เอกชน-สมาคม วอนรัฐทบทวน  ห้ามขายแอลกอฮอล์ออนไลน์

28 ก.ค. 2563 | 11:48 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.ค. 2563 | 18:48 น.
568

TABBA โอดห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์ ไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการ จำกัดสิทธิขั้นพื้นฐาน ผู้ประกอบการ พร้อมรวมกลุ่มเดินหน้ายื่นภาครัฐ ทบทวนใหม่

หลังจากคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ (ประกาศห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านช่องทางออนไลน์) เพื่อป้องกันเยาวชนไม่ให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย และเพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผล ให้ผู้ประกอบการไม่สามารถจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือบริการที่เกี่ยวข้องกับการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านช่องทางออนไลน์ให้กับผู้บริโภคโดยตรงนั้น

ธนากร คุปตจิตต์

นายธนากร คุปตจิตต์ นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย หรือ TABBA เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทางสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย หรือ TABBA มีความเห็นต่อ (ร่าง) ประกาศฯ ดังกล่าวว่า การห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านช่องทางออนไลน์นั้นเป็นมาตรการที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการ จำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งหลังจากทางฝั่งของสมาคมหลังจากแสดงความเห็น และข้อกังวลต่างๆ ผ่านสื่อและข้อมูลสาธารณะไปแล้ว ก็ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวเพิ่มเติม เนื่องจากสมาคมเป็นกลุ่มผู้ผลิตและผู้นำเข้า ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม กอปรกับไม่อยากไปแสดงท่าทีจนทำให้ประชาชนหรือสาธารณะชนมองว่าทางสมาคมฯเรียกร้องประโยชน์ส่วนตนมากจนเกินไป จึงมองว่ากลุ่มที่มีการขับเคลื่อนหรือ ชะลอร่างฯดังกล่าวได้ควรจะมาจากผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยตรง เช่น ผู้ประกอบการค้าปลีกในช่องทางออนไลน์ โมเดิร์นเทรด หรือเจ้าของกิจการต่างๆ

“ที่ผ่านมามีทางสมาคมคราฟท์เบียร์ที่มีการยื่นหนังสือต่อภาครัฐไปก่อนหน้า และทางสำนักนายกฯก็มีการทบทวนร่างดังกล่าว ซึ่ง ณ ปัจจุบันเข้าใจว่าทางสมาคมผู้ค้าปลีกไทยก็ได้มีการยื่นหนังสือให้ทางสำนักนายกฯทบทวนร่างฯดังกล่าวด้วย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการขายปลีกในช่องทางออนไลน์ด้วย”

ทั้งนี้อยากตั้งข้อสังเกตว่าการพิจารณาออกประกาศไม่เหมาะกับสภาพการณ์และมาตรการของรัฐ ที่เดินเครื่องสนับสนุนเรื่องของการผลักดันนโยบายด้านอิเลคทรอนิกส์ ต่างๆภายในประเทศ ขณะที่ข้อสังเกตอีกประการคือมาตรการดังกล่าวจะเป็นการสวนทางกับความต้องการของผู้บริโภคในยุค New Normal อีกทั้งยังเป็นการซ้ำเติมและสร้างความเดือดร้อนต่อผู้ประกอบการที่ธุรกิจยังไม่ฟื้นตัวจากการหยุดดำเนินธุรกิจชั่วคราวในช่วงก่อนหน้านี้ ทั้งหมดนี้จะทำให้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำยิ่งกว่าเดิม

 

“ที่ผ่านมารัฐบาลได้รับรางวัลจากสหประชาชาติในแง่การพัฒนาอิเลคทรอนิกส์ พร้อมทั้งถูกจัดอันดับขึ้นมาดีขึ้น ขณะเดียวกันภาครัฐก็มีมาตรการส่งเสริมทำธุรกรรมออนไลน์ ซึ่งมองว่าจาก (ร่าง) ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ จะเป็นมาตรการที่ออกมาขัดแย้งกันเองหรือไม่”

อย่างไรก็ตามในส่วนของข้อกังวลที่ว่าด้วยการให้เด็กหรือเยาวชนเข้าถึงได้ง่ายนั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด โดยการซื้อขายผ่านธุระกรรมต่างๆนั้นสามารถตรวจสอบได้หมด ตั้งแต่ช่องทางการขาย ระบบจัดส่ง การตรวจอายุผู้ซื้อ หรือแม้กระทั่งตรวจสอบประวัติการซื้อขายย้อนหลัง ตรงนี้จึงเป็นที่มาขอให้ภาครัฐทบทวนมาตรการและพิจารณาผลได้ผลเสียที่ตามมาจริงๆ ท้ายที่สุดอยากวอนภาครัฐเร่งแก้ปัญหาด้านอีคอมเมิร์ซให้ถูกทาง โดยเฉพาะปัญหาสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ที่มีอยู่จำนวนมากในช่องทางออนไลน์ในปัจจุบัน 

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,595 วันที่ 26 - 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2563