เปิดไทม์ไลน์ วัคซีนโรคลัมปี สกิน เริ่มฉีดกลาง มิ.ย.

25 พ.ค. 2564 | 13:35 น.
907

กรมปศุสัตว์ เแจงยิบคุม “โรคลัมปี สกิน” 35 จังหวัด ไม่เพิ่มพื้นที่ระบาด ยันวัคซีนเข้าไทยล๊อตแรก ในอีก 5 วัน คาด อย.รับรองวัคซีน จะเริ่มฉีดกลางเดือน มิ.ย. เผย ล็อตซีนงวด2 สั่งอีก 3 แสนโดส จ่อคิว

จากกรณีที่มีข่าวเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนว่า กรมปศุสัตว์ไม่สามารถควบคุมการระบาดของ โรคลัมปี สกิน  หรือ โรค LSD ในโคกระบือของเกษตรกรนั้น ต้องขอชี้แจงว่า เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงทั้งหมด เพราะตั้งแต่พบว่า โคเนื้อของเกษตรกรที่อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด มีอาการป่วยคล้ายกับโรคลัมปี สกิน  กรมปศุสัตว์ได้ลงพื้นที่ พร้อมเก็บตัวอย่างมาตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ จนมีผลยืนยันในช่วงปลายเดือนมี.ค. ว่า โคป่วยด้วยโรคโรคลัมปี สกินจริง

 

น.สพ.สรวิศ ธานีโต

 

น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดี กรมปศุสัตว์  เปิดเผยว่า  ช่วงรอผลตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการนั้น ได้มีการดำเนินมาตรการต่าง ๆเพื่อควบคุมและแก้ไข เช่น ตามหนังสือที่ กษ 0610.07/ว5959 ลงวันที่ 2 มีนาคม 2564 เรื่องเข้มงวดการเฝ้าระวังและมาตรการป้องกันและควบคุมโรคกรณีสงสัยโรคลัมปี สกิน เป็นต้น โดยในการดำเนินการนั้น ได้รายงานให้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีความห่วงใยและติดตามสถานการณ์รับทราบอย่างต่อเนื่อง

 

โดยล่าสุดจากการประชุมคณะกรรมการบริหารการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตร ครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2564 ที่ผ่านมา ที่มีดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ได้มีข้อสั่งการให้กรมปศุสัตว์เร่งควบคุมต้นตอของการระบาดของโรคลัมปี สกิน โดยให้เข้มงวดเรื่องการเคลื่อนย้ายสัตว์ โดยเฉพาะการลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์ตามแนวชายแดนทุกแห่ง ดังนั้น หากพบผู้กระทำผิดให้ดำเนินการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ต้องกลัวอิทธิพล แต่หากปล่อยปละละเลยให้มีการลักลอบเคลื่อนย้าย และเกิดการแพร่ระบาดของโรค LSD เพิ่มขึ้น จะดำเนินการทางวินัยโดยเด็ดขาด”

อัพเดตสถานการณ์โรค

 

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า พร้อมกันนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการ และคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการป้องกัน ควบคุม และเตรียมความพร้อมเผชิญเหตุโรคลัมปี สกิน หรือ War room เพื่อทำหน้าที่ติดตาม สถานการณ์โรคระบาด วางแผนมาตรการควบคุมโรค วางแผนการกระจายวัคซีน การป้องกันกำจัดโรค ตลอดจนมาตรการชดเชยเยียวยาเกษตรกร

 

 

ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินการแก้ไขและควบคุมการระบาดใน 5 มาตรการ  คือ 1. ควบคุมการเคลื่อนย้ายโค กระบือ เพื่อลดการแพร่กระจายของโรค และปฏิบัติตามแนวทางการเคลื่อนย้ายอย่างเคร่งครัด โดยกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการปิดด่านตามแนวชายแดน เช่น ด่านชายแดนพม่า พร้อมตรวจตราการลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์อย่างเข้มงวด และเข้มข้น 2.  เฝ้าระวังการเกิดโรคอย่างใกล้ชิด เน้นการรู้โรคให้เร็ว ควบคุมได้ทัน โรคสงบได้อย่างรวดเร็ว 3. ป้องกัน และควบคุมแมลงพาหะนำโรคให้เกษตรกรป้องกันโดยใช้สารกำจัดแมลงทั้งบนตัวสัตว์ และบริเวณโดยรอบฟาร์ม ทั้งในพื้นที่ระบาดของโรคและพื้นที่เสี่ยง ด้วยการประสานด่านกักกันสัตว์ อบจ. อบต. ลงพื้นที่พ่นยาฆ่าแมลง และแจกยาฆ่าแมลง รวมถึงให้คำแนะนำการป้องกัน

 

เฝ้าระวัง

 

4. รักษาสัตว์ป่วยตามอาการ  เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสไม่มียาที่ใช้รักษาโดยตรง ซึ่งจำเป็นต้องรักษาตามอาการ โดยแบ่งการรักษาเป็น 4 ระยะ ระยะที่ 1 สัตว์ป่วยแสดงอาการมีไข้ให้ดำเนินการให้ยาลดไข้ ระยะที่ 2 เริ่มแสดงอาการตุ่มบนผิวหนัง ให้ยาลดการอักเสบ ระยะที่ 3 ตุ่มบนผิวหนังมีการแตก หลุดลอก ให้ยารักษาแผลที่ผิวหนังร่วมกับยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ระยะที่ 4 แผลที่ผิวหนังตกสะเก็ด ใช้ยารักษาแผลภายนอกจนกว่าจะหายดี และ 5.การใช้วัคซีนควบคุมโรค 

 

“ส่วนกรณีของวัคซีน ด้วยโรคลัมปี สกิน เป็นโรคอุบัติใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศไทย จึงยังไม่เคยมีการใช้วัคซีนในสัตว์สำหรับควบคุมและป้องกันโรคในประเทศมาก่อนเลย ขณะนี้กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการสั่งซื้อวัคซีน LSDV  จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีแหล่งผลิตในประเทศแอฟริกาใต้ รวม 60,000 โดส และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการประสานงานเพื่อส่งมอบวัคซีน คาดว่าจะสามารถส่งมาถึงประเทศไทยได้ภายใน 5  วันจากนี้”

 

ไทม์ไลน์ฉีดวัคซีนโรคลัมปีสกิน

 

หลังจากวัคซีนเข้ามาแล้ว จะต้องได้รับหนังสือรับรองรุ่นการผลิต จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แล้ว คาดว่าจะใช้เวลา 15 วัน จะสามารถนำมาใช้ได้ โดยถูกต้องตามกฎหมาย คาดว่าน่าจะช่วงกลางเดือนมิถุนายนนี้ ถึงจะดำเนินการฉีดได้ อีกทั้งกรมปศุสัตว์ กำลังดำเนินการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมอีกประมาณ 300,000 โดส จากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ในต่างประเทศ เพื่อเสริมระบบในการควบคุม ป้องกันโรค ลัมปีสกิน ในประเทศไทย โดยเร็วต่อไป

 

น.สพ. สรวิศ กล่าวอีกว่า สำหรับตัวเลขการระบาดล่าสุด ปัจจุบันพบใน 35 จังหวัด มีสัตว์ป่วย จำนวน 7,200 ตัว ตาย 53 ตัว และที่สำคัญสามารถควบคุมการระบาดให้อยู่วงจำกัด โดยตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. เป็นต้นมา ยังไม่มีรายงานการกระจายหรือการระบาดเพิ่มในจังหวัดใหม่

 

ดังนั้น ขอฝากถึงเกษตรกร หากมีข้อสงสัย หรือต้องการได้รับความช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่ สำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์(สคบ.) หรือสายด่วนแจ้งโรคระบาดกรมปศุสัตว์ callcenter 063-225-6888หรือแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน DLD4.0 “แจ้งการเกิดโรคระบาด” ได้ตลอดเวลา และสามารถติดตามองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ที่เว็บไซต์ คลิกที่นี่