ทายาทเจ้าสัวเจริญ ถอดรหัส AWC รุกเมกะโปรเจ็กต์แสนล้าน

17 ต.ค. 2564 | 12:41 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ต.ค. 2564 | 20:05 น.
2.3 k

แม้จะมีมรสุมโควิดรุมเร้า แต่ธุรกิจในพอร์ตโฟลิโอของ AWC ภายใต้การคุมบังเหียนของ “วัลลภา ไตรโสรัส” ทายาทเจ้าสัวเจริญ ก็ยังคงเพิ่มมูลค่าสินทรัพย์เป็น 1.34 แสนล้านบาท ทั้งยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนใหม่ต่อเนื่องในช่วง 5 ปีนี้ (2565-2569)อีกร่วม 1 แสนล้านบาท

วัลลภา ไตรโสรัส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทแอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC  เปิดใจว่าในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจในพอร์ตโฟลิโอของ AWC มีมูลค่าสินทรัพย์เพิ่มจาก 1 แสนล้านบาทขึ้นมาเป็น 1.34 แสนล้านบาท และยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนใหม่ต่อเนื่องในช่วง 5 ปีนี้ (2565-2569)อีกร่วม 1 แสนล้านบาท

        วัลลภา ไตรโสรัส                               

 

โดยเป็นการลงทุนในโครงการของ AWC เองประมาณ 30,000 ล้านบาท และการลงทุนในโครงการ Right of First Refusal (ROFR) ซึ่ง AWC จะได้สิทธิในการเลือกที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่ม TCC เข้ามาพัฒนาก่อน ภายใต้งบลงอีกราว 20,000 ล้านบาท ส่วนโครงการอื่นๆที่มีการเสนอขายเข้ามากว่า 200 โครงการ AWC จะมี AI เข้าไปจับซึ่งก็พบว่ายังไม่ตอบโจทย์ทิศทางการพัฒนาของ AWC ก็ยังไม่ได้มีการซื้อเข้าพอร์ตแต่อย่างใด จึงมีเพียงโรงแรมซิกม่า พัทยา เท่านั้นที่ได้ซื้อเข้ามาก่อนหน้านี้

ดันเพิ่มพอร์ตโฟลิโอ 50 แห่งใน 5 ปี

 

ปัจจุบันพอร์ตโฟลิโอของ AWC มีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในมือกว่า 32 แห่ง ประกอบด้วย โรงแรม 18 แห่ง, รีเทล 8 แห่ง, อาคารสำนักงาน 4 แห่ง, ค้าส่ง 2 แห่ง  ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการใหม่อีก 18 โครงการ ซึ่งจะทำให้ในอีก 5 ปีข้างหน้าพอร์ตโพลิโอ ของ AWC จะมีจำนวนอสังหาริมทรัพย์รวม 50 แห่งในหลากหลายทำเลสำคัญของประเทศ

 

“วิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจของ AWC จะเน้น “Building A Better Future” เพื่อสร้างคุณค่าที่ยั่งยืน ตอบโจทย์ลูกค้า สังคม ชุมชนโดยรอบ รวมถึงการถือครองกรรมสิทธ์อสังหาฯ แบบFreehold ของ AWC ซึ่งจะทำให้การลงทุนอสังหาริมทรัพย์อยู่ได้ในระยะยาว โดยเราจะโฟกัสการจัดพอร์ตโฟลิโอเฉพาะทรัพย์สินที่มีคุณภาพ ควบคู่ไปกับการบาลานซ์ กระแสเงินสด"  

 

 

เปิด3โครงการสร้างแลนด์มาร์กใหม่

เราจะสร้างโครงการคุณภาพในไพร์มโลเคชั่น โดยดึงจุดแข็งจากพันธมิตรระดับท็อปของโลกมาร่วมอยู่ในโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศ เพื่อดึงโกลเบิ้ล ดีมานต์เข้าไทย  ดังนั้นที่ผ่านมาเราจึงมีการเซ็นสัญญากับเชนโรงแรมระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นแมริออท, อินเตอร์คอนติเนนตัล,ไฮแอท, มีเลีย, ฮิลตัน รวมถึง โนบุ ฮอสพิทาลิตี้ ที่จะมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์เอ็กซ์พีเรียนด้านเอฟแอนด์บี  ซึ่งการลงทุนใหม่ในช่วง 5 ปีนี้มีทั้งโครงการที่มีความยูนีค ที่จะเข้ามาเสริมกระแสเงินสดและสร้างการเติบโตต่อเนื่องจากผลแทนในการลงทุนที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเรามองการสร้าง ROE (Return on Equity) อยู่ที่ 15% และ IRR (Internal Rate of Return)อยู่ที่ 12%

 

อย่างโครงการเอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์ เดสติเนชั่น ริมแม่น้ำเจ้าพระยา  ในส่วนที่เป็นโรงแรม ,แบรนเด็ด เรสซิเดนส์, รีเทล จะสร้างแล้วเสร็จใน 3 ปี (2567)  อาทิ A Ritz-Carlton Reserve Asiatique โรงแรมหรูของเครือ แมริออท  The Asiatique Bangkok, Autograph Collection โรงแรมจาก Autograph Collection แห่งแรกของไทย  JW Marriott Marquis Asiatique ส่วนจุดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่จะเป็นไอคอนนิค แลนด์มาร์ก ที่ออกแบบโดยAdrian Smith ผู้ออกแบบ Burj Khalifa ที่สูงที่สุดในโลก จะใช้เวลา 9 ปีกว่าจะแล้วเสร็จ ซึ่งจะเป็นตึกที่สูงที่สุดในไทย

 

เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์ เดสติเนชั่น

โครงการเวิ้งนครเขษม มูลค่าการลงทุน1.6 หมื่นล้านบาท จะแล้วเสร็จในปี2570  บนพื้นที่ประวัติศาสตร์เมืองเก่าที่จะกลายมาเป็น Landmark แห่งใหม่ของย่าน China Town กับเจดีย์ความสูง 8 ชั้น ที่มาพร้อมกับ 2 โรงแรม คือโรงแรม InterContinental China Town โรงแรมอินเตอร์แบรนด์ระดับ Luxury แห่งแรกบนย่านไชน่าทาวน์และโรงแรม Boutique Hotel (ยังไม่เปิดเผยชื่อ) ขนาด 63 ห้องพัก ที่จะสร้างขึ้นบนพื้นที่ของอาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิมความสูง 4 ชั้น ร้านค้าปลีกใต้ดินขนาดใหญ่ที่สุดในกรุงเทพ และที่จอดรถขนาดใหญ่ โดยโครงการเวิ้งนาครเกษมได้รับการออกแบบให้เข้ากับภูมิทัศน์เดิม คงไว้ซึ่งเสน่ห์ของย่านเมืองเก่าได้อย่างลงตัว

โครงการเวิ้งนครเขษม

 

ส่วน อวอทีค พัทยา จะทยอยเปิดให้บริการในปี 2567-2569 เป็นโครงการมิกซ์ยูสแห่งใหม่ใจกลางเมืองพัทยา ที่มีโปรเจคขนาดใหญ่ทั้งโรงแรม ที่พักอาศัย ช๊อปปิ้งมอล ศูนย์ประชุม Wellness อแควเรียม และสวนสนุกในร่มอย่าง Legoland ซึ่งได้จับมือกับเครือโรงแรมระดับโลกอย่าง IHG และ Marriott ที่พร้อมเปิดตัวโรงแรมหรู 5 แห่งอย่าง ได้แก่ JW Marriott ที่มีทั้งส่วนที่เป็นโรงแรมและเรสซิเดนท์ โรงแรม Marriott Marquis พร้อมห้องประชุมขนาดใหญ่รองรับธุรกิจไมซ์ โรงแรมAutograph Collection  โรงแรม Vignette Collection (วีนแยทท์) แบรนด์น้องใหม่จากเครือ IHG แห่งแรกของโลก โรงแรม Kimpton ที่มีทั้งส่วนที่เป็นโรงแรมและเรสซิเด้นท์

อวอทีค พัทยา

 

ทั้งนี้หลังโควิดเราจะมีโครงการคุณภาพเหล่านี้เข้ามาสร้างกระแสเงินสดให้ AWC ได้อย่างก้าวกระโดดในอนาคต ไม่เพียงการลงทุนใหม่เท่านั้น AWC ยังมีการรีแบรนด์โรงแรมเพื่อปรับปรุงทรัพย์สินให้สร้างคุณค่าเพิ่มขึ้น อย่างโรงแรมอิมพีเรียล เชียงใหม่ ก็รีแบรนด์มาเป็น มีเลีย เชียงใหม่ เปิดในกลางเดือนธ.ค.นี้ โรงแรมเมโทรโพล ภูเก็ต รีแบรนด์เป็นคอร์ท ยาร์ด บาย แมริออท ภูเก็ต เปิดวันที่ 2 พ.ย.นี้ ส่วนรีเทล 6 แห่งก็จะเน้นรีแบรนด์เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์เอ็กพีเรียนท์ของลูกค้าที่เปลี่ยนไปหลังเกิดโควิด เพราะลูกค้าไม่ได้มาซื้อสินค้าเท่านั้นเหมือนในอดีต การช้อปปิ้งออนไลน์ก็มี การรีแบรนด์ในส่วนของรีเทลก็ต้องทรานฟอร์มใส่เรื่องไลฟ์สไตล์เข้าไป ธุรกิจอาคารสำนักงานก็ต้องใส่เรื่องไลฟ์สไตล์เข้าไปทำให้ตอบโจทย์ชีวิตการทำงานที่รู้สึกผสมผสานความเป็น Leisure และความสะดวกต่างๆ เช่น

ทายาทเจ้าสัวเจริญ ถอดรหัส AWC รุกเมกะโปรเจ็กต์แสนล้าน

 

โครงการใหม่หนุนปี 66 พุ่ง

 

ขณะเดียวกันการบริหารกระแสเงินสดเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งปีที่ผ่านมาเราเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มความสามารถในการควบคุมค่าใช้จ่ายได้ 36% ลดต้นทุนคงที่ได้ 22% แม้โควิดจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรมและรีเทล แต่ธุรกิจอาคารสำนักงานก็เป็นฐานกระแสเงินสด ทำให้เรารักษากระแสเงินสดได้มากกว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ส่วนธุรกิจโรงแรมเรามีปิดโรงแรมไปเมื่อช่วงไตรมาส 2 ปีที่แล้ว ใช้เวลาไปหนึ่งไตรมาส  ก็พอมีโมเมนตั้มที่ดีช่วงไตรมาส 3 และ 4 ในปีที่แล้วจากโดเมสติกไมซ์และการเที่ยวในประเทศ ก่อนมาเจอโควิดระบาดที่ยืดเยื้ออีกครั้งในปีนี้

 

เมื่อมีการคลายล็อกในเดือนก.ย.นี้ ก็เห็นว่ามีการขยับของธุรกิจที่เร็ว โดยใช้เวลาเพียง 1 เดือนอัตราการเข้าพักเฉลี่ยของ AWC ก็ขยับมาเท่ากับเดือนก.ย.ปีที่แล้ว คืออยู่ที่ 16% และในเดือนต.ค.นี้ก็หวังไว้ที่ 20%  ที่ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่ม Workation และกลุ่มลองสเตย์ และการเดินทางเที่ยวในประเทศจากแรงหนุนของโครงการ “เราเที่ยวด้วยกันเฟส 3” โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ขับรถไปเที่ยวได้ใกล้ๆอย่างหัวหิน ส่วนการเดินทางโดยเครื่องบินคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง สำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวชาติก็เป็นเรื่องดี โดยเฉพาะถ้าไม่ต้องกักตัว ซึ่งคาดว่ากว่าตลาดจะกลับมาต้องใช้เวลาอีกราวไตรมาส 4 ปีหน้า

 

โดยตลาดที่จะมาก่อนจะเป็นกลุ่มไฮเอนท์  คนที่จำเป็นต้องเดินทาง ตามมาด้วยกลุ่มตลาดเลเชอร์ ส่วนตลาดไมซ์จากต่างประเทศจะตามมาช้าที่สุด ภาพรวมจึงคิดว่าในปี 2566 ธุรกิจของ AWC น่าจะกลับมาเหมือนกับก่อนเกิดโควิด และเรามั่นใจว่าจะมีผลประกอบการที่ดีกว่าปี 2562 ด้วยซ้ำจากโครงการลงทุนใหม่ที่เพิ่งเปิดไปในหลายโรงแรมในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และการขยายพื้นที่ขายที่เติบโตเพิ่มจาก 7 แสนตรม. 9 แสนตรม.ขึ้นเป็น1 ล้านกว่าตรม. ประกอบกับโครงการลงทุนที่จะเกิดขึ้นกว่าจะแล้วเสร็จก็พร้อมกลับมารับการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวไทยอีกครั้งและจะเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทยอีกด้วย

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,722 วันที่ 14 - 16 ตุลาคม พ.ศ. 2564