ปลุกไม่ขึ้น ‘ยิ่งใช้ยิ่งได้’ เหตุ‘ล็อกดาวน์-โควิดพุ่ง’

30 ก.ค. 2564 | 12:43 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ก.ค. 2564 | 19:57 น.
928

ผู้ประกอบการค้าปลีก หนุนรัฐอัดมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ รีเทิร์นโครงการ “ช้อปดีมีคืน” หลัง “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ไม่ตอบโจทย์ผู้มีรายได้สูง เหตุเงื่อนไขเยอะไม่ตอบรับไลฟ์สไตล์นักช้อปกระเป๋าหนัก เผยหลัง “สศค.” ปรับเปลี่ยนแต่ติดกับดักล็อกดาวน์ คาดเม็ดเงินไม่สะพัดตามเป้า

หนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ภาคค้าปลีกเรียกร้องให้นำกลับมาใช้อีกครั้งคือ โครงการ “ช้อปดีมีคืน” ทั้งๆที่ ณ ปัจจุบันรัฐบาลมีมาตรการลดค่าครองชีพและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 ระลอก 3 ด้วยวงเงินกู้รวม 140,380 ล้านบาทจากพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท

 

ซึ่งครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 51 ล้านคน ผ่านโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3, เพิ่มกำลังซื้อผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3, เพิ่มกำลังซื้อผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ และอีกมาตรการที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ “ยิ่งใช้ ยิ่งได้

 

โดยมาตรการยิ่งใช้ ยิ่งได้ เปิดให้ลงทะเบียนใช้สิทธิตั้งแต่วันที่ 21 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นเจาะกลุ่มผู้ที่มีกำลังซื้อเมื่อจับจ่ายซื้อสินค้าผ่านแอปเป๋าตัง ก็จะได้รับ E-Voucher คืนมูลค่าสูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคนโดยสามารถใช้จ่ายได้ในวงเงินสูงสุดไม่เกิน 5,000 บาทต่อคนต่อวัน เริ่มใช้จ่ายได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 30 ก.ย. 2564

 

โดยจำกัดจำนวนผู้ลงทะเบียนไว้ที่ 4 ล้านคน และคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจเป็นเงิน 2.68 แสนล้านบาท ทำให้ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ตลอดจนร้านค้าปลีกต่างๆ มุ่งหวังเม็ดเงินกลุ่มนี้จะมาช่วยกระตุ้นการขายให้ดีขึ้น จึงมีการจัดแคมเปญการตลาดรองรับเต็มรูปแบบ เหล่านี้

 

ผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า เป้าหมายหลักคือการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการใช้จ่ายในไตรมาส 3 และ 4 ของปี ด้วยการดึงดูดให้ผู้มีกำลังซื้อสูง กลุ่มผู้มีรายได้สูงนำเงินออกมาใช้จ่าย

ปลุกไม่ขึ้น ‘ยิ่งใช้ยิ่งได้’ เหตุ‘ล็อกดาวน์-โควิดพุ่ง’

ขณะเดียวกันก็เป็นการเยียวยาให้กับผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จึงกำหนดให้ใช้จ่ายได้กับสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้า และบริการต่างๆ โดยรัฐบาลจะสนับสนุนหรือตอบแทนเป็น E-Voucher เพื่อนำไปใช้จ่าย ทำให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

 

แต่คำถามคือ เงื่อนไขของโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ยังไม่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย (คนมีสตางค์) เพราะพฤติกรรมคนกลุ่มนี้ ใช้จ่ายซื้อสินค้ามูลค่าสูง ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ไม่ใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชั่น การเลือกซื้อสินค้าชิ้นใหญ่ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ ย่อมมีมูลค่าสูงเกิน 5,000 บาท

 

เมื่อเปรียบเทียบกับผลตอบแทนจาก E-Voucher ที่รัฐบาลจะคืนมาให้ 500 บาท ปัจจุบันโปรโมชั่นจากการซื้อสินค้าผ่านบัตรเครดิตได้รับส่วนลด โปรโมชั่นของบัตรเครดิต ของห้างสรรพสินค้า แต้มสะสม รวมถึงส่วนลดออนท็อปอื่นๆ ซึ่งมีมากถึง 20-21% นอกจากนี้ยังได้สิทธิ์ผ่อนดอกเบี้ย 0% ย่อมได้รับผลตอบรับที่ดีกว่า

 

หากเปรียบเทียบความคุ้มค่าที่ได้จากโครงการคนละครึ่ง ที่อย่างไรก็ได้รับ 50% แน่นอนแม้จะใช้จ่ายได้เพียง 150 บาทต่อวัน คนก็ยังคิดว่าคุ้มค่ากว่า และหากเปรียบเทียบกับช้อปดีมีคืน ซึ่งผู้มีรายได้สูง สามารถซื้อสินค้าและบริการและนำไปลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดถึง 3 หมื่นบาทต่อคน

ปลุกไม่ขึ้น ‘ยิ่งใช้ยิ่งได้’ เหตุ‘ล็อกดาวน์-โควิดพุ่ง’

โดยพบว่าตั้งแต่เปิดลงทะเบียนโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ มีผู้ลงทะเบียนรวมกว่า 4 แสนคนจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 4 ล้านคน มีการใช้จ่ายเม็ดเงินรวม (ข้อมูลระหว่างวันที่ 1-6 ก.ค. 2564) 126 ล้านคน มีผู้ใช้สิทธิ์จำนวน 2.7 หมื่นคน บ่งชี้ให้เห็นถึงกระแสตอบรับจากกลุ่มเป้าหมายน้อยมากเมื่อเทียบกับมาตรการลดค่าครองชีพและฟื้นฟูเศรษฐกิจอื่นๆ

 

อย่างไรก็ดี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) มีการรับฟังความคิดเห็นหลายภาคส่วน ซึ่งมีข้อเสนอต่างๆ ได้แก่ ยกเลิกเพดานการซื้อที่กำหนดให้ใช้จ่าย 5,000 บาทต่อคนต่อวัน นำเสนอให้เชื่อมโยง G Wallet เข้ากับบัตรเครดิต เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มคนมีรายได้สูง ที่นิยมใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต พร้อมเพิ่มสิทธิพิเศษโดยผนวกเข้ากับสิทธิพิเศษของบัตรเครดิต เพื่อลดช่องว่างผลตอบแทนที่ได้รับเมื่อเทียบกับคนละครึ่ง

 

นอกจากนี้ควรปรับระบบการคืน E-Voucher ให้รวดเร็วยิ่งขึ้นโดยควรคืนให้ 3-5 วัน เพื่อจูงใจให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำ ลดจำนวนโควตาผู้ได้รับสิทธิ์ ที่ตั้งเป้า 4 ล้านรายลง และนำวงเงินมาขยายเพิ่มให้กับกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งยืดระยะเวลาการใช้จ่ายเพื่ออำนวยความสะดวก

 

ขณะเดียวกันควรให้สิทธิ์ในการใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของภาครัฐ ที่ต้องการลดการเดินทางออกนอกบ้าน การทำงานที่บ้านรวมถึงการเว้นระยะห่าง และควรอนุญาตให้มีการเปลี่ยนหรือคืนสินค้าในระบบ G Wallet ได้ เช่นเดียวกับห้างสรรพสินค้าที่กำหนดให้ลูกค้าสามารถเปลี่ยนหรือคืนเงินได้ภายใน 14 วัน

 

ล่าสุดการปรับเงื่อนไขมาตรการยิ่งใช้ยิ่งได้ใหม่ โดยเพิ่มวงเงินใช้จ่ายสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาทต่อคนต่อวัน รวมทั้งขยายระยะเวลาการใช้จ่ายถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2564 และปรับลดจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์เหลือเพียง 1.4 ล้านสิทธิ์นั้น ผู้ประกอบการค้าปลีกเองคาดว่าจะช่วยกระตุ้นให้นักช้อป ใช้จ่ายมากขึ้น

ปลุกไม่ขึ้น ‘ยิ่งใช้ยิ่งได้’ เหตุ‘ล็อกดาวน์-โควิดพุ่ง’

แต่ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การล็อกดาวน์อย่างเข้มข้นในพื้นที่ 13 จังหวัด ทำให้ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า รวมถึงร้านค้าขนาดใหญ่ ต้องปิดให้บริการ โดยสามารถเปิดได้เพียงซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา พื้นที่ฉีดวัคซีนหรือบริการทางการแพทย์ของรัฐเท่านั้น

 

ขณะที่พื้นที่นอกห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าก็ถูกจำกัดการให้บริการ และมีหลายธุรกิจต้องปิดทำการ ทำให้ขาดความสะดวก สบายในการใช้จ่าย จึงยังไม่ตอบโจทย์กลุ่มผู้มีรายได้สูง การตอบรับและเม็ดเงินที่จะเกิดขึ้นเพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจจึงอาจยังไม่เห็นในช่วงนี้ ขณะเดียวกันมูดการจับจ่ายในภาวะที่ยังมีตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตสูงยังเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายให้กลับมาได้

 

เสียงประสานในการเรียกคืนโครงการ “ช้อปดีมีคืน” เฟสใหม่จึงยังดังอยู่

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 41 ฉบับที่ 3,700 วันที่ 29 - 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2564