"เมียนมา" แจ้งระงับนำเข้า สบู่ ผงซักฟอก ยาสีฟัน

10 มิ.ย. 2564 | 21:01 น.

กรมการค้าเมียนมา ส่งหนังสือเขตการค้าชายแดนเมียวดี และศูนย์การค้าชายแดนท่าขี้เหล็ก แจ้งระงับทันทีนำเข้าสินค้า 3 ประเภท "สบู่ ผงซ้กฟอก ยาสีฟัน" หวังปกป้องความได้เปรียบการแข่งขัน ผู้ผลิตสินค้าในประเทศ เผยการแจ้งระงับครอบคลุมเขตการค้าชายแดนของเมียนมากับประเทศเพื่อนบ้าน 18 แห่ง โดยระวังเฉพาะผู้ค้าใบอนุญาต ITC แต่ไม่รวมการนําเข้า โดยบริษัท/ตัวแทนธุรกิจ

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 กรมการค้า กระทรวงพาณิชย์ของเมียนมา ได้มีหนังสือถึงเขตการค้าชายแดนเมียวดี และศูนย์การค้าชายแดนท่าขี้เหล็ก แจ้งระงับการนําเข้าสินค้า 3 ประเภท ได้แก่ สบู่ ผงซักฟอก ยาสีฟัน สําหรับผู้ถือใบอนุญาตผู้ค้าชายแดนประเภทบุคคล (Individual Trading Card: ITC) เพื่อควบคุมระดับอัตราแลกเปลี่ยนบริเวณชายแดน และปกป้องความได้เปรียบในการแข่งขันของผู้ผลิตสินค้าภายในประเทศ โดยให้มีผลบังคับใช้ทันทีจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ได้ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมกับกระทรวงพาณิชย์ของเมียนมา ทราบว่า คําสั่งดังกล่าวครอบคลุมถึงเขตการค้าชายแดนอื่นๆ ของเมียนมากับประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด 18 แห่ง โดยการระงับการนําเข้านี้จะกระทบต่อ (1) ผู้ประกอบธุรกิจรายบุคคล และ (2) ผู้ค้าส่ง – ค้าปลีกรายย่อยที่นําเข้าสินค้าประเภทดังกล่าวเข้ามาในเมียนมาด้วยใบอนุญาต ITC แต่จะไม่รวมถึงการนําเข้า โดยบริษัท/ตัวแทนธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตนําเข้าและส่งออก (Import-Export License) จากกระทรวงพาณิชย์ของเมียนมา

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564 หนังสือพิมพ์ Global New Light of Myanmar รายงานข่าวการเยี่ยมชมโรงงานผลิตสบู่ยี่ห้อ Padonmar ธุรกิจภายใต้ Myanmar Economic Holdings Public Company Limited (MEHL/MEHC) ซึ่งมีโรงงานตั้งอยู่ที่เมือง Paung รัฐมอญ โดยมี พล.อ. อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและประธานสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) พร้อมด้วยสมาชิก SAC คณะรัฐมนตรีที่แต่งตั้งโดย SAC สมาชิก SAC รัฐมอญ และผู้บัญชากองกําลังภาคใต้ – ตะวันออกเข้าร่วมการเยี่ยมชมโรงงานฯ โดย พล.อ. อาวุโส มินอ่องหล่าย ได้เน้นย้ำถึงการเพิ่มปริมาณการผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับอุปสงค์ภายในประเทศและเพื่อทดแทนการนําเข้าสินค้าจากต่างประเทศ นอกจากนี้ สินค้าที่ผลิตได้จะต้องมีราคาย่อมเยาและคุณภาพดี

การดําเนินนโยบายการค้าแบบคุ้มกัน (trade protectionism) แม้จะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการดําเนินนโยบายเศรษฐกิจในหลายประเทศเพื่อปกป้องผู้ประกอบการภายในประเทศที่อาจยังต้องอาศัยการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้เท่าทันระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม อย่างไรก็ดี การดําเนินนโยบายลักษณะดังกล่าวอาจสร้างผลเสียต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว รวมทั้งสวัสดิการทางเศรษฐกิจ  (economic welfare) ที่ลดน้อยถอยลงอันเนื่องมาจากผู้บริโภคภายในประเทศขาดตัวเลือกสินค้าที่หลากหลาย โดยปรากฏรายงานว่า ผู้ค้าตามแนวชายแดนหลายรายสูญเสียรายได้จากมาตรการห้ามนําเข้าสินค้า 4 ประเภท ผ่านจุดผ่านแดนทางบกที่ออกมาก่อนหน้านี้ รวมทั้งในฐานะผู้บริโภค สินค้าในรายการที่ถูกระงับการนําเข้าก็มีราคาที่เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยที่เป็นสมาชิกในสมาคมนักธุรกิจไทยในเมียนมา (TBAM) ส่วนใหญ่แสดงความกังวลต่อมาตรการดังกล่าว และได้ประเมินว่าเมียนมามีแนวโน้มที่จะดําเนินนโยบายกีดกันทางการค้าในรูปแบบต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับนโยบายสมัยปกครองด้วยรัฐบาลทหารในอดีต

จากสถานการณ์การค้าชายแดน/ข้ามแดนระหว่างไทย – เมียนมา ผู้ประกอบการไทยควรติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และปรับตัวผ่านการมองตลาดส่งออกใหม่ เช่น จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ญีปุ่น มาเลเซีย สหรัฐฯ กัมพูชา เนื่องจากสินค้าสบู่และผงซักฟอกได้ถูกจัดอยู่ในหมวดเคมีภัณฑ์ ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ พบว่า ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม –  เมษายน 2564 ไทยได้ทำการส่งออกเคมีภัณฑ์กว่า 2.35 แสนล้านบาท ไปยังประเทศประเทศดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการควรศึกษาอุปสงค์ของตลาดและคู่แข่งทางการตลาดเพิ่มเติมด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง