กลุ่มเซ็นทรัล จับมือซิกน่า ซื้อห้างหรู Selfridges สยายปีกรุกยุโรป

24 ธ.ค. 2564 | 07:51 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ธ.ค. 2564 | 18:16 น.
953

“กลุ่มเซ็นทรัล” จับมือซิกน่า ทุ่มซื้อกิจการห้างหรูเมืองผู้ดี “Selfridges” เสริมพอร์ตค้าปลีก หลังซุ่มเจรจาปิดดีลตั้งแต่ปลายเดือนพ.ย. 64 พร้อมปักหมุดห้างหรู สยายปีกรุกยุโรปเต็มตัว

หลังสำนักข่าวดังในประเทศอังกฤษ รายงานเมื่อต้นเดือนธันวาคมว่าในปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมากลุ่มธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ของประเทศไทย “เซ็นทรัล กรุ๊ป” ได้บรรลุข้อตกลงในการเข้าซื้อกิจการของห้างสรรพสินค้า Selfridges ในประเทศอังกฤษ โดยตระกูลเวสตันในแคนาดาซึ่งเป็นเจ้าของห้าง Selfridges ยอมรับเงื่อนไขและเข้าสู่กระบวนการซื้อขายซึ่งจะเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนธันวาคม ล่าสุดกลุ่มเซ็นทรัล ภายใต้การนำของ “ทศ จิราธิวัฒน์” ประธานกรรมการบริหาร เตรียมประกาศข่าวนี้ในประเทศไทยโดยการซื้อขายกิจการครั้งนี้คาดว่า จะมีมูลค่ากว่า 4 พันล้านปอนด์ หรือประมาณ 1.8 แสนล้านบาท

ทศ จิราธิวัฒน์

ล่าสุดกลุ่มเซ็นทรัล ผู้นำด้านธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจโรงแรม ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศประกาศความร่วมมือกับ ซิกน่า หนึ่งในผู้นำด้านธุรกิจห้างสรรพสินค้าและอสังหาริมทรัพย์ของยุโรป ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายเพื่อเข้าซื้อกิจการของกลุ่มเซลฟริดเจส จากตระกูลเวสตัน ซึ่งประกอบไปด้วยห้างสรรพสินค้ารวมทั้งหมด 18 แห่ง อาทิ ห้างสรรพสินค้า เซลฟริดเจส (Selfridges) บนถนนออกซ์ฟอร์ด ในกรุงลอนดอน, แมนเชสเตอร์ และเบอร์มิ่งแฮม ประเทศอังกฤษ, ห้างสรรพสินค้าดี แบนคอร์ฟ (de Bijenkorf)  ประเทศ เนเธอร์แลนด์, ห้างสรรพสินค้า บราวน์ โทมัส (Brown Thomas) และ อาร์นอตส์ (Arnotts) ประเทศไอร์แลนด์ โดยการร่วมทุนครั้งนี้เป็นการลงทุนทั้งในธุรกิจห้างสรรพสินค้า อสังหาริมทรัพย์ และกิจการด้านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซทั้งหมดอีกด้วย  

 

นายทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า กลุ่มเซ็นทรัลรู้สึกตื่นเต้น ยินดี และเป็นเกียรติ ที่ได้มีโอกาสลงทุนในกลุ่มเซลฟริดเจสในครั้งนี้ ซึ่งรวมไปถึงที่ดินและอาคารห้างเซลฟริดเจสบนถนนออกซ์ฟอร์ด ซึ่งตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางบนถนนช้อปปิ้ง ณ กรุงลอนดอน มากว่า 100 ปี ด้วยความที่กลุ่มเซ็นทรัลและซิกน่าเป็นธุรกิจครอบครัว เราจึงมุ่งเน้นการลงทุนเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีเยี่ยมและแตกต่าง 

เซลฟริดเจส Selfridges

ทั้งภายในห้างและช่องทางดิจิทัลต่างๆ สำหรับลูกค้าทั้งที่อยู่ในประเทศและนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปของกลุ่มเซลฟริดเจส ในอีก 100 ปีข้างหน้า พวกเราพร้อมที่จะทำงานกับผู้บริหารและเพื่อนพนักงานของกลุ่มเซลฟริดเจส เพื่อมุ่งมั่นสู่การเป็นบริษัทรีเทลชั้นนำเป็นเลิศระดับโลก

แหล่งข่าวในวงการค้าปลีก เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การเข้าซื้อกิจการห้าง Selfridges ครั้งนี้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของกลุ่มเซ็นทรัล ที่ประกาศขยายธุรกิจไปยังตลาดใหม่ๆ ที่มีโอกาสและศักยภาพ โดยศึกษาโอกาสในการเข้าซื้อกิจการ (M&A) ในธุรกิจที่ศักยภาพในการเติบโตสูง เพื่อขยายช่องทางในการสร้างรายได้ใหม่ และเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ ซึ่งนอกจากการ M&A แล้ว ยังเปิดกว้างการลงทุนทั้งในแบบการร่วมทุน และการร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมาการเข้าซื้อกิจการต่างๆ ล้วนประสบความสำเร็จ สร้างฐานลูกค้าใหม่และสร้างโอกาสให้กับแบรนด์ธุรกิจอื่นๆ ด้วย

 

 

ก่อนหน้านี้นายทศ จิราธิวัฒน์ ได้ประกาศถึงแผนลงทุนว่า จะมุ่งเป้าขยายการลงทุนในต่างประเทศ ตามเทรนด์การท่องเที่ยวโลก (Global Tourism Trend) ด้วยการพัฒนาโครงการแฟล็กชิพที่มีศักยภาพสูงในเมืองท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ครบทุกความต้องการของลูกค้าและนักท่องเที่ยวทั่วโลก ทั้งนี้หากย้อนไปดูตัวเลขรายได้หลังการเข้าซื้อกิจการห้างหรูในยุโรป จะพบว่า กลุ่มเซ็นทรัลมีรายได้จากธุรกิจในยุโรป ได้แก่ ห้างรีนาเซนเต, อิลลุม, คาเดเว, โอเบอร์โพลลิงเกอร์และอัลสแตร์เฮ้าส์ ในปี 2556 จำนวน 2.16 หมื่นล้านบาท ปี 2557 จำนวน 2.35 หมื่นล้านบาท ปี 2558 จำนวน 3.08 หมื่นล้านบาท ปี 2559 จำนวน 4.88 หมื่นล้านบาท และปี 2560 จำนวน 5.11 หมื่นล้านบาท

เซ็นทรัล

ทั้งนี้กลุ่มเซ็นทรัล เริ่มเข้าซื้อกิจการในยุโรป ตั้งแต่ปี 2554 โดยซื้อห้างสรรพสินค้า ลา รีนาเซนเต (La Rinascente) ประเทศอิตาลี ด้วยเงินลงทุน 260 ล้านยูโร หรือราว 1.1 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันมีสาขารวม9 สาขาใน 8 เมือง จากเดิมที่มีอยู่ 11 สาขา ซึ่งที่ผ่านมาประสบความสำเร็จมียอดขายเติบโตต่อเนื่อง 

 

เซ็นทรัล

หลังเข้าไปบริหารงานพร้อมกับปรับกลยุทธ์ในการนำเสนอสินค้าแบรนด์หรูหรา และตลาดสินค้าแบรนด์หรูที่ราคาไม่สูงมากนัก (Affordable Luxury) ทำให้สามารถขยายฐานลูกค้านักท่องเที่ยวได้มากขึ้น ก่อนที่จะประสบกับวิกฤติโควิด-19 ที่ระบาดหนักไปทั่วโลก ทำให้ยอดขายห้างสรรพสินค้า La Rinascente ในปี 2563 ลดลง 45.9% จากปี 2562 ที่มีรายได้ 1.45 หมื่นล้านบาทเหลือเพียง 8.46 พันล้านบาทในปี 2563

 

 

ต่อมาในปี 2556 กลุ่มเซ็นทรัลเข้าซื้อกิจการห้างเก่าแก่ “อิลลุม” (Illum) ในประเทศเดนมาร์ก (ไม่มีการเปิดเผยตัวเลขมูลค่าการซื้อขาย) รวมทั้งในปี 2558 ที่กลุ่มเซ็นทรัลจับมือกับ “ซิกนา” (SIGNA) ยักษ์อสังหาริมทรัพย์ในยุโรป เข้าซื้อกิจการห้างหรูในเยอรมนี 3 ห้างได้แก่ ห้างคาเดเว (KaDeWe) ห้างอัลสแตร์เฮาส์ (Alsterhaus) และห้างโอเบอร์โพลลิงเกอร์ (Oberpollinger) โดยกลุ่มเซ็นทรัลเข้าถือหุ้นกลุ่มคาเดเว ซึ่งเป็นเจ้าของห้างทั้ง 3 แห่ง ในสัดส่วน 50.1% ส่วนอีก 49.9% เป็นของซิกนา

 

 

ในปี 2563 เซ็นทรัลได้ร่วมกับซิกนา เข้าซื้อกิจการห้างสรรพสินค้าหรู “โกลบัส” (Globus) ห้างเก่าแก่อายุกว่า 129 ปี ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มูลค่ากว่า 1 พันล้านฟรังก์สวิสหรือราว 3.1 หมื่นล้านบาท

 

 

สำหรับ Selfridges เป็นห้างสรรพสินค้าหรูกลางกรุงลอนดอนมีอายุกว่า 112 ปี เริ่มก่อตั้งในปี 1908 โดย Harry Gordon Selfridge ชาวอเมริกัน ถือเป็นห้างขนาดใหญ่ ที่เป็นรองแค่เพียงห้างดังอย่าง “Harrods” เท่านั้น (ในสมัยนั้น) ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ห้าง Selfridges ถูกขายต่อให้กับ Galen Weston นักธุรกิจชาวแคนาดาในปี ค.ศ. 2003 ด้วยมูลค่า 24,700 ล้านบาท 

 

Selfridges Group ยังได้ขยายอาณาจักรห้างสรรพสินค้าด้วยการควบรวมเข้ากับกิจการอื่นๆ ในต่างประเทศ เช่น ห้าง De Bijenkorf ในเนเธอร์แลนด์, ห้าง Brown Thomas และ Arnotts ในไอร์แลนด์และ ห้างหรู Holt Renfrew ในแคนาดา ขณะที่ Selfrides Retail Limited ทั้ง 4 สาขาในอังกฤษ ทำรายได้ 3.34 หมื่นล้านบาทในปี 2562