"นกแอร์"แจงแนวทางแก้ปัญหาส่วนทุนติดลบ7พันล้านภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ

11 ก.ย. 2564 | 11:38 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ก.ย. 2564 | 18:59 น.
764

"นกแอร์"แจงแนวทางแก้ปัญหาทุนติดลบ7พันล้านหลังตลท.ขอให้สายการบินเร่งดำเนินการแก้ไขกรณีส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทมีค่าน้อยกว่าศูนย์ก่อนถูกเพิกถอนพ้นตลาดหลักทรัพย์ มั่นใจแผนฟื้นฟูกิจการแก้ปัญหาได้

นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทสายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)ถึง แนวทางการดำเนินการของบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) กรณีส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์ โดยระบุว่าตามหนังสือที่อ้างถึง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (“ตลาดหลักทรัพย์”) ได้แจ้งการเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนบริษัทหลักทรัพย์จดทะเบียนระยะที่ 1 (NC ระยะที่ 1) ของบริษัทสายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) (“บริษัท”) ตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ฯและขอให้บริษัทเร่งดำเนินการแก้ไขกรณีส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทมีค่าน้อยกว่าศูนย์นั้น

 

\"นกแอร์\"แจงแนวทางแก้ปัญหาส่วนทุนติดลบ7พันล้านภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ

 

บริษัทขอเรียนชี้แจงว่า นอกเหนือจากการเข้าสู่กระบวนฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) ซึ่งจะสามารถช่วยในการปรับโครงสร้างหนี้ ต้นทุนและองค์กรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน ทั้งนี้บริษัทได้มีแนวทางในการแก้ไขเหตุแห่งการเพิกถอนและดำเนินการเพื่อให้กลับมาซื้อขายได้โดยสรุปดังนี้

1. การดำเนินการให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทมีค่ามากกว่าศูนย์บริษัทมีแผน ในการปรับโครงสร้างทุนโดยการเพิ่มทุน เพื่อทำให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทกลับมามีค่ามากกว่าศูนย์โดยเร็ว

 

2. การดำเนินการให้บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานตามปกติซึ่งเกิดจากธุรกิจหลัก นอกเหนือจากการปรับโครงสร้างทุนดังกล่าวข้างต้น บริษัทได้มีการวางแผนปรับโครงสร้างหนี้ตามที่ระบุในแผนฟื้นฟูกิจการ รวมไปถึงปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในเรื่องที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

 

ก) การปรับปรุงแผนการใช้เครื่องบินให้เหมาะสมกับเส้นทางและสถานการณ์ในปัจจุบันมากขึ้น เพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะต้นทุนด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและต้นทุนในการซ่อมบำรุงซึ่งเป็นต้นทุนหลักของธุรกิจการบิน

 

ข) การปรับโครงสร้างสัญญาเช่าเครื่องบินและการเจรจาปรับลดค่าเช่าเครื่องบินอย่างมีนัยสำคัญทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

\"นกแอร์\"แจงแนวทางแก้ปัญหาส่วนทุนติดลบ7พันล้านภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ

 

ค) การปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้บางกลุ่ม

 

ง) การปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อให้องค์กรมีความคล่องตัว สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการกำหนดทิศทางและการสื่อสารแนวทางการดำเนินการของบริษัทได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และชัดเจน

 

จ) การยกระดับการให้บริการ เพื่อขยายฐานกลุ่มลูกค้าให้ครอบคลุมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความไม่แน่นอนอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

 

ฉ) การเพิ่มรายได้ด้วยการขนส่งสินค้าทางอากาศ

นอกจากนี้ บริษัทได้มีการวางแผนเส้นทางบินต่างๆเพิ่มเติมเพื่อรองรับผู้โดยสาร หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง ซึ่งคาดว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นและเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยทำให้กำไรสุทธิของบริษัทกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง

 

2. กำหนดระยะเวลาการดำเนินการ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 ผู้ทำแผนได้นำส่งแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ซึ่งแผนดังกล่าวได้ผ่านมติการยอมรับจากที่ประชุมเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยขณะนี้แผนอยู่ในระหว่างการพิจารณาอนุมัติโดยศาลล้มละลายกลาง และภายหลังจากที่แผนผ่านการอนุมัติแล้ว ผู้บริหารแผนจะสามารถดำเนินการตามแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

โดยบริษัทคาดการณ์ว่า สภาพธุรกิจโดยรวมจะกลับมาในทิศทางที่ดีขึ้นในปี 2565 ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยส่งผลให้ธุรกิจของบริษัทกลับมาดำเนินการได้อย่างปกติ ประกอบกับโครงสร้างต้นทุนรวมถึงการเพิ่มทุนที่ได้กล่าวข้างต้น จะช่วยสนับสนุนให้การดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น