“นันยาง” ปรับแผนสู้โควิด แนะทางรอดธุรกิจ

06 ก.ย. 2564 | 08:14 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ย. 2564 | 20:15 น.

เรียนออนไลน์ฉุดตลาดรองเท้านักเรียนทรุด “นันยาง” ฮึดสู้ปรับตัว นำโมเดล “เส้นทางสามเหลี่ยม” ดูแลพนักงาน พร้อมแนะธุรกิจใช้ “3จ.” ใจสู้- จำศีล-จบ ฝ่าวิกฤติโควิด -19

นายจักรพล จันทวิมล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและการขาย บริษัท นันยาง มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมของธุรกิจสินค้าอุปโภคได้รับผลกระทบจากโควิดทั้งในด้านของ supply และdemand ในแง่ของฝั่งผลิตไม่สามารถผลิตสินค้าได้เต็มกำลังการผลิตและอาจต้องหยุดการผลิตหากมีผู้ติดเชื้อในสายการผลิต ในขณะที่ผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพราะต้องทำงานหรือเรียนที่บ้านมากขึ้น

 

สำหรับนันยาง ได้รับผลกระทบโดยตรงเพราะ 80%ของบริษัทจำหน่ายรองเท้านักเรียน ในขณะเดียวกันนักเรียนเองต้องเรียนออนไลน์เพราะเลื่อนเปิดเทอม แน่นอนว่าความต้องการรองเท้านักเรียนย่อมหายไปด้วยที่ผ่านมา นันยางได้นำ “เส้นทางสามเหลี่ยม” มาใช้ในการดำเนินธุรกิจโดยสร้าง Motto

 

สำหรับพนักงานกว่า 1,000 ชีวิต ให้เว้นระยะห่าง เจอกันระยะสั้น และอยู่ในที่โปร่ง เพื่อลดความเสี่ยง โดยแบ่งทีมการผลิตและสลับเข้ามาผลิตสินค้าในโรงงาน แม้ว่าการผลิตอาจจะไม่ได้เต็มกำลังเหมือนสถานการณ์ปกติ แต่ก็สามารถทำให้บริษัทสามารถประคองตัวได้

 

ในส่วนของสำนักงานมีนโยบาย work from home 100% และจำกัดคนเข้าออฟฟิศได้ไม่เกิน 4 ชั่วโมงและห้ามอยู่เกิน 10 คนจากเดิมที่ทำงาน 50-60 คน ขณะที่ฝ่ายขายงดการพบปะลูกค้าและใช้การคุยออนไลน์แทน นอกจากนี้บริษัทยังตั้งนโยบายให้พนักงานต้องฉีดวัคซีนให้ได้ 100%

 

“จากนี้ไปอีก 3 เดือน ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงที่แน่นอนว่ามันยังไม่ดี ภาคการผลิตหรือผู้ประกอบการยังต้องตกอยู่ในสภาวะที่เรียกว่าเหนื่อยเหมือนกัน แม้ว่าจะมีออนไลน์เข้ามาช่วยเสริมแต่ก็ยังไม่สามารถมาแทนการขายปัจจุบันได้ ”

จักรพล จันทวิมล

อย่างไรก็ตามในภาวะที่ผู้ประกอบการยังต้องตกอยู่ในสภาวะที่ยากลำบาก มีโมเดลที่น่าสนใจที่อาจช่วยให้ธุรกิจฝ่าวิกฤติโควิดไปได้ นั่นคือ โมเดล 3จ. คือ 1. ใจสู้ ทำทุกวิถีทางเพื่อพลิกวิกฤติเป็นโอกาส แต่ผู้ประกอบการต้องประเมินว่าผู้บริโภคยังมีความต้องการสินค้าหรือบริการนี้หรือไม่

 

2. จำศีล คือจะต้องประหยัดทรัพยากรให้มากที่สุด และ 3. จบ ทางเลือกคำว่าจบไม่ใช่ทางเลือกที่ผิด แต่เป็นทางเลือกที่เมื่อธุรกิจมีความพร้อมเมื่อไหร่ สามารถกลับมาเริ่มใหม่ในสถานการณ์ที่ดีกว่าปัจจุบันและตรงกับความเก่งของบริษัทด้วย

 

“เมื่อช่วงที่เปิดเทอมที่ผ่านมา นันยางรุ่นเด็กประถม ได้ออกสินค้าที่สอดคล้องกับสถานการณ์ คือรองเท้าที่ไม่ต้องผูกเชือก มือก็ไม่ต้องโดนเชื้อโรค นี่เป็นจุดหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าเราจะยังใจสู้เรายังมองว่าวิกฤติของเรายังสามารถแก้ได้ยังไงบ้าง เราพยายามเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส

 

ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นยังไงวิกฤตนี้ก็ต้องหายไป ระหว่างนี้ผู้ประกอบการสามารถเลือกได้ว่าจะใจสู้ จำศีลหรือจบทั้ง 3 ทางเป็นทางเลือกที่ไม่มีผิดไม่มีถูก ประเมินตัวเองและประเมินสถานการณ์ ประเมินคู่แข่ง ประเมินลูกค้า และดูว่าเราจะไปในทิศทางไหน”

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,711 วันที่ 5 - 8 กันยายน พ.ศ. 2564