของร่างกาย ซึ่งในรูปแบบทฤษฏีของแพทย์แผนจีน เชื่อว่าทุกอย่างจะส่งผลกระทบกันหมด ต้องหาจุดที่เสียสมดุลย์ เพื่อปรับองค์รวม

แพทย์จีนเชน ปรีชาวณิชวงศ์

เช่น อาการไอเรื้อรัง ที่กินยาละลายเสมหะแล้วไม่หาย กินยาแก้ไอไม่หาย หากเจาะลึกในสาเหตุอาจมาจากการที่กระเพาะอาหารย่อยอาหารไม่ดี ทำให้มีสิ่งคลั่งค้างจนกลายเป็นเสลด การรักษาด้วยยาแก้ไอ หรือยาละลายเสมหะจึงไม่ได้ผล ต้องหันไปบำรุงกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นการรักษาที่ต้นตอ

 

2. การรักษาที่ภาวะโรค หรือขั้นตอนของการพัฒนาของโรค ซึ่งภาวะโรคที่ไม่เหมือนกัน การใช้ยาหรือวิธีการรักษาจะแตกต่างกัน ซึ่งแพทย์แผนปัจจุบันอาจไม่สามารถนำมาอธิบายในแพทย์แผนจีนได้

 

หนึ่งในกรณีการรักษาที่แพทย์จีนเชน พบคือ การรักษาด้านนรีเวช ที่ปัจจุบันพบว่า ปัญหาการมีบุตรยาก สามารถเกิดได้จากหลายกรณีทั้งจากผู้หญิงและผู้ชาย เช่น ผู้หญิง เกิดจากสาเหตุ ไข่ไม่ตก ช็อกโกแลตซีสต์ ท่อรังไข่อุดตันทำให้ไข่กับน้ำเชื้อไม่เจอกัน ขณะที่ ผู้ชาย อาจจะเกิดจากกรณีน้ำเชื้อมีปัญหา ไม่แข็งแรง ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาก็จะแตกต่างกันไป

 

“ที่ผ่านมา มีคนไข้ที่มีประวัติการผ่าตัดช็อกโกแลตซีสต์ที่รังไข่มาปรึกษาจำนวนไม่น้อย พบว่าคนไข้ส่วนใหญ่มีภาวะรังไข่เสื่อมก่อนวัยอย่างฉับพลัน เพราะเนื้อรังไข่จะถูกตัดออกไปด้วยบางส่วน ดังนั้นการรักษาช็อกโกแลตซีสต์จึงควรคำนึงถึงการมีบุตรหลังจากผ่าตัดไปแล้วด้วย

แพทย์แผนจีน

โดยเลือกการรักษาด้วยการใช้ยาเป็นหลัก และผ่าตัดเมื่อจำเป็นเท่านั้น ซึ่งอาจจะใช้การรักษาแบบแพทย์แผนจีนด้วยยาสมุนไพรและการฝังเข็มก่อน หากช็อกโกแลตซีสต์ยุบลงแล้ว ก็สามารถที่จะหลีกเลี่ยงการผ่าตัด เพราะการผ่าตัดอาจทำให้รังไข่เสื่อมก่อนวัยได้”

 

วันนี้คนไทยเลือกใช้บริการ “แพทย์แผนจีน” เป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษา ป้องกัน และดูแลสุขภาพ เพราะมีความเข้าใจและศึกษาหาข้อมูล ขณะที่โลกฝั่งตะวันตกเองให้การยอมรับ ทำให้เทรนด์การรักษาโรคด้วย “แพทย์แผนจีน” จึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามไปด้วย การเติบโตของแพทย์แผนจีนในประเทศไทยจึงยังมีโอกาสอีกมาก

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,755 วันที่ 6 - 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565