บริจาค “วัคซีนลัมปีสกิน” ให้กรมปศุสัตว์  50,000 โด๊ส

21 มิ.ย. 2564 | 20:00 น.
1.2 k

ข่าวดี ประธานชุมนุมสหกรณ์โคนมฯ บริจาค “วัคซีนลัมปีสกิน” นำเข้าจาก “ตุรกี” มอบให้กรมปศุสัตว์  50,000 โด๊ส หวังควบคุมโรคอุบัติใหม่ ในไทย

นัยฤทธิ์ จำเล

 

นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตามที่ กรมปศุสัตว์ พบรายงานการเกิด โรคลัมปี สกิน  ในโค กระบือ เป็นครั้งแรกในหลายพื้นที่ของประเทศไทย นับว่าเป็น "โรคอุบัติใหม่" และ เพื่อเป็นการสนับสนุนภารกิจของกรมปศุสัตว์ ในการควบคุมการระบาดของโรค โดยการใช้วัคซีนที่มีคุณภาพ ประสิทธิผล และความปลอดภัย โดยทางชุมนุมสหกรณ์โคนมฯ มีความประสงค์บริจาควัคซีนลัมปี สกิน จำนวน 50,000 โด๊ส ให้แก่กรมปศุสัตว์

 

เพื่อใช้ในการควบคุมป้องกันโรคและได้ประสานให้ บริษัท เวทอะกริเทค จำกัด ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตนำเข้ายาจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินการนำเข้าวัคซีนป้องกันโรค ลัมปี สกิน ชื่อการค้า “LUMPYVAC” จำนวน 50,000 โด๊ส จากประเทศตุรกี ให้แก่กรมปศุสัตว์

 

“โรคลัมปีสกิน” เป็นโรคประจำถิ่นของแอฟริกา และตะวันออกกลาง เกิดจากเชื้อฝีดาสในตระกูล Capripoxvirus การระบาดจะสัมพันธ์กับปริมาณน้ำฝนและปริมาณแมลง อัตราป่วย 10%-80% อัตราตาย 0%-10% และ อัตราป่วยตาย 0%-2% ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 1-4 สัปดาห์

 

การติดต่อ โดยแมลงนำโรค ได้แก่ แมลงวันคอก เห็บ และริ้น โดยเห็บจะถ่ายทอดเชื้อผ่านไข่ได้ สัตว์ป่วยจะขับเชื้อทางน้ำมูก น้ำตา น้ำเชื้อและ น้ำนม เชื้อจะมีความทนทานต่อสภาพแห้งและเย็น แต่จะถูกทำลายที่อุณหภูมิสูงกว่า 60 องศาเซลเซียส

 

ปัจจัยเสี่ยง  โคทุกช่วงอายะและสายพันธุ์ มีความไวต่อโรค แต่ลูกสัตว์ สัตว์ให้นม  หรือสัตว์ขาดอาหารจะเป็นโรครุนแรง

 

อาการป่วย  เริ่มจากไข้สูง (41 องศาเซลเซียส) ติดต่อกัน มากกว่า 1 สัปดาห์ ซึม เบื่ออาหาร มีก้อนเนื้อใต้หนัง (แบน กลมและแข็ง) เส้นผ่าศูนย์กลาง 1-4 เซนติเมตร บางครั้งพบก้อนเนื้อที่รูจมูก ทำให้สัตว์มีน้ำมูกข้น อ้าปากหายใจ ปอดบวม และทำให้สัตว์ตายได้

 

หากพบก้อนเนื้อที่ปากหรือตา จะมีอาการน้ำลายไหล น้ำตาไหล ต่อมน้ำเหลืองใต้ผิวหนัง บวมโตโดยเฉพาะขาหลัง สัตว์ส่วนใหญ่จะหายป่วยภายใน 4 ถึง 12 สัปดาห์ และเหลือร่องรอยของผิวหนังลอกหลุด ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนในประเทศไทย ส่วนใหญ่นิยมใช้วัคซีนเชื้อเป็น ไม่แนะนำให้ใช้ในฝูงสัตว์ที่ติดเชื้อแล้ว และไม่มีวิธีรักษาเฉพาะ ในประเทศที่ปลอดโรคจะแนะนำให้ทำลายสัตว์ป่วย