ปลดล็อก ‘กัญชา’ เสรี โอกาสทางการแพทย์-พาณิชย์

15 ม.ค. 2565 | 10:56 น.
1.4 k

เปิดเส้นทาง “กัญชา” เสรี ดันขึ้นทะเบียนถูกกฎหมาย เล็งเพิ่มยาในบัญชียาหลัก ควบคู่กับส่งเสริมใช้กัญชาในตำรับยาไทย เดินหน้าปลดล็อกแบบไร้รอยต่อ ไฟเขียวโรงงานผลิตยาปลูกได้ ตัวเลขผู้ขออนุญาตทะลุ 2,700 ฉบับ

กัญชา” กลายเป็นพืชสมุนไพรที่ทั่วโลกให้การยอมรับมากขึ้นต่อเนื่อง จนปัจจุบันตลาดกัญชาที่ถูกต้องตามกฎหมายมีมูลค่าสูงถึง 5 แสนล้านบาท มีการเติบโต 17% แบ่งเป็นอุตสาหกรรมกัญชาเพื่อการแพทย์สุขภาพสร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วน 70% ของมูลค่าทั้งหมด

 

ที่ผ่านมารัฐบาลจึงเล็งเห็นว่า “กัญชา” เป็นพืชสมุนไพรที่เป็นทางออกของประเทศไทยและจะเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกร อุตสาหกรรม ธุรกิจและประชาชน นำมาซึ่งการปลดล็อก กัญชา ออกจากยาเสพติดโดยในช่วงแรกอนุญาตให้ใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น

กัญชา

“นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 2562 จนถึงปัจจุบันประไทยดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ มาโดยตลอด หากมองตามนโยบายในช่วงปีแรกๆจะเน้นการใช้ในทางการแพทย์ แต่ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องของเศรษฐกิจ ไม่มีเรื่องของสปา/เวลเนส หรือการนำมาใช้ประโยชน์ในเรื่องของผลิตภัณฑ์อื่นๆไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพหรือผลิตภัณฑ์ทั่วไปก็ตาม” ดร.ภก. อนันต์ชัย อัศวเมฆิน คณะที่ปรึกษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุข เล่าต่อว่า

 

ปัจจุบันจะเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางด้านนโยบายและในทางปฏิบัติหลายด้านและสามารถสร้างรายได้จากการใช้พืชตระกูล ก. ไม่ว่าจะเป็นกัญชา กัญชง หรือกระท่อมได้ ความก้าวหน้าแรกของอุตสาหกรรมกัญชา คือการตอบรับของประชาชนในการใช้กัญชารักษาโรค จนสามารถผลักดันให้ยากัญชาเข้ามาอยู่ในบัญชียาหลักได้ นอกจากนี้ยังผลักดันให้มีการปลดล็อกกัญชาเพิ่มเติม

 

“สุดท้ายแล้วกัญชาอาจจะไม่ได้จบอยู่ที่การแพทย์อย่างเดียว และมีการปรับในเชิงกฎหมายให้ประมวลประมวลกฎหมายยาเสพติดมองเห็นว่ายาที่มาจากสมุนไพรต้องมีคนปลูก คนสกัด คนวิจัยสุดท้ายมีคนผลิตยาขึ้นทะเบียนและมีคุณหมอที่เอายานี้ไปใช้ด้วย ที่ผ่านมาเราเคลียร์ตั้งแต่ต้นทางคือความพร้อมประชาชน ความพร้อมของฝ่ายราชการและการวิจัย และเคลียร์เรื่องของการทำธุรกิจ

กัญชา

ตอนนี้เห็นภาพชัดว่าได้ลดการใช้ยากัญชาใต้ดินลง จากการที่มียากัญชาบนดินที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งการแพทย์ด้วยกัญชาวันนี้มี 2 ระดับ คือระดับพื้นที่เล็ก small-scale สำหรับทำตำรับยาแผนไทย ตำรับยาในตำรา รวมถึงการวิจัยและการใช้แบบแพทย์ปรุงยาเฉพาะราย ผลิตผลิตภัณฑ์สุขภาพรวมถึงผลิตภัณฑ์ยา ในระดับที่ 2 คือในระดับมาตรฐาน ผู้เล่นยังเป็นภาครัฐอยู่ ซึ่งต้องมีมาตรฐานรวมถึงการตรวจสอบการปลูก การผลิตสกัดไปจนถึงการส่งออก หรือการขึ้นทะเบียนเพื่อการส่งออกอย่างเดียวแล้วไม่ขึ้นทะเบียนในประเทศไทยก็ตาม”

 

ดร.ภก. อนันต์ชัย กล่าวว่า ย้อนกลับมาในเรื่องกัญชากับเศรษฐกิจ หากต้องการให้เดินหน้าอย่างไร้รอยต่อ จำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านทั้งพื้นที่เล็กและพื้นที่ใหญ่ โดยนำภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการและมีตัวบทกฎหมายกำกับดูแลอย่างเข้มข้น ล่าสุดกฎกระทรวงที่เกี่ยวปลูกกัญชาออกมาระบุว่า 1 กลุ่มที่มีคุณสมบัติในการขออนุญาตปลูกก็คือโรงงานผลิตยาทั้งแผนปัจุบันและสมุนไพร ซึ่งนี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนนแง่ของการพัฒนายากัญชาที่เทียบเคียงมาตรฐานในต่างประเทศที่เป็นสเกลใหญ่

 

“นโยบายกัญชามีความชัดเจนแล้ว อีก 3-4 ปีข้างหน้าเราอยากเห็นการเดินนโยบายที่ชัดเจนลงไปสู่พื้นที่ แปลว่าทั้งผู้ประกอบการเอง ผู้ถือกฎหมายรวมถึงประชาชนสามารถสร้างรายได้จากกัญชาทั้งสเกลเล็กและสเกลใหญ่รวมถึงการปลดล็อกการสูบเหมือนในบางประเทศที่อนุญาตให้การสูบจากช่อดอกเพื่อใช้ทางการแพทย์ เพราะเราไม่อยากเป็นผู้ตาม เราอยากเป็นผู้นำเพราะฉนั้นเราต้องวิจัยให้สุดว่าแต่ละตำรับมีฤทธิ์ทางการรักษาจริง เป็นสมบัติของชาติที่พิสูจน์ได้จริงกัญชาเสรีทางการแพทย์จะเกิดขึ้นได้จริง”

กัญชา

ด้าน ภญ.ขนิษฐา ตันติศิรินทร์ ผู้อำนวยการกองควบคุมวัตถุเสพติด อย. กล่าวว่า ปัจจุบันมีการกระจายยากัญชาไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยมีผู้ป่วยได้รับยากัญชากว่า 800 คน จำนวนยาที่มีการจ่ายไปกว่า 1.2 ล้านขวดหรือซองโดยเป็นตำรับยาทั้งแผนไทย แผนปัจจุบันมากกว่า 50 ตำรับ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือกับกรมการแพทย์แผนไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันผลักดันให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยากัญชาได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ปัจจุบันนี้มียากัญชาเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว 7 รายการและยังคงมีผลักดันให้มียากัญชาเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง

 

นอกจากนี้อย.ยังมีการออกกฎหมายลูก ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพรหรือเครื่องสำอาง โดยนำส่วนต่างๆของกัญชาไปทำประโยชน์ให้คุ้มค่าขึ้น เช่นนำใบไปปรุงอาหาร นำรากไปทำเครื่องสำอาง เป็นต้น

 

“สำหรับภาพของกัญชากับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาได้มีการนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์เพื่อสร้างเศรษฐกิจและผลิตภัณฑ์สุขภาพจากกัญชา ปัจุบันมีเครื่องมีสำอางที่ได้รับการจดแจ้งแล้ว 381 รายการด้านสมุนไพร ใช้กัญชายาตอนซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นตำรับยาแผนไทยแล้วกว่า 17 ตำรับ และชาชงสมุนไพรอีก 1 รายการ ในส่วนของอาหารที่ได้รับอนุญาตแล้ว 2 รายการ นอกจากนี้ยังมีการใช้ในร้านอาหารในลักษณะการปรุงสดซึ่งไม่ต้องขอขึ้นทะเบียนอย.อีกด้วย”

กัญชา

อย่างไรก็ตามนอกเหนือจาก ยากัญชา ที่เห็นเป็นรูปธรรมแล้ว กัญชาทางการแพทย์ยังได้ถูกบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของภาคการท่องเที่ยว ผ่านเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ “กัญชาริมฝั่งโขง” ใน 7 จังหวัดอีสานเหนือ ได้แก่ เลย บึงกาฬ หนองบัวลำภู หนองคาย อุดรราชธานี สกลนคร นครพนม

 

โดยเป็นการเชื่อมโยงระหว่าง ภาคการเกษตร สาธารณสุข การท่องเที่ยว มีการปลูกกัญชาที่ถูกกฎหมาย ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ยา และ ยังมีเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นการยืนยันว่า กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจ ที่สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้คนไทยได้จริง

 

สำหรับเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพกัญชาริมฝั่งโขง มีกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยวจัดเส้นทางเชื่อมโยงสถานที่ท่องเที่ยว อาทิ การให้ความรู้การปลูก แปรรูป และเก็บเกี่ยว โดยการพาเข้าชมฟาร์มกัญชาที่ถูกต้อง ตามกฎหมาย สัมผัสกิจกรรมจากผู้เชี่ยวชาญด้านกัญชา คลินิกกัญชา นวดสปา เป็นต้น

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,748 วันที่ 13 - 15 มกราคม พ.ศ. 2565