กรมการแพทย์แผนไทยฯ ชู 6 ตำรับยากัญชาดูแลผู้ป่วยมะเร็ง

04 ก.พ. 2565 | 20:27 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.พ. 2565 | 21:06 น.
684

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดแนวทางการดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคองด้วย 6 ตำรับยากัญชาร่วมกับศาสตร์การแพทย์แผนไทย และหลักธรรมานามัย เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วย

เนื่องในวันมะเร็งโลก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการแนวทางการดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคองด้วย 6 ตำรับกัญชาทางการแพทย์แผนไทย ได้แก่ ตำรับยาศุขไสยาศน์ ตำรับยาแก้ไข้ผอมเหลือง ตำรับยาแก้ลม แก้เส้น น้ำมันสนั่นไตรภพ ตำรับยาอัมฤตย์โอสถ น้ำมันกัญชาตำรับหมอเดชา บูรณาการร่วมกับศาสตร์การแพทย์แผนไทย และหลักธรรมานามัย ในการดูแลรักษาผู้ป่วยระยะประคับประคอง เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วย


นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวในการเปิดงานว่า ตั้งแต่กฎหมายอนุญาตให้นำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ กรมฯ ได้ขับเคลื่อนกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ตั้งแต่การรวบรวมตำรับยา องค์ความรู้เรื่องกัญชาจากตำรา ถอดบทเรียนจากตัวหมอ ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อกลั่นกรองให้ได้ตำรับยามาใช้โดยอิงกับภูมิปัญญา

 

อีกทั้งยังร่วมมือกับหน่วยงานตามกฎหมายเพื่อจัดหาวัตถุดิบกัญชา ที่มีคุณภาพมาผลิต และฝึกอบรมแก่ผู้ใช้ให้มีความรู้ในเรื่องการสั่งจ่ายยาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และผลักดันให้เกิดการเข้าถึงการใช้ตำรับยากัญชาในการบริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทย กว่า 1,000 แห่ง ครอบคลุมทั้ง 12 เขตสุขภาพ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการจัดบริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทยในสถานพยาบาล

 

ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย อาการของโรคมะเร็งจะเริ่มต้นจากความร้อนในร่างกาย (ปิตตะ) ทำงานผิดปกติ ทำให้มีอาการตัวร้อนระส่ำระส่าย ร้อนในปากในคอ ระบบการย่อยอาหารผิดปกติ และทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม จากนั้นจะส่งผลกระทบต่อธาตุลม (วาตะ) ทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด แน่น ปวดเมื่อย แขนขาไม่มีกำลัง เจ็บร้าวไปทั้งตัว จากนั้นก็จะกระทบกับธาตุน้ำ (เสมหะ) ทำให้เบื่ออาหาร ซีด เหลือง บวมน้ำ มีก้อนโผล่ ไม่สบายตัว แล้วก็จะส่งผลกระทบต่ออวัยวะต่าง ๆ ตามลำดับ

 

สำหรับแนวทางการรักษาผู้ป่วยมะเร็งในทางการแพทย์แผนไทย จะเป็นการดูแลผู้ป่วยประคับประคองแบบบูรณาการ (Integrative Palliative Care) คือ การรักษาอาการเฉพาะที่ อาการทั่วไป การจัดการกับอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นทางร่างกาย การจัดการอาการ ทางจิตใจ และการจัดการทางด้านสังคมด้วยตำรับยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติและตำรับยาทางการแพทย์แผนไทยที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม เพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว สังคม และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

ด้านนางสาวอมรรัตน์ ราชเดิม แพทย์แผนไทยชำนาญการ โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน กล่าวว่า ปัจจุบันมีการนำตำรับยากัญชาทางการแพทย์แผนไทยมาใช้ในการดูแลอาการ และเพิ่มคุณภาพชีวิตป่วยมะเร็ง ในคลินิกกัญชาการแพทย์แผนไทยทั่วประเทศ อาการโดยส่วนใหญ่ของผู้ป่วยมะเร็งที่เข้ารับบริการจะมาด้วยอาการนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดกล้ามเนื้อ และมีความวิตกกังวล ซึ่งอาการที่กล่าวมานี้สามารถดูแลหรือบรรเทาได้ด้วยน้ำมันกัญชาตำรับหมอเดชาหรือตำรับยากัญชาทางการแพทย์แผนไทย

 

ซึ่งตำรับยากัญชาที่ใช้บ่อย ได้แก่ ตำรับยาศุขไสยาศน์ มีสรรพคุณช่วยให้นอนหลับ ลดความวิตกกังวล ตำรับยาแก้ไข้ผอมเหลือง สรรพคุณแก้นอนไม่หลับ แก้ไข้ผอมเหลือง แก้อ่อนเพลีย ไม่มีกำลัง ตำรับยาแก้ลมแก้เส้น สรรพคุณแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการมือเท้าชา อ่อนแรง น้ำมันสนั่นไตรภพ แก้อาการเจ็บปวดท้อง ท้องมาน ดันขึ้นยอดอก ตำรับยาอัมฤตย์โอสถ แก้ผอมแห้ง มือเท้าอ่อนแรง และน้ำมันกัญชาตำรับหมอเดชา ช่วยให้เจริญอาหาร นอนหลับสบาย ลดอาการวิตกกังวล ความเครียดจากกลุ่มโรค เป็นต้น ที่ผ่านมาพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับตำรับยาทางการแพทย์แผนไทยที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมนั้น ส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

นอกจากนี้ในการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งในโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสานยังมีการดูแลควบคู่ไปกับหัตถการและยาสมุนไพรอื่นๆ และใช้หลักธรรมานามัย ในการดูแลผู้ป่วยเป็นหลัก ซึ่งประกอบด้วย กายานามัย หรือ Healthy body การมีสุขภาพกายทีดี โดยการทําท่าบริหารหรือการออกกําลังกาย จิตตานามัย หรือ Healthy mind การมีสุขภาพจิต และสุขภาพใจทีดี ชีวิตานามัย หรือ Healthy behavior คือ การมีพฤติกรรมในการดํารงชีวิตประจําวันทีดี