เครื่องดื่มแอลกอฮอล์วูบ 8 เดือนสูญ 50% ชง 2 มาตรการ ‘เยียวยา-ฟื้นฟู’

17 ก.ย. 2564 | 04:54 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ย. 2564 | 21:59 น.
1.2 k

สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย ชงรัฐเดิน 2 มาตรการ “เยียวยา-ฟื้นฟู” ผู้ประกอบการหลังพิษโควิดฉุดธุรกิจร่วงยาว 8 เดือนยอดขายหายกว่า 50% กัดฟันลุ้นศบค.ไฟเขียวเปิดตุลาคมนี้ หวังปั้มรายได้ช่วงไฮซีซันฟื้นคืน

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 จากไวรัสกลายพันธุ์เดลต้าที่ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อหลัก 2 หมื่นต่อวันต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ทำให้ภาครัฐต้องใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดในการล็อกดาวน์พื้นที่สีแดงเข้มถึง 29 จังหวัด ซึ่งล้วนเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ จึงส่งผลกระทบในวงกว้าง

 

แม้เบื้องต้นจะมีการประมาณการณ์ความสูญเสียที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงกว่า 3.7 แสนล้านบาทในปี 2561และ 2562 จากมาตรการปิดให้บริการร้านอาหาร เครื่องดื่ม สถานบันเทิง รวมถึงการห้ามจำหน่ายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านแบบเด็ดขาด

 

มาตรการดังกล่าวทำให้ตั้งแต่มกราคมที่ผ่านมาจนถึงเดือนสิงหาคม เม็ดเงินในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หายไปแล้วกว่า 50% จากปีก่อนที่มีมูลค่าราว 3 แสนล้านบาท ภาพที่เห็นคือ การปรับตัวของผู้ประกอบการหันไปหารายได้เพื่อพยุงธุรกิจในรูปแบบที่แตกต่างกัน เพื่อรอวันที่รัฐบาลผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ให้กลับมาเปิดบริการได้อีกครั้ง

 

นายธนากร คุปตจิตต์ เลขาธิการสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย หรือ TABBA เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ของศบค. ในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้บรรยากาศต่างๆ เริ่มดีขึ้น ขณะเดียวกันจากการพูดคุยร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการร้านอาหาร สถานบันเทิง

ธนากร คุปตจิตต์

ตลอดจนภาคบริการที่ให้บริการและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างมองว่า ต้องการให้ภาครัฐมีความชัดเจนถึงแผนงานในการคลายมาตรการล็อกดาวน์ รวมถึงทำอย่างไรให้คนไทยอยู่ร่วมกันกับโควิดได้ ด้วยมาตรการด้านความปลอดภัย ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด

 

รัฐบาลต้องมองว่า ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจประเทศเดินหน้าต่อได้ ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลต้องทบทวน คือ เรื่องการบริหารจัดการประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งผู้ประกอบการเองในเวลานี้ยังรอดูสถานการณ์ก่อน ไม่อยากรีบร้อน เพราะการเปิดให้บริการต้องมีความพร้อม มีต้นทุน เตรียมตัว เตรียมกำลังคน หากเปิดแล้วยังมีมาตรการต่างๆ ควบคุม ข้อจำกัด ทำให้ลูกค้าไม่มาใช้บริการ การลงทุนก็จะไม่คุ้มค่า

 

อย่างไรก็ดี อยากเสนอแนะให้รัฐบาลทำใน 2 เรื่อง คือ มาตรการการเยียวยาและมาตรการการฟื้นฟู โดยการเยียวยา ควรทำทั้งในส่วนของผู้ประกอบการและมิติของลูกจ้างที่ตกงาน โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดงเข้ม ที่พบว่าได้รับผลกระทบอย่างหนัก

 

ขณะที่การฟื้นฟู สามารถทำได้ทั้งเรื่องของการหาแหล่งเงินทุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลน รวมถึงการนำค่าใช้จ่ายต่างๆทั้งที่เพื่อการป้องกันและควบคุมโควิด-19 ของหน่วยงานต่างๆ เช่น การฉีดวัคซีนให้กับพนักงาน การตรวจ ATK เพื่อคัดกรองผู้ติดเชื้อ การทำ Factory Sandbox ฯลฯ ล้วนเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

 

หากผู้ประกอบการตระหนักและใส่ใจในการป้องกันและเฝ้าระวัง ภาครัฐควรส่งเสริมและสนับสนุนให้นำค่าใช้จ่ายต่างๆ เหล่านี้มาใช้ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าเป็นระยะเวลา 3-5 ปี เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆให้กับผู้ประกอบการต่อไป

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์วูบ 8 เดือนสูญ 50% ชง 2 มาตรการ ‘เยียวยา-ฟื้นฟู’

ขณะเดียวกันสมาคมหอการค้าไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ยังมีแนวคิดที่จะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ในการจัดทำมาตรการคืนภาษีในรูปแบบของนิติบุคคลให้กับเจ้าของกิจการภายในระยะเวลา 3 เดือน นับจากวันที่ยื่นคำร้องเข้ามา เพื่อเป็นการเยียวยาให้กับผู้ประกอบการและผู้ประกอบการก็ได้รับเงินคืนเพื่อนำไปเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ ถือเป็นการฟื้นฟูไปในคราเดียวกันด้วย

 

อีกหนึ่งมาตรการการฟื้นฟู คือการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทุกกลุ่มให้ได้มากที่สุด เพราะวันนี้วัคซีน ยังเป็นหัวใจสำคัญในการทำให้คนไทยกลับมาใช้ชีวิตปกติ อีกทั้งเมื่อโควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น หากมีการป้องกันและควบคุมได้ เชื่อว่าจะไม่เกิดปัญหารุนแรง การบริหารจัดการวัคซีนเพื่อให้กระจายและได้รับการฉีดอย่างทั่วถึงจึงเป็นเรื่องสำคัญ

 

“วันนี้ผู้ประกอบการต่างเฝ้ารอดูว่าเดือนตุลาคมจะมีการผ่อนปรน คลายล็อกดาวน์ให้ทุกธุรกิจกลับมาเดินหน้าได้หรือไม่ เพราะอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วงตุลาคม- เมษายนของทุกปี ถือเป็นไฮซีซันของธุรกิจ ซึ่งช่วงไตรมาส 4 ที่เหลือนี้เชื่อว่าหากมีการเปิดประเทศได้จริงตามที่รัฐบาลประกาศไว้

 

มาตรการคลายล็อกดาวน์ให้ธุรกิจต่างๆ รวมถึงภาคท่องเที่ยวและบริการ สถานบันเทิงกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้ง จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กลับมาคึกคัก และยอดขายของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็จะกลับมาเพิ่มขึ้น 50-60% อย่างแน่นอน”

 

นายธนากร กล่าวอีกว่า ความสำเร็จจากโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ถือเป็นต้นแบบที่นำมาใช้ เพราะทำให้เห็นทั้งปัญหาและโอกาส โอกาสของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาและกำลังจะเข้ามา ทำให้หลายจังหวัดสนใจที่จะดำเนินการบ้างไม่ว่าจะเป็นสมุย ชะอำ หรือพัทยา ขณะที่เชื่อมั่นว่า เสน่ห์ของเมืองไทยที่ยังคงเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเลือกมาท่องเที่ยว จะเป็นแรงดึงดูดและสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศได้

 

“การเริ่มต้นสามารถเริ่มเป็นโซนนิ่ง ดูพื้นที่ พร้อมกับการทำกิจกรรมภายใต้มาตรการข้อจำกัดของศบค. ที่กำหนดไว้ได้ โดยดูต้นแบบจากภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ที่วันนี้กลายเป็นโอกาสของภาครัฐที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด พร้อมกับการทำธุรกิจและเปิดรับนักท่องเที่ยวกลับมาได้ อาจจะยังไม่ต้องทำแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่หากปลดล็อกทีละจุด เชื่อว่าผู้ประกอบการจะยอมรับและปรับตัวได้เอง”

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,714 วันที่ 16 - 18 กันยายน พ.ศ. 2564