สดร.ย้ำห้ามชมปรากฏการณ์ดาวพุธผ่านหน้าดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่า

04 พ.ค. 2559 | 17:40 น.
อัปเดตล่าสุด :09 พ.ค. 2559 | 23:51 น.
pr20160504_1_01

ภาพปรากฏการณ์ดาวพุธ (จุดกลมเล็กสีดำ) ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2549

ภาพจาก : https://herrett.csi.edu/astronomy/20160509_Mercury_transit.asp

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผย 9 พฤษภาคมนี้ เกิดปรากฏการณ์ “ดาวพุธผ่านหน้าดวงอาทิตย์” ประเทศไทยสังเกตได้ในช่วงแรกของปรากฏการณ์ ประมาณ 25 นาที ก่อนดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า และอาจมองเห็นได้ยากเนื่องจากดวงอาทิตย์อยู่ต่ำ ย้ำห้ามมองด้วยตาเปล่าอาจเกิดอันตรายต่อดวงตาได้

ดร.ศรัณย์  โปษยะจินดา  รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2559 จะเกิดปรากฏการณ์ดาวพุธผ่านหน้าดวงอาทิตย์ เป็นปรากฏการณ์ที่ดาวพุธเคลื่อนที่ผ่านแนวเส้นตรงที่เชื่อมระหว่างโลกกับ ดวงอาทิตย์ ทำให้ดวงอาทิตย์ ดาวพุธ และโลก เรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกัน เมื่อสังเกตจากโลกจะเห็นดาวพุธปรากฏเป็นจุดกลมเล็กเคลื่อนที่ผ่านดวงอาทิตย์ (ถ้าเปรียบเทียบขนาดปรากฏของดวงอาทิตย์เท่ากับลูกบาสเกตบอล ขนาดของดาวพุธที่ปรากฏผ่านหน้าจะมีขนาดปรากฏเล็กกว่าเม็ดถั่วเขียว) ปรากฏการณ์ดาวพุธผ่านหน้าดวงอาทิตย์ในครั้งนี้ จะสังเกตเห็นได้ในประเทศแถบยุโรป เอเชีย อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ มหาสมุทรแปซิฟิค มหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย ทวีปอาร์คติก และแอนตาร์คติกา สำหรับประเทศไทยสามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 18:10 น. จนถึง 18:35 น. (ตามเวลาประเทศไทย ณ กรุงเทพมหานคร) รวมทั้งสิ้นประมาณ 25 นาที เนื่องจากดาวพุธมีขนาดปรากฏเล็กมาก ประกอบกับเป็นช่วงดวงอาทิตย์ใกล้ลับขอบฟ้า อยู่บริเวณใกล้ขอบฟ้ามาก และจะตกลับขอบฟ้าในเวลาประมาณ 18:36 น.  จึงสังเกตปรากฏการณ์ดาวพุธผ่านหน้าดวงอาทิตย์ได้ค่อนข้างยากมาก และสังเกตเห็นได้เพียงช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนดวงอาทิตย์ตกเท่านั้น

“ปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์” เกิดได้เฉพาะดาวเคราะห์วงใน ได้แก่ดาวพุธ และดาวศุกร์เท่านั้น ปรากฏการณ์ดาวพุธหรือดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ เป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่มนุษย์ให้ความสนใจมาช้านานแล้วไม่น้อยกว่าปรากฏการณ์จันทรุปราคาหรือสุริยุปราคา เห็นได้จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่มีการกล่าวถึงการสังเกตปรากฏการณ์ดังกล่าวตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา นักดาราศาสตร์ใช้ปรากฏการณ์นี้ศึกษาระยะห่างระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ ปรากฏการณ์ดาวพุธผ่านหน้าดวงอาทิตย์ จะเกิดขึ้นค่อนข้างบ่อย ประมาณ 13 ครั้งในรอบ 100 ปี เนื่องจากดาวพุธอยู่ห่างจากโลกมาก ประมาณ 77 ล้านกิโลเมตร ในขณะที่ดาวศุกร์อยู่ห่างจากโลกเพียง 38 ล้านกิโลเมตร และวงโคจรของดาวศุกร์มีขนาดใหญ่กว่าดาวพุธเกือบ 2 เท่า โอกาสที่ดาวศุกร์จะโคจรมาอยู่ข้างหน้าดวงอาทิตย์พอดีจึงมีน้อยกว่าดาวพุธ ทำให้ปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านดวงอาทิตย์เกิดขึ้นได้เพียงสองครั้งในช่วงเวลากว่า 100 ปี เท่านั้น สำหรับปรากฏการณ์ดาวพุธผ่านหน้าดวงอาทิตย์ จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม หรือพฤศจิกายน เท่านั้น และโดยเฉลี่ยมีอัตราการเกิดในเดือนพฤษภาคมต่อพฤศจิกายน เป็น 1 ต่อ 2 ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นครั้งล่าสุดเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2549 และครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2562

นอกจากนี้ ดร.ศรัณย์ ยังกล่าวย้ำว่า การสังเกตปรากฏการณ์ดาวพุธผ่านหน้าดวงอาทิตย์เป็นการสังเกตดวงอาทิตย์โดยตรง ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยจึงไม่ควรมองดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่า เนื่องจากดวงอาทิตย์มีแสงสว่างจ้ามาก การจ้องมองดวงอาทิตย์โดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน อาจนำอันตรายมาสู่ดวงตาถึงขั้นทำให้ตาบอดได้ การสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์จึงจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังและใช้อุปกรณ์กรองแสงที่มีความปลอดภัยสูง เช่น กล้องโทรทรรศน์ที่ติดแผ่นกรองแสง  แว่นดูดวงอาทิตย์ หรืออาจใช้อุปกรณ์สังเกตการณ์ทางอ้อม เช่น การฉายภาพดวงอาทิตย์บนฉากรับภาพจากกล้องโทรทรรศน์  เป็นต้น  และขอให้ประชาชนระมัดระวังการบันทึกภาพดวงอาทิตย์ด้วยกล้องดิจิทัล เนื่องจากเลนส์ของกล้องต่างๆ เหล่านี้มีคุณสมบัติในการรวมแสง การมองภาพที่ส่องจากเลนส์ไปยังดวงอาทิตย์โดยตรง อาจทำให้ตาบอดอย่างเฉียบพลัน