นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2564 ที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน–อินเดีย ครั้งที่ 33 ผ่านระบบประชุมทางไกล โดยมีเป้าหมายสำคัญในการเร่งสรุปการจัดทำขอบเขตการทบทวนความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน–อินเดีย และเรียกร้องให้อินเดียแก้ไขปัญหากฎระเบียบทางศุลกากรในการนำเข้าสินค้าโดยใช้สิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ความตกลงการค้าเสรี
โดยผลการประชุมว่า เมื่อเดือนก.ย.2562 รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน–อินเดีย ได้มีมติให้ทั้งสองฝ่ายเริ่มการทบทวนความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน–อินเดีย (ASEAN – India Trade in Goods Agreement: AITIGA) ให้มีความทันสมัยและสะดวกต่อการค้าระหว่างกัน ซึ่งที่ผ่านมา อาเซียนได้จัดทำร่างขอบเขตการทบทวนและส่งให้ฝ่ายอินเดียได้พิจารณาระยะหนึ่งแล้ว โดยการประชุมครั้งนี้ อาเซียนได้เร่งรัดอินเดียให้ความเห็นต่อเอกสารดังกล่าว โดยอินเดียแจ้งว่า จะสามารถส่งความเห็นให้อาเซียนได้ภายในเดือนมิ.ย.2564 ทั้งนี้ สองฝ่ายจะพยายามดำเนินการเพื่อให้ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน–อินเดีย ครั้งที่ 18 เดือนก.ย.2564 สามารถประกาศการเจรจาทบทวนความตกลง AITIGA อย่างเป็นทางการได้
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบว่า ขณะนี้ทุกประเทศได้ให้สัตยาบันความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน-อินเดีย (ASEAN – India Investment Agreement : AIIA) ทำให้ความตกลงดังกล่าวมีผลบังคับใช้กับประเทศภาคีทุกประเทศแล้ว
นอกจากนี้อาเซียนยังได้หยิบยกปัญหาการบังคับใช้กฎศุลกากรว่าด้วยกฎถิ่นกำเนิดสินค้าใหม่ของอินเดีย (CAROTAR 2020) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนก.ย.2563 ที่ให้อำนาจศุลกากรอินเดียร้องขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดของสินค้านำเข้ามากเกินกว่าที่ตกลงไว้ ซึ่งไทยและประเทศอาเซียนเห็นว่า กฎระเบียบดังกล่าวเป็นการเพิ่มขั้นตอนพิธีการทางศุลกากรและมีความสุ่มเสี่ยงที่ข้อมูลที่ขออาจเป็นข้อมูลทางธุรกิจอีกด้วย เช่น ค่าแรง กำไร และกระบวนการผลิต
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้หารือเรื่องการผลักดันให้สภาธุรกิจอาเซียน–อินเดีย เร่งจัดหารือระหว่างภาคธุรกิจของอาเซียนและสมาพันธ์หอการค้าและอุตสาหกรรมอินเดีย เพื่อหาแนวทางการบริหารสภาธุรกิจอาเซียน–อินเดีย เพื่อให้สามารถเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างอาเซียนกับอินเดีย
ในปี 2563 การค้าระหว่างอาเซียนกับอินเดียมีมูลค่า 65,589 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปีก่อนหน้า 14.92% เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด – 19 โดยแบ่งเป็นการส่งออกจากอาเซียนไปอินเดีย มูลค่า 39,410 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้าจากอินเดียมายังอาเซียน มูลค่า 26,178 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกันในปี 2563 การค้าระหว่างไทยกับอินเดียมีมูลค่า 9,774 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปีก่อนหน้า 19.54% แบ่งเป็นการส่งออกจากไทยไปอินเดีย มูลค่า 5,489 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้าจากอินเดียมาไทย มูลค่า 4,284 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“สินิตย์”เร่งเครื่องปิดดีล FTAค้างท่อ