โตไม่สนโควิด-19 ธุรกิจสุรา “ไทยเบฟ” ฟัน“กำไร” สูงสุด 22,138 ล.

10 ธ.ค. 2564 | 15:39 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ธ.ค. 2564 | 23:57 น.
3.0 k

ไทยเบฟ รายงานผลประกอบการปีงบประมาณ 2563-2564 (ต.ค.63-ก.ย.6) ยอดขายลดลง 5.1% ส่วนกำไรเหลือเพียง 27,339 ล้านบาท โดยธุรกิจสุรา ยังเป็นธุรกิจที่ทำรายได้สูงสุด ฟันกำไรกว่า 22,138 ล้านบาทส่วน ธุรกิจอาหารขาดทุนมหาศาล

 

บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) รายงานผลประกอบการปีงบประมาณ 2563-2564 (ต.ค.63-ก.ย.6) ระบุยอดขายและกำไรปรับตัวลดลง  โดยธุรกิจสุรายังคงทำ “กำไร” สูงสุด ในขณะที่ ธุรกิจอาหาร ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการถูก “ล็อกดาวน์” ส่งผลให้ตัวเลข “ติดลบ”  ส่วนธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ กำไรยังเป็นบวกจากการบริการจัดการต้นทุนอย่างรอบคอบ

เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี

สำหรับภาพรวมผลประกอบการทั้งปีของไทยเบฟ มียอดขายรวม 240,543 ล้านบาท หดตัว 5.1% จากปีก่อน มีกำไรสุทธิ 27,339 ล้านบาาท ลดลง 4.9% จากปีก่อน โดยสินค้าแต่ละกลุ่มทำยอดขายเป็นสัดส่วนดังนี้ สุรา 47.8% เบียร์ 41.3% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 6.3% อาหาร 4.7% มีธุรกิจที่กำจัดทิ้ง 0.1% ส่วนกำไรสุทธิ สุรายังมีสัดส่วนมากสุด 87.8% เบียร์ 12.4% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 1.8% อาหารฉุดกำไรหรือติดลบ 2%

 

เมื่อแยกหมวดหมู่สินค้า ธุรกิจสุรายังคงสร้างผลงานโดดเด่นปิดยอดขาย 115,052 ล้านบาท หดตัว 1.9% มีกำไรสุทธิ 22,138 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยเพียง 0.6% เท่านั้น แม้ยอดขายเชิงมูลค่าลดลง แต่ยอดขายเชิงปริมาณกลับลดลง 12 ล้านลิตร หรือคิดเป็น 1.8% ทั้งปีขายอยู่ที่ 656 ล้านลิตร จากปีก่อนขาย 668 ล้านลิตร

 

ส่วนเบียร์ยอดขายรวมมูลค่า 99,157 ล้านบาทท หดตัว 7.2% กำไรสุทธิ 3,119 ล้านบาท หดตัว 11.4% ยอดขายเชิงปริมาณทั้งปีอยู่ที่ 2,095 ล้านลิตร ลดลง 11.1% จากปีก่อนขาย 2,358 ล้านลิตร

 

ในขณะที่ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ยอดขายรวม 15,205 ล้านบาท หดตัว 6.6% โดยทำกำไรจากการดำเนินงานได้ 548 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51% เนื่องจากมีการบริหารจัดการต้นทุนที่ดี ต้นทุนวัตถุดิบลดลง ด้านยอดขายเชิงปริมาณอยู่ที่ 1,458 ล้านลิตร ลดลง 7.6% จากปีก่อนขาย 1,578 ล้านลิตร โดยชาเขียวพร้อมดื่มและเครื่องดื่มสมุนไพรจับใจยอดขาย 252 ล้านลิตร ลดลง 2.7% จาก 259 ล้านลิตร น้ำดื่ม 982 ล้านลิตร ลดลง 5.9% จาก 1,044 ล้านลิตร เครื่องดื่มอัดลม 219 ล้านลิตร ลดลง 19.2% จาก 271 ล้านลิตร ส่วนโซดาและน้ำดื่มแบรนด์ช้างยอดขาย 72 ล้านลิตร ลดลง 7.6% จากปีก่อนขาย 78 ล้านลิตร

ไทยเบฟ

ด้านธุรกิจร้านอาหารได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างหนักจากมาตรการล็อกดาวน์ปิดหน้าร้านเป็นระลอก โดยเฉพาะเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม เป็นช่วงที่ห้ามให้บริการนั่งรับประทานในร้านหรือไดอิน กว่า 2 เดือน ส่งผลให้ยอดขายธุรกิจอาหารไทยเบฟ ทั้งปีอยู่ 11,280 ล้านบาท หดตัว 14.4% มีผลขาดทุน 488 ล้านบาท หรือติดลบสูงถึง 383.2% จากปี 2563 ขาดทุน 101 ล้านบาท 

 

ปัจจุบัน พอร์ตโฟลิโอธุรกิจร้านอาหารไทยเบฟมีแบรนด์ในมือ 23 แบรนด์ เช่น โออิชิ บุฟเฟต์ ชาบูชิ โออิชิ ราเมน เคเอฟซี โซอาเซียน ราชพฤกษ์ หม่านฟู่หยวน แม็กซ์แอนด์เค้ก เบเกอรี่ ฯ รวมจำนวนร้าน 673 สาขา การปรับตัวช่วงโควิดไม่เพียงมีบริการเดลิเวอรี่ บริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ ระบายสต๊อกวัตถุดิบเพื่อสร้างยอดขาย ยังพลิกโมเดลร้านใหม่ๆเพื่อประชิดลูกค้ามากขึ้น เช่น โมเดลฟู้ดทรัคผ่านแบรนด์เคเอฟซี และโออิชิ ฟู้ด ทรัค เป็นต้น

โออิชิ

ส่วนธุรกิจต่างประเทศ สุราสร้างยอดขายเติบโต 5% จากสก๊อตวิสกี้ และสุราจีน ขณะที่ธุรกิจเบีร์ยอดขายลดลง 11% โดยผลกระทบหนักมาจากไซง่อน เบียร์ แอลกอฮอล์ เบฟเวอเรจ คอร์เปอเรชั่น(SABECO) เนื่องจากรัฐบาลเข้มใช้มาตรการต่างๆเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวสรัส โดยเฉพาะการล็อกดาวน์ในโฮจิมินห์ซิตี้ และเขตพื้นตอนใต้ ปัจจัยดังกล่าวจึงกระทบต่อการทำ “กำไร” ของซาเบโก้ให้ปรับตัวลดลง สวนทางกับธุรกิจเบียร์ของไทยเบฟในประเทศไทยที่ยังสร้างกำไรเติบโตได้แม้ยอดขายจะก็ลดลงก็ตาม