สแน็คไทยเจ๋งรั้งท็อปไฟว์ตลาดมะกัน

04 มิ.ย. 2564 | 11:35 น.
2.8 k

สแน็คไทยผงาด รั้งเบอร์ 5 สหรัฐฯนำเข้า ชิงเค้กตลาด 1.2 ล้านล้านบาท หอการค้าไทยชี้ปีนี้มีโอกาสโต 5% ขณะตลาดในประเทศ 3.8 หมื่นล้านคาดปีนี้โตอีก 10%

สหรัฐอเมริกาถือเป็นตลาดผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยว (สแน็ค)ใหญ่สุดของโลก โดยข้อมูลจาก IRI Research, Chicago ระบุในปี 2562 ตลาดขนมขบเคี้ยวในสหรัฐฯมีมูลค่า 39,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 1.2 ล้านล้านบาท (คำนวณที่ 31 บาทต่อดอลลาร์) โดยขนมขบเคี้ยว 5 อันดับแรกที่ครองส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯได้แก่ ชิพชนิดต่างๆ สัดส่วนตลาด 20.64%, แครกเกอร์ 20.13%, ทอร์ทิย่า 14.87%, ขนมขบเคี้ยวทำจากถั่วและผลไม้ 14.10% และขนมขบเคี้ยวชนิด
อบพอง (Puffs) 12.95%

ขณะที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ณ นครชิคาโก รายงานว่า ในปี 2563 สหรัฐฯมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวชนิดต่างๆ มูลค่า 6,935.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 2.14 แสนล้านบาท) โดยแหล่งนำเข้า 5 อันดับแรกได้แก่ แคนาดา เม็กซิโก อิตาลี ฝรั่งเศส และไทย มูลค่า 154.97 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 4,800 ล้านบาท (กราฟิกประกอบ) ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยสินค้าที่ส่งไปแยกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ได้แก่ 1.กลุ่มทอดกรอบ/อบกรอบ เช่น ขนมกรอบแบบแท่งตรากูลิโกะ เป็นต้น 2.กลุ่มถั่วคั่ว/ถั่วเคลือบ เช่น ถั่วเคลือบซอสศรีราชา ถั่วเคลือบวาซาบิ เป็นต้น และ 3.กลุ่มผลไม้แห้งและอบแห้ง เช่น มะม่วง สับปะรด กล้วยตาก ขิง มะละกอ

ทั้งนี้รายงานระบุปัจจัยที่สนับสนุนการขยายตลาดผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวไทยในสหรัฐฯ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวหลายรายการได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) หรือได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า, ความโดดเด่น และความเป็นเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์, เทรนด์การบริโภคเพื่อสุขภาพขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวของไทยสามารถตอบโจทย์ในเรื่องนี้ได้, ความต้องการโดยทั่วไปในตลาดเพิ่มขึ้น และความต้องการความหลากหลายของสินค้า และผู้บริโภคไม่ผูกติดอยู่กับแบรนด์ แต่มุ่งประเด็นตัวสินค้ามากกว่า และต้องการผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ

ตลาดขนมขบเคี้ยว

อย่างไรก็ดีอุปสรรคของการขยายตลาดขนมขบเคี้ยวไทยในสหรัฐฯคือ การแข่งขันที่ไม่เพียงต้องแข่งขันกับผู้ผลิตในสหรัฐ แต่ยังต้องเผชิญการแข่งขันกับ
สินค้านำเข้าจากแหล่งผลิตอื่น ๆ
เช่น จีน ไต้หวัน เวียดนาม และมาเลเซีย เป็นต้น

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูป และอาหารแห่งอนาคต หอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การส่งออกขนมขบเคี้ยวไทยไปสหรัฐฯ ปีนี้คาดจะขยายตัวได้ 5% โดยเวลานี้ตลาดผู้บริโภคขนมขบเคี้ยวในสหรัฐฯ เริ่มเปลี่ยนไป จากเดิมให้ความนิยมขนมขบเคี้ยวที่ทำจากแป้งและเน้นรสชาติอร่อยแล้ว ได้หันมาเน้นเรื่องสุขภาพมากขึ้น โดยนิยมขนมขบเคี้ยวที่มีส่วนผสมจากพืช เช่นสาหร่ายต่างๆ ผลไม้อบแห้ง ถั่วต่างๆ รวมถึงใส่เนื้อสัตว์ที่มีโปรตีนสูง ใส่แร่ธาตุ วิตามินที่มีคุณค่าทางโภชนาการเพิ่มมากขึ้น ลดโซเดียม หรือลดความหวาน มัน เค็มลง แต่ยังคงรสชาติดี

วิศิษฐ์  ลิ้มลือชา

สหรัฐฯถือเป็นตลาดสแน็คใหญ่สุด และมีการนำเข้ามากที่สุดในโลก ที่ผ่านมากลุ่มสแน็คที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มากสุดอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์บิสกิต แวฟเฟิล และเวเฟอร์ แต่ปัจจุบันเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายและมีส่วนผสมต่างๆ ที่ตอบโจทย์เรื่องสุขภาพมากขึ้น”

ส่วนตลาดขนมขบเคี้ยวในประเทศไทย นายวิศิษฐ์ให้ข้อมูลว่าในปี 2562 มีมูลค่าตลาด 38,000 ล้านบาท ปี 2563 ที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิดคาดมูลค่าตลาดจะใกล้เคียงกัน จากผู้บริโภคยังซื้อหาขนมขบเคี้ยวไว้ทานที่บ้าน และมีความสะดวกในการสั่งซื้อออนไลน์มากขึ้น ขณะที่ในปี 2564 นี้คาดตลาดจะยังขยายตัวได้ 5-10% จากคนรุ่นใหม่ให้ความนิยม โดยตลาดใหญ่สุดอยู่ในกลุ่มมันฝรั่ง รองมาคือขนมขึ้นรูป ถั่ว สาหร่าย และปลาเส้นและขนมที่มีส่วนประกอบหลักจากปลา 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,685 วันที่ 6 - 9 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ไทยแชมป์ส่งออกขนมขบเคี้ยวจากแป้งข้าวเบอร์ 1 ของโลก

ผ่าเส้นทางวิบากส่งออกไทย ลุ้นกันยาวๆ ดันทั้งปีโต 5-7%

เปิด 10 สินค้าเด่น ดันส่งออกครึ่งหลังโตต่อเนื่อง

โควิดลามคลัสเตอร์โรงงาน หวั่นทุบห่วงโซ่การผลิต ฉุดศก.-ส่งออกชะลอตัว

ปฎิวัติเมียนมา ทุบส่งออกไทย 9 หมื่นล้าน