“กรมทรัพยากรน้ำ” ฟังเสียงชาวเมืองสุพรรณฯ ก่อนเคาะโมเดลค่าน้ำสาธารณะ (มีคลิป)

02 เม.ย. 2564 | 21:45 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มิ.ย. 2564 | 18:45 น.
850

“สุพรรณบุรี” กระหึ่ม “กรมทรัพยากรน้ำ” เดินสายรับฟังความคิดเห็นก่อนเคาะโมเดลค่าน้ำสาธารณะ  พ่วงประกาศ-กฎหมายรองฯ เห็นด้วยหรือไม่ ด้านสมาคมชาวนาฯ ผวาต้นทุนพ่ายคู่แข่ง ชงเว้นน้ำเกษตรใช้ฟรี

ที่ผ่านมาปัญหา “ทรัพยากรน้ำ" ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปีและเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขาดแคลนน้ำ การแย่งชิงน้ำ น้ำท่วม  และน้ำเสีย การดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้กระทำโดยหลายหน่วยงานตามอำนาจหน้าที่ซึ่งกำหนดไว้ในกฎหมายหลายฉบับ ทำให้การดำเนินงานแก้ไขปัญหาขาดความเป็นเอกภาพ    อีกทั้งปัญหาการบริหารจัดการน้ำยังทำให้ผู้ที่ไม่มีพลังต่อรองทางเศรษฐกิจอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ จึงต้องมีกฎหมายแม่บทเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำดำเนินการไปอย่างเป็นระบบและเป็นธรรมบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของประชาชน

 

พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ถูกประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2561 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 มกราคม 2562 โดยมีแนวคิดเด่นชัดในการบริหารจัดการทรัพยากร ซึ่งภายใต้ พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561  หมวดที่ 4 ว่าด้วยเรื่องการจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ กำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรน้ำที่เป็นธรรมและเหมาะสม โดยการใช้น้ำเพื่อการดำรงชีพจะไม่ต้องเสียค่าใช้น้ำ ส่วนการใช้น้ำเพื่อการประกอบธุรกิจหรืออุตสาหกรรม ต้องมีการจ่ายค่าน้ำเพื่อเป็นการควบคุมการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การใช้น้ำปริมาณมากที่มีผลกระทบต่อลุ่มน้ำจะต้องขออนุญาตและได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการลุ่มน้ำหรือคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติก่อน

 

เวทีรับฟังความคิดเห็น

 

วันที่ 2 เมษายน 2564 นายอธิวัฒน์ สุคนธประดิษฐ รองอธิบดี กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยว่า วันนี้ ทาง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมทรัพยากรน้ำ ร่วมกับ สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในโครงการศึกษาและยกร่างอนุบัญญัติที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. .... เพื่อสร้างความรับรู้ให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ เจ้าหน้าที่ของรัฐ คณะกรรมการลุ่มน้ำ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรภาคประชาชนในพื้นที่ องค์กรผู้ใช้น้ำ นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิ มีความเข้าใจในอนุบัญญัติและเป็นการป้องกันพร้อมลดความขัดแย้งจากการบังคับใช้อนุบัญญัติดังกล่าวในอนาคต ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรม ศรีอู่ทอง แกรนด์ จังหวัดสุพรรณบุรี

 

 

“การจัดการประชุมดังกล่าวถือเป็นการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในร่างกฏกระทรวงฯครั้งที่ 3  เป้าหมายของการประชุมจะจัดทั้งหมด 5 ครั้ง ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ โดยครั้งที่ 1 จัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ครั้งที่ 2 จังหวัดนครศรีธรรมราช ครั้งที่ 3 จังหวัดสุพรรณบุรี ครั้งที่ 4 จังหวัดขอนแก่น และครั้งที่ 5 จังหวัดปราจีนบุรี พัทยา และระยอง ซึ่งแต่ละครั้งจะนำเสนอร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับการจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ จำนวน 5 ฉบับ”

 

ประกอบด้วย 1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต อายุใบอนุญาต การขอต่อใบอนุญาต รวมทั้งการขอและการออกใบแทนการอนุญาตใช้น้ำประเภทที่สองและประเภทที่สามตามมาตรา 45 2, ร่างประกาศกรมทรัพยากรน้ำ เรื่อง แบบคำขอรับใบอนุญาตการใช้น้ำและแผนการบริหารจัดการน้ำสำหรับการใช้น้ำประเภทที่สองและการใช้น้ำประเภทที่สามตามมาตรา 47

 

3. ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าใช้น้ำประเภทที่สองและประเภทที่สาม ตามมาตรา 50 4. ร่างประกาศกรมทรัพยากรน้ำ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการติดตั้งเครื่องมือวัดหรือประเมินปริมาณน้ำ   ที่ใช้และการเก็บข้อมูลที่จำเป็นเพื่อการตรวจสอบและควบคุมการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะของผู้รับใบอนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สองและประเภทที่สาม ตามมาตรา 51 และ 5. ร่างประกาศกระทรวงแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามหมวด 4 การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ

 

 

นายอธิวัฒน์ กล่าวว่า บริบทแรกประชาชนต้องเข้าใจว่าที่วางหลักเกณฑ์และเงื่อนไขกฎหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร อย่าไปพะวงอัตราการเก็บค่าใช้น้ำ ตัวนั้นจะเป็นผลต่อมา แต่เราต้องทำความเข้าใจว่าเราใช้น้ำอย่างไรถึงจะเกิดความยั่งยืน ประโยชน์จะทำให้เกิดกับพี่น้องประชาชนทุกครัวเรือน รวมทั้งภาคเอกชนที่นำน้ำไปบริหารจัดการ

 

“ในภาพรวมกฎหมายฉบับนี้เป็นการบูรณาการร่วมกัน ระหว่างภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชน และองค์กรทุกองค์กร เพื่อสร้างความเท่าเทียม สร้างความสมดุล โดยเฉพาะเราให้ความสำคัญในเรื่องของการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ”

ธนากร ฉิมพันธ์

 

ด้านนายธนากร ฉิมพันธ์ กรรมการและประธานที่ปรึกษา สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวถึง ปัจจุบันเกษตรกรต้องเผชิญปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไวรัส “โควิด-19” และ ปัญหาภัยแล้ง ซ้ำซากหลายปี ยังไม่รู้อนาคตจะต้องเผชิญภัยแล้งมากกว่าเดิมหรือไม่ ส่วนในภาพรวมจะทำให้ภาคการผลิต จะต้องซื้อน้ำมาผลิตในภาคการเกษตร จะเป็นต้นทุนเพิ่ม และจะทำให้เพิ่มต้นทุนในการส่งออก ปัจจุบันเรากำลังแข่งขันการตลาดการค้ากับต่างประเทศตั้งแต่ต้นน้ำ ยันปลายน้ำ ก็มีความเป็นห่วง จะสู้กับคู่แข่งได้อย่างไร

 

ฐิติภณ พุ่มบรรเทา

 

เช่นเดียวกับนายฐิติภณ พุ่มบรรเทา ผู้อำนวยการบริษัท มณีรัฐ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และกรรมการบริหาร สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า การเก็บค่าน้ำประเภท2 และ ประเภท 3 ควรสำรวจ และรับฟังความคิดเห็นให้รอบคอบว่ามีผลดีผลเสียอย่างไร ส่วนประเภทที่1  ในส่วนของภาคเกษตรเห็นขอละเว้นไว้ก่อน เพราะช่วงนี้เกษตรกรประสบปัญหาข้าวราคาถูก ประสบปัญหาน้ำท่วม เผยแล้ง มีหนี้สิน ขอร้องละเว้นไว้ก่อน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มต้นทุนในกาผลิต ปัจจุบันต้นทุนการผลิตก็สูงอยู่แล้ว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง