เปิดแนวรบ MBK ทุ่ม 500 ล้านเปลี่ยนโจทย์“ห้างที่คนไทยต้องเดิน”

24 ธ.ค. 2564 | 11:54 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ธ.ค. 2564 | 18:59 น.

โควิดกระทบแรง นักท่องเที่ยวต่างเที่ยวไร้สัญญาณฟื้นตัว MBK ดิ้นหนีตาย เทงบ 500 ล้านบาทรีโนเวททั้งศูนย์ สร้างภาพลักษณ์ใหม่ "ห้างสำหรับคนไทย" ชูไฮไลท์ เที่ยวได้ 24 ชม. กวาดร้านอาหารดังเข้าศูนย์ดูดลูกค้าพร้อมโมเดลค่าเช่าเเบบ GP เพิ่มรายได้ ดีเดย์27 ธันวาคม 2564 นี้

นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง สำหรับ  MBK กับการรีโนเวตครั้งใหญ่ในรอบ 36 ปี สลัดลุคจาก “ห้างที่คนต่างชาติเดิน” มาเป็น “ห้างที่คนไทยต้องเดิน” หลังจากนักท่องเที่ยวซี่งเป็นลูกค้าหลักของ MBK หายไปทั้งหมดจากการระบาดของโควิด -19 

เปิดแนวรบ MBK ทุ่ม 500 ล้านเปลี่ยนโจทย์“ห้างที่คนไทยต้องเดิน”

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ผู้บริหารมองว่า เป็นโอกาสดีในการทบทวนบิสิเนสโมเดลครั้งใหญ่ โดยหลังจากนี้ MBK จะโฟกัสลูกค้าชาวไทยโดยลดโซนชอปปิ้งลงแต่เพิ่มพื้นที่ร้านอาหารจากเดิม 16% ให้เป็น 25%  รวมไปถึงเพิ่มโซนซิกเนเจอร์อีเวนต์ (Signature Event) สำหรับจัดงาน Idol Exchange และการประกวด Cover Dance รวมไปถึงพื้นที่แฮงค์เอาท์ยามค่ำ เข้ามาเป็นแม่เหล็กตัวใหม่ เพื่อดึงดูกลูกค้ากลุ่มวัยรุ่นและคนทำงานยุคใหม่

 

นายสมพล ตรีภพนารถ กรรมการผู้จัดการธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทได้ใช้งบกว่า 500 ล้านบาทเพื่อรีโนเวทศูนย์การค้าทั้งศูนย์ให้เป็น MBK MB COOL เริ่มจากชั้นG ซึ่งเป็นโซนร้านอาหารเเละเครื่องดื่ม คาเฟ่ ซูเปอร์มาร์เก็ต ฟาสต์ฟู้ดเเบรนด์ต่างๆ รองรับกลุ่มลูกค้าที่ตื่นเช้า เปิดทางเข้าใหม่เพื่อความสะดวก ตั้งเเต่ 07.00 น. เป็นต้นไป โดยมี ICC เป็นตัวชูโรงรวมทั้งเพิ่มแบรนด์ใหม่ๆเข้ามาจากการร่วมมือกับบริษัทญี่ปุ่น 


เปิดแนวรบ MBK ทุ่ม 500 ล้านเปลี่ยนโจทย์“ห้างที่คนไทยต้องเดิน”
ในส่วนชั้น2 ยังคงเน้นร้านอาหารเเละเครื่องดื่มในรูปแบบ Bar & Restaurant เป็นหลัก และปรับพื้นที่Sky Walk ให้เป็นแหล่งแฮงค์เอาท์อาทิ ร้าน Cat on the roof , Secret Chamber , Shinkanzen Sushi , Tim Hortons , Oppa Daek, ลิ้มเหล่าโหงว , Hunter Village เเละร้านสุกี้ตี๋น้อย ที่จะเปิดให้บริการถึงตี 5 และ DON DON DONKIแฟลกชิปสโตร์สาขาใหญ่สุดในไทย ขนาด 3,000 ตร.ม. ที่เปิด 24 ชั่วโมง

ชั้น3 เป็นอาณาจักรร้านเพชร-ทอง และมีพื้นที่สำหรับชอปสินค้าที่เกิดและเติบโตในช่องท่งออนไลน์มาไว้ด้วยกันเป็นการเชื่อมออนไลน์สู่ออฟไลน์  รวมทั้งสินค้าที่เน้นเจาะตลาดชาวต่างชาติ

 

ส่วนชั้น 4 ไฮไลท์คือโซนโทรศัพท์เป็นหลักรวมไปถึงเครื่องมือITและแกดเจ็ตรวมไปถึง Advice, Mi, JD Central, CSC ฯลฯ

เปิดแนวรบ MBK ทุ่ม 500 ล้านเปลี่ยนโจทย์“ห้างที่คนไทยต้องเดิน”

ชั้น 5 จากพื้นที่เอาท์เล็ตเดิมเป็นสถาบันกวดวิชาติวเตอร์ 25 เเห่ง รวมทั้งพื้นที่สำหรับการทำพาสปอร์ตรองรับมากถึง50ช่องบริการเปิดตั้งแต่06.00-22.00 น.  และศูนย์กล้อง  

 

ชั้น 6 เป็นพื้นที่ลานกิจกรรม,  Food court และสินค้าจากโรงงานราคาถูกที่ตอบโจทย์พนักงานออฟฟิศ และชั้น 7 ยังคงรักษาความเป็นโซนบันเทิง แต่มีการปรับปรุงโรงหนัง SF ทั้งหมดและเติมลิฟท์แก้วที่เปิดใช้งานได้ 24 ชั่วโมง รวมทั้ง คาราโอเกะ โบว์ลิ่ง เธียเตอร์ เเละร้าน Animate



 

“MBK New Episode จะเดินหน้าสู่การเติมเต็มคนไทยมากขึ้นแต่คงความเป็นศูนย์การค้าที่ชาวต่างชาติต้องมา เราตั้งเป้าให้ลูกค้าเข้ามาใช้ชีวิตกับเราได้ทั้งวัน โดยดึงดูดลูกค้าด้วยโซนร้านอาหารที่ต้องมาที่นี่เท่านั้น และเปลี่ยนจากการเก็บค่าเช่าพื้นที่เป็นการเก็บค่า GP 5-15% แต่ไม่เกิน 35% และเสียค่าส่วนกลาง 400 บาทแทน ส่วนร้านที่นอกเหนือจากร้านอาหารยังยึดค่าเช่าเท่าเดิม

 

ในช่วงกลางวันจะดึงดูดคนเดินด้วย มินิพลาซ่า เติมวัยรุ่น มีโซนแฟชั่นเพิ่มขึ้นมา รวมทั้งร้านขายสินค้าราคาถูกเพื่อดึงดูดลูกค้าที่เป็นพนักงานออฟฟิศได้เดินซื้อของหลังทานข้าวเสร็จ

 

ส่วนหลังเลิกงานเราทำพื้นที่แฮงเอ้าที่ถูกกฎหมายบริเวณสกายวอล์ค และมีร้านค้าบางส่วนที่เปิดบริการ 24 ชม.ให้บริการด้วย 

 

ภาพรวมไตรมาส4ดีกว่าไตรมาส3 ที่มีการปิดล็อกต่างๆ ตอนนี้เปิดบริการได้ 70% และคาดว่าปีหน้าในช่วงไตรมาส2 จะเปิดได้ 90% ของพื้นที่ ซึ่งเราพยายามเร่งให้เกิดขึ้นเพราะโควิดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเยอะเช่นห้ามก่อสร้าง ห้ามเคลื่อนย้าย ทำให้ทุกอย่างถูกเลื่อนออกไป ตอนนี้กำลังซื้อดีขึ้นแต่ไม่เท่าก่อนโควิด คิดว่าปี 2565จะเราจะสามารถดึงทราฟิกกลับมาได้ประมาณ 9หมื่นคนจากทราฟฟิกปกติ1.2 แสนคนซึ่ง

สัดส่วนทราฟฟิกในศูนย์การค้าMBK  ตอนนี้เป็นชาวไทย60 %ต่างชาติ 40% เนื่องจากบริษัทเพิ่มสัดส่วนของคนไทยมากขึ้น”