รู้ทัน กลโกง “โบรกเกอร์ยาง”

22 พ.ค. 2564 | 16:48 น.
3.9 k

บอร์ด กยท. รีวิว สอนชาวสวนยาง ทำอย่างไรขายน้ำยางในราคาสูง รู้ทันโบรกเกอร์ สกัดกลโกง

สุนทร รักษ์รงค์

 

นายสุนทร รักษ์รงค์ กรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) และเลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย  เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ในเรื่องของทางออกจากปัญหา “ดราม่าน้ำยางสด จะทำอย่างไรเพื่อขายยางให้ได้ราคาที่สูง ไม่ถูกโกง DRC และถูกโกงน้ำหนัก ปัจจุบันจะเห็นว่า ส่วนใหญ่โรงงานจะซื้อน้ำยางสดผ่านโบรกเกอร์ แม้จะมีบ่อน้ำยางและพ่อค้ารายย่อยที่อยู่ใกล้เคียงโรงงานอาจขายตรงโรงงานได้ แต่ก็ไม่ได้ราคาขายในระดับโบรกเกอร์ อาจเป็นเพียงการ CSR ของโรงงานเพื่อรับผิดชอบแต่ชุมชนรอบข้างเท่านั้น

 

ในเขตภาคใต้ตอนล่าง โบรกเกอร์เอกชนแทบไม่ค่อยมี ส่วนใหญ่เป็นโบรกเกอร์ที่ไม่เอาส่วนต่างของตลาดแต่เก็บค่าบริการ เช่น สหกรณ์น้ำยางไท จำกัด และส่วนที่ทำหน้าที่คล้ายโบรกเกอร์ แต่ไม่เก็บค่าบริการและไม่มีค่าส่วนต่างของตลาด คือตลาดกลางยางพาราสงขลา การยางแห่งประเทศไทย ส่วนเขตภาคใต้ตอนกลาง ปัจจุบันยังมีโบรกเกอร์เอกชนดำเนินการอยู่หลายราย ซึ่งโบรกเกอร์จะได้รับค่าส่วนต่างของตลาดจากโรงงาน และจะมีบ่อน้ำยางมาเป็นเครือข่ายจำนวนหนึ่ง

 

นายสุนทร กล่าวว่า สาเหตุที่โรงงานต้องซื้อน้ำยางสดผ่านโบรกเกอร์ เพราะมีความแน่นอนเรื่องวัตถุดิบ(Raw Material)มากกว่า การทำโรงงานจะมีต้นทุนคงที่และต้นทุนผันแปร ถ้ามีวัตถุดิบเข้าน้อยต้นทุนจะสูงขึ้น และโรงงานไม่สามารถเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิต(Capacity)ดังนั้นโรงงานจะไม่สุ่มเสี่ยงรับซื้อน้ำยางสดจากบ่อน้ำยางหรือพ่อค้ารายย่อยเพียงอย่างเดียว ที่เปรียบเสมือนเบี้ยหัวแตก

 

ทางออกของพี่น้องชาวสวนยางมีหลักการใหญ่ก็คือ ต้องจัดตั้งกลุ่มรวบรวมน้ำยางสด เพื่อสร้างอำนาจต่อรองด้านราคา ต้องมีการบริหารจัดการที่โปร่งใส มีบริการที่ดี มีธรรมาภิบาล ต้องทำน้ำยางคุณภาพ และสนับสนุนให้เกษตรกรผลิตน้ำอย่างสดคุณภาพ รวมทั้งถ้าสามารถลดห่วงโซ่อุปทาน(Supply Chain)ให้สั้นลง ผลประโยชน์จะตกแก่เกษตรกรชาวสวนยางมากขึ้น

 

การสร้างกลุ่มรวบรวมน้ำอย่างสด จึงมีอยู่ 3 แนวทาง 1. การทำกลุ่มรวบรวมน้ำยางสด ของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง การยางแห่งประเทศไทย วิธีการคือ ทำกลุ่มย่อยรับซื้อน้ำยางสดจากเกษตรกร กลุ่มย่อยก็เป็นเครือข่ายรวบรวมน้ำยางสดของสถาบันเกษตรกร(สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร) เพื่อขายน้ำยางสดให้โรงงานผ่านตลาดกลางยางพารา

 

ยกตัวอย่าง กลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านนาปรัง อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา สมมติวันนี้ ขายน้ำยางสดให้โรงงานได้ 65 บาท กลุ่มย่อยจะเปิดราคาไปที่เกษตรกรผู้เป็นสมาชิก 62 บาท วันรุ่งขึ้นเมื่อได้ DRC มาตรฐาน ทางกลุ่มเกษตรกรจะให้ราคากลุ่มย่อยที่ 64 บาท

 

แต่พอสรุปสิ้นปี จะมีการปันผลสองช่วงคือจากกลุ่มย่อยไปยังสมาชิก และจากกลุ่มเกษตรกรไปยังสมาชิก รวมแล้วเกษตรกรได้รับปันผลอีกกิโลกรัมละ 2 บาท เท่ากับเกษตรกรชาวสวนยางที่ขายยางผ่านระบบกลุ่มรวบรวมน้ำยางสดได้ในราคา 64 บาท


 

ส่วนเกษตรกรที่ขายให้พ่อค้ารายย่อยเอกชน จะขายน้ำยางสดได้ในราคา 59-60 บาทโดยประมาณ รายได้ของเกษตรกรจะหายไป 5-6 บาทต่อกิโลกรัม อุปสรรคและปัญหา การทำกลุ่มรวบรวมน้ำยางสดของสถาบันเกษตรกร ก็คือระบบธรรมาภิบาล กลุ่มที่แตกมักจะเกิดจากสาเหตุการขาดคุณธรรมของผู้นำ เรื่องฝีมือในการบริหารจัดการมันเรียนรู้กันได้ซึ่งกว่าจะเกิดกลุ่มรวบรวมน้ำยางสดที่เข้มแข็งของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ก็ล้มลุกคลุกคลาน ผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควร เพราะทุกอย่างย่อมบทเรียนและมีค่าวิชา

 

ในอดีตจะถูกพ่อค้าเอกชนกดดันสูงมาก ถูกข่มขู่ก็มี อ้อนวอนให้แบ่งขายก็มี พ่อค้าจะใช้เทคนิคล่อ คือเปิดราคาสูง ยอมซื้อขาดทุนในช่วงแรกก็ต้องทำ เพื่อทำให้กลุ่มเกษตรกรแตกแล้วค่อยเอาคืนกลับทีหลัง ด้วยเทคนิคการโกง DRCและโกงน้ำหนัก เราเรียกกลยุทธ์นี้ว่า “ล่อ ตี แตก”

 

2. การรวมกลุ่มของพ่อค้ารายย่อยและบ่อน้ำยางเอกชน มาเป็นสมาชิกของสหกรณ์บริการ อย่างเช่น สหกรณ์น้ำยางไท จำกัด ที่ ต.นาพรุ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ที่เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2548 ตอนนี้มีสมาชิกที่เป็นบ่อน้ำยางและพ่อค้ารายย่อยหลายพันราย มียอดขายต่อปี 3000-4000 ล้านบาท มีเงินปันผลต่อปีประมาณ 10 ล้านบาท และมีการช่วยเหลือคืนตามส่วนธุรกิจ โดยไม่ต้องรอจนถึงสิ้นปี

 

หลักการคือสหกรณ์น้ำยางไท จำกัด จะเก็บค่าบริการกิโลกรัมละ 15 สตางค์ แต่บ่อน้ำยางที่เป็นสมาชิกจะได้ราคาโบรกเกอร์เมื่อขายเข้าโรงงาน และไม่ต้องจ่ายภาษีหัก ณ ที่จ่าย 0.75% ส่วนสหกรณ์น้ำยางไท จำกัด ต้องจ่ายภาษี VAT 7% ในฐานะที่เป็นสหกรณ์บริการ

 

แต่ว่าพ่อค้ารายย่อยที่เป็นเครือข่ายบ่อน้ำยาง และเป็นสมาชิกสหกรณ์ด้วย ก็จะมีค่าการตลาดที่สามารถซื้อยางจากเกษตรกรได้ในราคาที่ยุติธรรม โดยไม่จำเป็นต้องโกง DRC หรือ โกงน้ำหนัก

 

3. การรวมกลุ่มน้ำยางสดจากสวนอย่างยังยืน เพื่อขายให้กับผู้ใช้ยางโดยตรง เช่น บริษัทยางล้อที่ใช้น้ำอย่างสดเป็นวัตถุดิบในการผลิต ซึ่งเป็นการลดห่วงโซ่อุปทาน(Supply Chain)ให้สั้นลง เกษตรกรจะต้องทำสวนยางให้มีมาตรฐาน GAP และกลุ่มรวบรวมน้ำยางสดต้องมีมาตรฐาน GMP รวมทั้งมีใบรับรองมาตรฐานการจัดการสวนยางยั่งยืนในระดับสากล จึงถือว่าสมบูรณ์แบบ

 

ในปัจจุบันมีผู้ซื้อน้ำยางสดคุณภาพที่มีมาตรฐาน ในราคาบวกเพิ่มจากตลาดกลางยางพารา 5-7 บาท แต่ข้อมูลนี้มีคนรับรู้ไม่มาก ซึ่งในอนาคตอันใกล้ แค่พี่น้องเกษตรกรทำสวนยางยั่งยืน มีมาตรฐานรับรอง และสร้างเครือข่ายกลุ่มรวบรวมน้ำยางสด ก็สามารถขายน้ำยางสดได้ในราคาบวกอีก 5 บาท ผมเชื่อว่าพี่น้องชาวสวนยางก็คงพอใจ เรื่องนี้ต้องต่อสู้กันต่อไป

 

อันเป็นแนวทางที่สอดรับกับการพัฒนาที่ยั่งยืนของ UN ซึ่งบริษัทผู้ใช้ยาง(End User)ทั่วโลก ก็มีแนวโน้มรับซื้อน้ำยางจากสวนยางยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น เพื่อแปรรูปทำผลิตภัณฑ์ยางที่รับผิดชอบต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม(Green Product)