"โชนัน" แนะกลยุทธ์รักษาสภาพคล่อง ต่อลมหายใจร้านอาหาร

22 ก.ย. 2564 | 17:35 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ย. 2564 | 00:50 น.

ร้านอาหารยังน่าห่วง ต้นทุนเท่าเดิมแต่เงินในระบบหายไป หวั่นโควิดระลอก5 ล็อกดาวน์ครั้งใหม่ ซ้ำSME โชนัน แนะผู้ประกอบการลดต้นทุน-รักษาสภาพคล่อง-เจรจาหนี้ เพื่อต่อลมหายใจธุรกิจ

นายกุลวัชร ภูริชยวโรดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิ ออริจินัล ฟาร์ม จำกัด ผู้บริหารร้าน "โชนัน" (ChouNan) เปิดเผยผ่านงานสัมนา “จับคู่ กู้เงิน” โดยฐานเศรษฐกิจว่า   ในช่วงที่ถูกล็อคดาวน์กระแสเงินสดในธุรกิจมีผลมากกับธุรกิจ โดยเฉพาะโชนันที่ร้านอาหารเกือบทั้งหมด อยู่ในศูนย์การค้าซึ่งรายได้หายไปเกือบร้อยเปอร์เซ็น จากคำสั้งปิดร้านอาหาร-ปิดห้างสรรพสินค้ากว่า 2เดือน 

 

ซึ่งโชนันได้ปรับตัวและมองหารายได้จากช่องทางต่างๆรวมทั้งการซัพพอร์ตทางด้านการเงินโดยธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ซึ่งมีทั้งอนุมัติและไม่อนุมัติจากข้อจำกัดการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพานิชย์ ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการภายใน ซึ่งร้านอาหารมีต้นทุนหลักๆคือค่าเช่า ค่าแรงและค่าวัตถุดิบ ร้านที่มีการบริหารจัดการดีแม้รายได้จะหายไป 70-80 % ก็ยังต้องแบกรับต้นทุนพนักงาน บางร้านต้องลดเงินเดือนพนักงานลง มีการต่อรองเรื่องค่าเช่า ซึ่งในภาพรวมมีเอฟเฟคต่อร้านอาหารไม่มากน้อยต่างกันไป

สำหรับธุรกิจขายอาหารจะมีกระแสเงินสด 2 แบบ คือประเภทได้เงินสดเลย  แต่บางร้านจะเป็นลักษณะการฝากขายซึ่งอาจได้รับเงินจากการขาย30-40วัน ดังนั้นสภาพคล่องจึงมีความจำเป็นกับร้านอาหารอย่างมากเพราะต้นทุนบางอย่างยังอยู่เหมือนเดิม แต่เงินที่เข้ามาในระบบหายไป 

 

เมื่อเกิดขาดสภาพคล่องขึ้นมาธุรกิจต้องหาเงินเข้ามาเติมในระบบ ที่ผ่านมาร้านอาหารถูกปิดไปหลายรอบเพราะฉะนั้นเงินที่เติมเข้ามาในรอบแรกก็หมดไปแล้ว  ในรอบที่ 2 - 3 ศักยภาพของ SME ก็ยังไม่สามารถที่จะหาเงินเข้ามาเติมได้และอาจจะต้องปิดตัวกันไป  การเตรียมเงินไว้ก็คาดเดายาก เช่นโชนันเปิดกลับมาเปิดร้านได้แต่ก็ยังไม่ได้กลับมาเหมือนเดิม ก่อนหน้านี้ธุรกิจที่เป็น street food อาจจะพอไปได้ ผู้ประกอบการในร้านศูนย์การค้าอาจจะกระทบมากหน่อย แต่เมื่อเปิดล็อกดาวน์ร้านอาหาร-ห้างสรรพสินค้าร้านให้ห้างก็ดีขึ้น 

 

“ความสำคัญอยู่ที่การปรับตัวให้เข้ากับกลุ่มลูกค้า อาจจะต้องมีการปรับเรื่องของการขยายสาขานอกศูนย์การค้าซึ่งมีต้นทุนที่ต่ำลงและตอบโจทย์ตลาด food delivery  รวมทั้งการขยายสาขาที่อัตราการเร่งไม่ได้เยอะเท่าเดิม การลดขนาดพื้นที่สาขา การปรับเรื่องของสินค้าให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น การจัดการต้นทุนและกระแสเงินสดในช่วงนี้และจากนี้ไปอย่างน้อย 1-2 ปีข้างหน้า

 

ซึ่งจะช่วยประมาณการและควบคุมต้นทุนต่างๆให้เกิดประสิทธิภาพได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบริหารคน การปรับ business model ใหม่ การเลือกวัตถุดิบที่เหมาะสมกับสภาพตลาด  ทำให้ลูกค้าเห็นถึงประโยชน์และคุณค่าของธุรกิจเพื่อให้ลูกค้ายอมจ่ายในราคาที่แพงขึ้น ซึ่งตรงนี้ทำให้เรายืดเงินในกระเป๋าออกไปได้นานที่สุด”