TABBA ติงห้ามขายเหล้า-เบียร์ออนไลน์เกาไม่ถูกที่คัน

09 ก.ย. 2563 | 10:54 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ย. 2563 | 18:04 น.
672

ส.ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย ติงห้ามขายเหล้า-เบียร์ออนไลน์ เกาไม่ถูกที่คัน ชี้ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 วรรคแรก แนะหันมา “ควบคุม” จำกัด อายุ/เวลา แทนการสั่ง “ห้าม” มั่นใจป้องกันการเข้าถึงของเยาวชนได้มากกว่า

นายธนากร คุปตจิตต์ นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย หรือ TABBA เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังสำนักนายกรัฐมนตรีออกประกาศเรื่อง เรื่อง "ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563" มองว่าประกาศดังกล่าวไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ทั้งเรื่องของสถานการณ์การระบาดของโควิด 19  และไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ว่าด้วยการส่งเสริมและผลักดันนโยบายการทำธุรกรรมออนไลน์ (สื่ออิเล็คทรอนิกส์) เนื่องจากภาครัฐกำลังการส่งเสริมเรื่องของนโยบายรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) ด้านการทำ E-service ต่างๆ ซึ่งถือเป็นนโยบายโดยตรงของภาครัฐบาล

TABBA ติงห้ามขายเหล้า-เบียร์ออนไลน์เกาไม่ถูกที่คัน

ขณะเดียวกันมองว่ากฏหมายฉบับดังกล่าวไม่มีความจำเป็น เนื่องจากไม่ได้แก้ไขปัญหาโดยตรง จากข้อสังเกตคือ 1. การออกประกาศดังกล่าวอ้างเพื่อป้องกันการเข้าถึงได้ง่ายของเด็กและเยาวชน ฉะนั้นหากรัฐต้องการป้องกันการเข้าถึงของเด็กและเยาวชนจริงๆ ควรมีการจำกัดเรื่องอายุของเยาวชน และกำหนดช่วงเวลาการซื้อขาย ซึ่งควรจะมีการควบคุมตรงนี้มากกว่าการกำจัดหรือสั่งห้ามเลย

“มองว่าเรื่องดังกล่าวหากยกตัวอย่างให้เห็นชัดก็เทียบเคียงได้กับหากรัฐบาลมองเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนนที่มีมากขึ้น แต่รัฐบาลห้ามขับรถเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ แทนที่จะใช้การกำหนดความเร็วของผู้ใช้รถใช้ถนนแทน กรณีดังกล่าวก็ไม่ต่างกัน ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าการควบคุมมีข้อจำกัดน่าจะมีผลดีมากกว่า เนื่องจากไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์และไม่มีความจำเป็นขนาดนั้น”

นายธนากร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการพิจารณา ประกาศห้ามขายออนไลน์ มองว่าไม่เป็นไปตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560  มาตรา 77 วรรคแรก ที่ว่าด้วยการ 1.จัดให้มีกฏหมายพียงเท่าที่จำเป็น และ 2.ยกเลิกหรือปรับปรุงกฏหมาย ที่หมดความจำเป็น หรือ ไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อ การดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ

TABBA ติงห้ามขายเหล้า-เบียร์ออนไลน์เกาไม่ถูกที่คัน

ทั้งนี้ปัญหาที่แท้จริงของการขายสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางออนไลน์คือเรื่องของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หนีภาษีมากกว่า เพราะหากสังเกตดีๆแล้ว ในช่องทางออนไลน์ยังมีสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หนีภาษี หรือสินค้าผิดกฏหมายวางจำหน่ายเป็นจำนวนมาก ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลควรจะหันมากำจัดและป้องกันมากกว่า

อย่างไรก็ตามสำหรับประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง "ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563"  ซึ่งจะมีผลใช้บังคับนับตั้งแต่ 7 ธ.ค. 2563 เป็นต้นไปโดยมีเนื้อหาดังนี้ เนื่องจากในปัจจุบันมีวิวัฒนาการของการใช้เทคโนโลยีที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ผู้ประกอบการและร้านค้าบางส่วน ใช้ช่องทางในการซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยผ่านทางสี่ออิเล็กทรอนิกส์มากยิ่งขึ้น ทำให้ยากต่อการควบคุมเกี่ยวกับเรื่องวัน เวลา สถานที่ และบุคคลตามที่กฎหมายกำหนด

ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เยาวชนสามารถเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย และลดผลกระทบอันเกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงมีความจำเป็นในการออกประกาศ เพื่อกำหนดเป็นมาตรการทางกฎหมายในการควบคุมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 และมาตรา 30 (6) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551

ข้อ 1 ห้ามผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือบริการ ที่เกี่ยวข้องกับการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ต่อผู้บริโภคโดยตรง หรือเป็นการดำเนินการใด ๆ ในลักษณะการเชิญชวนให้ซื้อ การเสนอขายหรือการขายสินค้าหรือบริการต่อผู้บริโภค โดยตรงด้วยการตลาดหรือบริการการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะของการสื่อสารข้อมูล ทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ขายและผู้บริโภคซื้อขายได้โดยไม่ต้องพบกัน ข้อ 2 ประกาศนี้ไม่ใช้บังคับแก่กรณีการซื้อขาย และการชำระราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ณ ร้านค้า ร้านอาหาร หรือสถานที่ที่ให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ข้อ 3 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป