นักวิชาการชี้ กรณีศึกษา ‘โอสถสภา’ เดินเกมสู่ความยั่งยืน   

15 เม.ย. 2564 | 15:18 น.
2.0 k

“โอสถสภา” โดยตระกูลโอสถานุเคราะห์ ถือเป็นองค์กรต้นแบบของไทยที่เดินหน้าและยืนหยัดมายาวนานถึง 130 ปี จากธุรกิจครอบครัวที่ก่อร่างสร้างตัว จนมาวันนี้ก้าวสู่องค์กรสากล ที่มีมืออาชีพมาบริหารงาน หลังการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และล่าสุดเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งเมื่อมีการโยกย้ายกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ ทำให้ถูกจับตามองว่า จะยังเดินหน้าความเป็นธุรกิจครอบครัวต่อไปหรือไม่

รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วิเคราะห์ถึงการขยับตัวครั้งนี้ของโอสถสภาว่า หลังจากที่บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถึงการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายใหญ่

จากการที่ผู้ถือหุ้น 2 รายในกลุ่ม Orizon ได้แก่ 1) Orizon Limited 2) นายเพชร โอสถานุเคราะห์ ได้เข้าทำรายการจำหน่ายหุ้นสามัญของบริษัทที่ถืออยู่โดย Orizon Limited จำหน่ายหุ้นสามัญจำนวน 261,060,475 หุ้น คิดเป็น 8.69% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัทฯ

และนายเพชร โอสถานุเคราะห์จำหน่ายหุ้นสามัญจำนวน 120,298,525 หุ้น คิดเป็น 4% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัทฯ ให้แก่ผู้ถือหุ้นโดยเฉพาะเจาะจง (Private Placement) ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564

รายชื่อผู้ถือหุ้นโอสถสภา

การจำหน่ายหุ้นสามัญดังกล่าวส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นกลุ่ม Orizon เมื่อนับรวมกันแล้วลดลงจากประมาณ 27.75% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัทฯ มาอยู่ที่ประมาณ 15.06% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัทฯ นอกจากนี้ คุณนิติ โอสถานุเคราะห์ ได้ซื้อหุ้นของบริษัทฯ เพิ่มเติมจำนวน 215,000,000 หุ้น ทำให้มีสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 23.80%

โดยการขายหุ้นของ Orizon Limited และนายเพชร โอสถานุเคราะห์ นั้นเป็นการปรับตัวตามปกติของธุรกิจครอบครัวที่ผ่านมาหลาย generation เป็น Family Business Model ที่ให้สมาชิกครอบครัวบางคนขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นหลักในบริษัทของครอบครัวแทนที่ทุกคนจะถือหุ้นใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นการสร้างความต่อเนื่องของความรู้สึกเป็น “เจ้าของที่แท้จริง”

ซึ่งหุ้นที่ขายออกมาบางส่วนคุณนิติ โอสถานุเคราะห์ สมาชิกครอบครัวและเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดก็ซื้อเอาไว้เพื่อยังคงรักษาสัดส่วนการเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดไว้ และในขณะเดียวกันก็รักษา OSP ให้เป็นธุรกิจครอบครัวต่อไปอีกด้วย หากดูรายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ OSP ประกอบจะเห็นได้ว่าเป็นคนในครอบครัว โอสถานุเคราะห์ทั้งสิ้น

แม้สมาชิกครอบครัวจะให้ข้อมูลว่าต้องการปรับตัวจากธุรกิจครอบครัวมาเป็นมืออาชีพด้วยการดึงเอาคนนอกที่มีความสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารงาน แต่หากหากดูรายชื่อกรรมการบริษัทแล้วเกือบทั้งหมดก็ยังคงเป็นคนในครอบครัว “โอสถานุเคราะห์” จากรายชื่อของคณะกรรมการบริษัทและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ OSP ก็ยังคงเป็นธุรกิจครอบครัว

กรณีศึกษา OSP เป็นธุรกิจครอบครัวที่ให้แต่ละบริษัทมีความชัดเจนของความเป็นเจ้าของ การที่ครอบครัวโอสถานุเคราะห์นำ OSP เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นอกจากต้องการสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจครอบครัวแล้วยังเป็นการสร้าง Exit ให้กับสมาชิกครอบครัวที่เป็นผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ

โอสถสภา

ที่ต้องการขายหุ้นของตนเองให้สามารถขายหุ้นในราคาตลาดและไม่ต้องเสียภาษีจากการขายหุ้นที่ถือในนามบุคคล ทำให้สมาชิกครอบครัวแต่ละคนมีสภาพคล่อง สามารถเลือกที่จะไปทำธุรกิจหรือใช้ชีวิตของตนเองแทนที่จะต้องผูกติดกับธุรกิจครอบครัวตลอดไป

อย่างไรก็ดี กลางปี 2563 โอสถสภาได้ปรับโครงสร้างการบริหารจัดการใหม่ โดยมีนายสุรินทร์ โอสถานุเคราะห์ นั่งเป็นประธานกรรมการ นายเพชร โอสถานุเคราะห์ เป็นรองประธานกรรมการ นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ เป็นประธานคณะกรรมการบริหาร นายธนา ไชยประสิทธิ์ เป็นรักษาการ CEO และนายชัชรินทร์ โอสถานุเคราะห์ เป็นรองประธานคณะกรรมการบริหาร โดยการตัดสินใจยังคงอยู่ภายใต้ตระกูลโอสถานุเคราะห์เช่นเดิม

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,669 วันที่ 11 - 14 เมษายน พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :