ไฟเขียว  “เกษตรกร –เอกชน “ นำเข้า “วัคซีนลัมปีสกิน” (มีคลิป)

07 มิ.ย. 2564 | 20:20 น.
806

"เฉลิมชัย” ไฟเขียว  เปิด ทาง ให้กลุ่มเกษตรกร –ภาคเอกชน นำเข้า “วัคซีนลัมปีสกิน” ได้  กรมปศุสัตว์พร้อมอำนวยความสะดวก แจงขั้นตอนปฏิบัตินำเข้า  ตามระเบียบอย่างเคร่งครัด

ตามที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์กำหนดแนวทางการสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรและภาคเอกชนในการนำเข้าวัคซีนเพื่อมาใช้ในการป้องกันโรคลัมปี สกิน ในโค-กระบือ จากสถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้น สำหรับความคืบหน้าล่าสุด

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต

 

วันที่ 7 มิถุนายน 2564  นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดี กรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ส่งมอบวัคซีนพร้อมกำหนดแนวทางการใช้วัคซีนตามหลักวิชาการสำหรับวัคซีนลัมปี สกิน ล็อตแรกจำนวน 60,000 โดส และ 300,000 โดส ที่มาถึงในสัปดาห์นี้ และที่สำคัญคือ พร้อมที่สนับสนุนกลุ่มเกษตรกร สมาคมผู้เลี้ยงโค-กระบือ ตลอดจนภาคเอกชนในการนำเข้าวัคซีน เพื่อนำมาใช้ฉีดป้องกันโรคและสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศตามนโยบายของ     ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

“ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญกับการควบคุมการระบาดของโรคลัมปี สกินมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนกลุ่มเกษตรกร สมาคมผู้เลี้ยงโค-กระบือ ตลอดจนภาคเอกชนในการนำเข้าวัคซีน  แต่เนื่องจากปัจจุบันวัคซีนลัมปีสกินยังไม่มีการขึ้นทะเบียนกับ อย. การนำเข้ากรมปศุสัตว์จึงจะทำหน้าที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่กลุ่มเกษตรกร สมาคมผู้เลี้ยงโค-กระบือ หรือภาคเอกชน ซึ่งขณะนี้ได้มีการกำหนดขั้นตอนปฏิบัติและรายละเอียดต่าง ๆเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

“โดยผู้ประสงค์นำเข้าวัคซีนทำหนังสือถึงกรมปศุสัตว์ เพื่อแจ้งความประสงค์ขอบริจาควัคซีนลัมปี สกิน โดยต้องระบุชื่อการค้าและจำนวน เพื่อให้กรมปศุสัตว์นำไปใช้สำหรับควบคุม ป้องกัน โรคลัมปี สกิน ทั้งนี้ต้องแจ้งความประสงค์ก่อนดำเนินการก่อนนำเข้าวัคซีน”

 

อธิบดีกรมปศุสัตว์  กล่าวต่อไปว่า หลังจากนั้น กรมปศุสัตว์จะทำหนังสือถึง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  (อย.) ขอผ่อนผันการนำเข้าวัคซีนที่มีทะเบียนในต่างประเทศ แต่ยังไม่ขึ้นทะเบียนในประเทศไทย โดยกรมปศุสัตว์จะมอบหมายอำนาจให้ผู้ประสงค์นำเข้าเป็นผู้ดำเนินการนำเข้าวัคซีน เมื่อได้รับการผ่อนผันจาก อย. ให้ผู้ประสงค์นำเข้า ดำเนินการสั่งวัคซีนและชำระค่าวัคซีนโดยตรงกับผู้ขายวัคซีนในต่างประเทศและดำเนินการขออนุญาตนำเข้าวัคซีนและขอหนังสือรับรองรุ่นการผลิต (Lot Release) จาก อย.ด้วย วัคซีนดังกล่าวจึงจะสามารถนำมาใช้ในการฉีดป้องกันโรคได้

 

“แต่ทั้งนี้ การนำวัคซีนไปใช้ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมปศุสัตว์  โดยต้องเป็นไปตามระเบียบกรมปศุสัตว์ว่าด้วยการฉีดวัคซีนโรคลัมปี สกินในสัตว์ชนิดโค กระบือ พ.ศ. 2564”

 

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับการป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรคลัมปี สกินให้ได้ผลนั้น การใช้วัคซีนเป็นเพียงมาตรการหนึ่งใน 5 มาตรการ ได้แก่ การควบคุมการเคลื่อนย้ายโค-กระบือ เพื่อลดการแพร่กระจายของโรค และปฏิบัติตามแนวทางการเคลื่อนย้ายอย่างเคร่งครัด การเฝ้าระวังการเกิดโรคอย่างใกล้ชิด

 

 เน้นการรู้โรคให้เร็ว ควบคุมได้ทัน โรคสงบได้อย่างรวดเร็ว การป้องกัน และควบคุมแมลงพาหะนำโรค ให้เกษตรกรป้องกันโดยใช้สารกำจัดแมลงทั้งบนตัวสัตว์ และบริเวณโดยรอบฟาร์ม ทั้งในพื้นที่ระบาดของโรคและพื้นที่เสี่ยง การรักษาสัตว์ป่วยตามอาการ การใช้วัคซีนควบคุมโรค ซึ่งต้องทำควบคู่กันไปทุกๆมาตรการ จึงจะทำให้การป้องกันและควบคุมโรคมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โรคสงบ โดยเร็ว