โดน 3 เด้ง กดปาล์มราคาร่วง

08 พ.ค. 2564 | 10:40 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ค. 2564 | 17:42 น.
3.8 k

ปาล์มโควิดพ่นพิษ ลามผลปาล์มทะลัก-ยอดใช้นํ้ามันวูบ กดราคาร่วง กรมการค้าภายใน เผย ติดตั้งมิเตอร์วัดน้ำมันปาล์มคืบ “โยโกกาวา” หากไม่มีอุทธรณ์ ลงนามสัญญา 10 พ.ค.นี้

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มนํ้ามันแห่งชาติ (กนป.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบประเมินผลผลิต ปัจจัยเสี่ยง เพื่อลดผลกระทบเกษตรกรและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปาล์มทั้งระบบ โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้

 

ปี 2564 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร  (สศก.) คาดว่าปาล์มนํ้ามันมีเนื้อที่ให้ผล 6.08 ล้านไร่ ผลผลิต 16.370 ล้านตัน คิดเป็นนํ้ามันปาล์มดิบ 2.947 ล้านตัน(อัตราสกัดนํ้ามัน18%) เพิ่มขึ้นจาก 15.657 ล้านตัน ในปี 2563 คิดเป็น 4.55% เนื่องจากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมารายได้จากการปลูกปาล์มนํ้ามันโดยเปรียบเทียบสูงกว่าพืชทางเลือกอื่นส่งผลให้เกษตรกรหันมาปลูกปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้น รวมทั้งเกษตรกรมีการขยายเนื้อที่ปลูกปาล์มนํ้ามันในปี 2561 แทนยางพารา เงาะ และลองกอง และเริ่มให้ผลผลิตในช่วงปลายปี 2563-2564

 

เมื่อพิจารณาผลปาล์มนํ้ามันในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 มีปริมาณ 9.058 ล้านตัน (คิดเป็น 55.33% ของผลผลิตทั้งหมด) ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีปริมาณ 9.271 ล้านตัน หรือลดลง 2.30% สำหรับในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 คาดว่ามีผลผลิตออกสู่ตลาด 7.312 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 6.386 ล้านตัน ในช่วงเดียวกันของปี 2563 หรือเพิ่มขึ้น 14.50% 

 

การบริหารปาล์มน้ำมันทั้งระบบ ปี2564

 

ขณะที่ กรมการค้าภายใน รายงานปริมาณสต๊อกนํ้ามันปาล์มคงดิบคงเหลือ ณ เดือนมีนาคม 2564 จากการแจ้งของผู้ประกอบการตามประกาศมีจำนวน 1.33 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 29.13% ผลผลิตปาล์มเริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้น ความต้องการใช้อุปโภคบริโภคและด้านพลังงานลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบโควิดระลอกใหม่ ส่งผลทำให้ราคาปาล์ม ณ วันที่ 4 พฤษภาคม ราคาผลปาล์มทะลาย 18% เฉลี่ยกิโลกรัมละ 4.60-5.30 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) ราคานํ้ามันปาล์มดิบ(ซีพีโอ) เฉลี่ย กก. 32.50-32.75 บาท ส่วนราคานํ้ามันปาล์มดิบตลาดมาเลเซีย เฉลี่ย 32.65 บาทต่อ กก. ด้านราคาจำหน่ายปลีกนํ้ามันพืชปาล์มขวด 1 ลิตร 45-48 บาทต่อขวด

 

ส่วนโครงการติดตั้งเครื่องมือวัดปริมาณนํ้ามันปาล์มเพื่อบริหารจัดการและควบคุมสต๊อกนํ้ามันปาล์มกรมได้ประกาศผู้ชนะการประกวดราคา เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2564 แล้ว โดยบริษัท โยโกกาวา (ประเทศไทย) เสนอราคาตํ่าสุด เป็นเงิน 270 ล้านบาท หากไม่มีการอุทธรณ์คาดว่าจะลงนามในสัญญาจ้างได้ในวันที่ 10 พฤษภาคมนี้

ด้านกรมธุรกิจพลังงาน รายงานการใช้นํ้ามันดีเซลหมุนเร็วไตรมาสแรกปี 2564  มีปริมาณการใช้เฉลี่ยที่ 64.69 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นจากในช่วงเดียวกันของปีก่อน ประมาณ 0.12 ล้านลิตรต่อวัน (ปริมาณการใช้ม.ค.-มี.ค. ปี 2563 ที่ 64.57 ล้านลิตรต่อวัน) หรือเพิ่มขึ้น 0.19% โดยเดือนมกราคม 2564 มีปริมาณการใช้ลดลงเหลือเพียงวันละ 59.51 ล้านลิตร ลดลงจากเดือนมกราคม 2563  4.62 ล้านลิตร หรือลดลง 7.20% เนื่องจากการระบาดของโควิดระลอกใหม่ เช่นเดียวกับการใช้ไบโอดีเซล (บี100) ไตรมาสแรก มีปริมาณการใช้ที่ 5.20 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 0.16 ล้านลิตรต่อวัน หรือ 2.99% (ปริมาณการใช้ ม.ค.-มี.ค.63 ที่ 5.36 ล้านลิตร/วัน)   

 

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันไทยยังจะขยายตัว แม้ว่ามีปัจจัยหลายอย่างจะส่งผลกระทบ อาทิ ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้มีผลต่อปริมาณปาล์มที่อาจเพิ่มขึ้น (กรณีฝนดี) หรือเสียหาย (กรณีภัยพิบัติ), การปลูกทดแทนปาล์มเก่าและการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ของอินโดนีเซียและมาเลเซีย,การให้ความสำคัญกับการปลูกและการผลิตผลิตภัณฑ์จากปาล์มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้น

 

ความรวดเร็วของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจาก “โควิด-19” การเพิ่มขึ้นของราคานํ้ามันดิบมีผลต่อการทำกำไรของการผลิตนํ้ามันไบโอดีเซลและมีผลต่อราคานํ้ามันพืชตามลำดับ รวมทั้งยังมีปัจจัยสหภาพยุโรป (อียู) เลิกใช้เชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตจากนํ้ามันปาล์มปี 2564 ดังนั้นอุตสาหกรรมทั้งระบบจะต้องปรับรูปแบบการผลิตไปผลิตภัณฑ์จากปาล์มนํ้ามันที่มีมูลค่าสูง

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 24 ฉบับที่ 3,676 วันที่ 6 - 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2564