รอดแล้ว“ไทยแอร์เอเชีย”ระดมทุน 6 พันล้านเสริมสภาพคล่อง

30 เม.ย. 2564 | 07:30 น.
อัปเดตล่าสุด :30 เม.ย. 2564 | 11:57 น.
5.5 k

ไทยแอร์เอเชีย รอดเเล้ว! ปรับโครงสร้างกิจการระดมทุน 6 พันล้านบาท เพิ่มสภาพคล่อง ยันพร้อมให้บริการต่อเนื่อง คาดเปิดบินต่างประเทศต้นปีหน้า

ไทยแอร์เอเชีย (TAA) เปิดแผนทางรอด พร้อมได้รับเงินทุนที่เเน่นอนเเละเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ รวมเงินทุนกว่า 5,907 ล้านบาท ทั้งจากนักลงทุนรายใหม่ และเป้าหมายนำ TAA จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เเทน บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) เพิ่มมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalisation) และโอกาสการระดมทุน มั่นใจเสริมสภาพคล่องประคองธุรกิจในสถานการณ์โควิด-19 และความสามารถในการกู้เงินเพิ่มเติมในอนาคต โดยเน้นความเท่าเทียมให้เเก่นักลงทุนทุกกลุ่มแน่นอน

นายธรรศพลฐ์ เเบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV)และสายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า จากสถานการณ์การเเพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจมาต่อเนื่องยาวนาน ทำให้สายการบินต้องปรับตัวทั้งด้านการบริหารจัดการต้นทุนเเละรายได้ให้สอดคล้องกัน โดยล่าสุดบริษัทฯ ได้กำหนดแผนการปรับโครงสร้างกิจการขึ้นใหม่ ซึ่งจะทำให้ TAA มีทุนหมุนเวียนและสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องเพิ่มทุนเป็นเวลาอย่างน้อยอีก 3 ปี พร้อมเติบโตได้อย่างยั่งยืน

ธรรศพลฐ์ เเบเลเว็ลด์

ทั้งนี้ สำหรับเเผนระยะสั้น TAA จะได้รับสินเชื่อจากนักลงทุนรายใหม่ ในรูปแบบของสัญญาเงินกู้แปลงสภาพ หรือหุ้นกู้แปลงสภาพ ปลอดดอกเบี้ย มูลค่าไม่เกิน 3,150 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ นักลงทุนรายใหม่อยู่ระหว่างการตรวจสอบกิจการ และเจรจารายละเอียดของเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกินกลางเดือนพฤษภาคม 2564 นี้

โดยจะได้รับเงินลุงทุนส่วนนี้ประมาณปลายเดือนมิถุนายน โดยหลังจากนี้นักลงทุนจะสามารถแปลงสภาพสัญญาหุ้นกู้นี้ เป็นหุ้นสามัญของTAA ภายหลังจากที่ TAA นำเเผนเข้าหารือและได้รับอนุมัติจาก กลต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในการนำ TAA เข้าจดทะเบียนแทน AAV และเสนอขาย หุ้น IPO ต่อไป ซึ่งทำให้จากแผนปรับโครงสร้างกิจการทั้งหมดครั้งนี้ TAA จะได้เงินทุนรวมทั้งสิ้น 5,907 ล้านบาท (ไม่รวม ESOP ซึ่งเป็นการออกเเละเสนอขายหุ้นสามัญที่ออกใหม่ให้เเก่ผู้บริหารระดับสูงของ TAA)

ทั้งนี้ นายธรรศพลฐ์ กล่าวถึงเหตุผลในการนำ TAA เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แทน AAV เพราะมองว่า  TAA ซึ่งบริษัทปฏิบัติการโดยตรงจะสร้างโอกาสให้นักลงทุนได้ถือหุ้นตรง ดีกว่า AAV ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้ง โดยขอให้เชื่อมั่นว่าทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกันในแผนครั้งนี้ ทั้งนักลงทุนใหม่ และผู้ถือหุ้นเดิม โดยผู้ถือหุ้นเดิมของ AAV จะได้รับผลกระทบจากการเพิ่มทุน (Dilution Effect) ครั้งนี้น้อยที่สุด เมื่อเทียบกับการระดมทุนรูปแบบอื่นๆ

“ผมยืนยันเสมอว่าสายการบินไทยแอร์เอเชียจะยังอยู่รอด เพราะเรามีแผนและเตรียมพร้อมอยู่ตลอด ซึ่งขอให้นักลงทุนเเละผู้ใช้บริการทุกคนมั่นใจ สำหรับตัวผมยังมีพลังและพร้อมทำหน้าที่ฝ่ายบริหารของไทยแอร์เอเชียต่อไป ไม่ทิ้งกันไปไหนเเน่นอน” นายธรรศพลฐ์กล่าว

ข่าวเกี่ยวข้อง: