กัญชาเสรีปลูกที่บ้านได้หรือไม่ที่นี่มีคำตอบ

14 ม.ค. 2565 | 17:49 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ม.ค. 2565 | 00:50 น.
6.3 k

กัญชาเสรีปลูกที่บ้านผิดกฎหมายหรือไม่หาคำตอบได้ที่นี่ หลังกระทรวงสาธารณสุขปลดล็อกบางส่วนออกจากยาเสพติดประเภทที่ 5

"กัญชาเสรี" เป็นนโยบายของพรรคภูมิใจไทย ที่ "เสี่ยหนู" อนุทิน  ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคที่ปัจจบุันดำรงตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี  และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลั่นวาจาเอาไว้เมื่อครั้งหาเสียง จนได้เข้ามาเป็นพรรคร่วมรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 

 

 

แต่จนแล้วจนรอดที่ประกาศว่ากัญชาเสรี ก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่ได้เป็นจริง ซึ่งสวนทางกับที่นายอนุทินลั่นวาจาไว้ อีกทั้งล่าสุดได้เกิดกรณีที่ประชาชนถูกจับอยู่ จากการปลูกกัญชา 2 ต้น และตำรวจจะดำเนินคดี 

 

 

ขณะที่ทางฝั่งของนายศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ได้ออกมาระบุว่า การที่มีประมวลกฎหมายยาเสพติด 2564 โดยมีผลบังคับใช้ วันที่ 9 ธ.ค. 2564 ได้มีการประกาศใช้บังคับ ส่งผลให้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ในมาตรา 7 ที่กำหนดให้ “กัญชา” เป็นยาเสพติด ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว

ส่วนทางฝั่งของนายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (รองเลขาธิการ ป.ป.ส.) ในฐานะโฆษก สำนักงาน ป.ป.ส.  ระบุว่า แม้ว่าประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่ จะไม่มีชื่อกัญชาอยู่ในยาเสพติดประเภท 5

 

 

แต่ประมวลกฎหมายยาเสพติดฯ ใหม่นั้น ได้ประกาศไว้ถึงการระบุชื่อยาเสพติดให้โทษว่า ยาเสพติดให้โทษชื่อใดอยู่ในประเภทใด ให้เป็นไปตามกระทรวงสาธารณสุข โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ป.ป.ส. ประกาศกำหนด 

 

 

ซึ่งจากเรื่องดังกล่าว กัญชา ยังคงอยู่ในบัญชียาเสพติดประเภท 5 ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2563 ที่มีผลบังคับใช้อยู่ ยกเว้นวัตถุหรือสาร เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศ เช่น เปลือก เส้นใย ใบที่ไม่มีช่อดอกติดมา สารสกัด CBD ที่มีสาร THC ไม่เกิน 0.2% โดยน้ำหนัก

 

 

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" จึงรวบรวมข้อมูล เพื่อตอบคำถามที่ว่า ปลูกกัญชาที่บ้านผิดกฎหมายหรือไม่

 

 

จากการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2563 ที่ปลดล็อกให้ทุกส่วนของกัญชาและกัญชงไม่เป็นยาเสพติด ยกเว้น 

 

 

  • ช่อดอก 
  • ใบที่ติดกับช่อดอก 
  • เมล็ดกัญชา 

 

 

 

ส่งผลให้ประชาชนสามารถปลูกกัญชาและกัญชงได้แล้ว โดยมีเงื่อนไขประกอบด้วย

  • การตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อป้องกันการนำเอาไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง 
  • ต้องรวมตัวกัน 7 คนขึ้นไปเป็นวิสาหกิจชุมชน 
  • ทำสัญญาร่วมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือหน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานสาธารณสุข

 

 

 

โดยมีตัวอย่างที่ดำเนินการแล้วที่ “โนนมาลัยโมเดล” อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ ที่วิสาหกิจชุมชนปลูกกัญชาครัวเรือนละ 6 ต้น นำผลผลิตส่งโรงพยาบาลทำยา และชิ้นส่วนต่าง ๆ นำมาทำอาหาร เครื่องสำอาง และแปรรูปเป็นสินค้าเพื่อสร้างรายได้ 

 

 

วิสาหกิจชุมชนเพชรลานนา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ที่ตัดช่อดอกให้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกทำน้ำมันกัญชารักษาผู้ป่วย และแปรรูปส่วนอื่นๆ เช่น ใบ กิ่ง ก้าน ลำต้น ราก มาเป็นผลิตภัณฑ์ นำมาปรุงอาหาร 

 

 

 

อย่างไรก็ดี ล่าสุดว่าที่พันตรี ดร.สมบัติ วงศ์กำแหง กรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย เนติบัณฑิตยสภา ได้แสดงความคิดเห็นเรื่องการปลูกกัญชาผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยระบุชัดเจนว่า

 

 

"กัญชา ยังเป็นยาเสพติด และยังต้องขออนุญาตปลูก"

 

 

ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ที่มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2564 และ พรบ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 มาตรา 4 ให้ยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดเดิม 24 ฉบับ ที่ใช้บังคับอยู่ทั้งหมด แล้วนำมาประมวลรวมไว้ในที่เดียวกันคือ

 

 

 

ประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่นี้ กฎหมายเขียนว่ายกเลิกกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2522 แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ความผิดต่างๆ จะถูกยกเลิกไปครับ เพราะต้องตีความว่าการกระทำนั้น ๆ ยังคงถูกเขียนไว้ในกฎหมายใหม่หรือไม่

 

 

หลักก็คือเราจะทำผิดกฎหมายได้ก็ต่อเมื่อ มีกฎหมายในขณะกระทำเขียนไว้หรือไม่ว่าเป็นความผิด และมีบทกำหนดโทษไว้ด้วย กฎหมายใหม่จะใช้ย้อนหลังได้ในส่วนที่เป็นคุณครับ ส่วนที่เป็นคุณก็คือถ้ากฎหมายใหม่บอกว่าการมีกัญชาไว้ในครอบครอง ไม่เป็นความผิด จึงจะสรุปได้ว่า ไม่เป็นความผิด

 

 

เรื่องกัญชา กฎหมายในปัจจุบันเขียนไว้ชัดเจนเกี่ยวกับ “กัญชา” ว่าการนำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ต้องขออนุญาตตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ในกฎกระทรวง 

 

 

และห้ามผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เว้นแต่เป็นกรณีที่ได้รับอนุญาต หากกระทำโดยไม่ได้รับอนุญาต จะมีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินห้าแสนบาท ยิ่งถ้าทำเป็นการค้ายิ่งโทษหนักขึ้นถึงขั้นจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านห้าแสนบาท

 

 

"ตนเห็นว่าความเข้าใจผิดในข้อกฎหมายนี้ เกิดขึ้นเพราะการยกตัวอย่างชื่อยาเสพติดประเภท 5 ที่กฎหมายเก่าบอกว่ายาเสพติดประเภท 5 เช่น กัญชา และพืชกระท่อม แต่กฎหมายใหม่กลับเขียนว่า ยาเสพติดประเภท 5 เช่น พืชฝิ่น"

 

 

เมื่อกฎหมายใหม่ตัดคำว่ากัญชาออกไปแล้ว จึงไม่ถือว่ากัญชาเป็นยาเสพติดประเภท 5 อีกต่อไป การอ่านกฎหมายแบบนี้ อ่านไม่ตลอด เพราะเมื่ออ่านกฎหมายให้จบ

 

 

จะเห็นชัดเจนว่าการที่ยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวกับยาเสพติดเดิมไปนั้น ยังบัญญัติให้กฎหมายลำดับรองของ กฎหมายเหล่านั้นยังมีผลใช้บังคับอยู่ จนกว่าจะมีการออกกฎหมายลำดับรองฉบับใหม่ออกมา 

 

 

และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ยังระบุว่า 

 

 

 

กัญชาเป็นยาเสพติดประเภท 5 อยู่ 

 

 

  • ปลดล็อกบางส่วนของกัญชาเฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศ 
  • ส่วนที่ไม่จัดเป็นยาเสพติดประเภท 5 นั้นก็คือ เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และรากเท่านั้น เพราะสามารถใช้ประโยชน์ทางด้านการแพทย์ได้ 
  • ช่อดอกกัญชา และเมล็ดกัญชา ยังไม่ปลดล็อกจากยาเสพติด 

 

 

 

ขณะนี้ยังไม่มีประกาศใหม่ออกมา ดังนั้น ช่อดอกกัญชา และเมล็ดกัญชา จึงยังคงเป็นยาเสพติดประเภท 5 อยู่