เกมใหม่ ‘สตาร์บัคส์’  วาไรตี้ คอฟฟี่  รับ นิว นอร์มอล 

26 ก.พ. 2564 | 07:00 น.
1.8 k

“สตาร์บัคส์” เดินเกมปั้นโมเดลหลากหลาย ชู Cashless Store ไดร์ ทรู ดีลิเวอรี เสริมฟีเจอร์ Mobile Order & Pay ผ่านแอพ Starbucks® Thailand สั่งก่อนไม่ต้องรอคิว ตอบรับไลฟ์สไตล์คอกาแฟนิว นอร์มอล ประเดิมเปิดแฟลกชิพสโตร์แห่งใหม่ ใหญ่สุดในประเทศที่ไอคอนสยาม

 

กว่า 22 ปีในเมืองไทย วันนี้ “สตาร์บัคส์” พลิกผันมาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจคนไทย หลังกลุ่มไทยเบฟ เข้าซื้อกิจการตั้งแต่ช่วงกลางปี 2562 สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นเห็นจะเป็นการเพิ่มสปีดการขยายสาขาในเมืองไทย ด้วยแนวคิดความเป็น People Business Serving Coffee ตอบสนองไลฟ์สไตล์และความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ให้เป็นเสมือน Third Place ของลูกค้า รูปแบบร้านที่เกิดขึ้นจึงมีความหลากหลาย ทั้งการนั่งดื่มกาแฟที่ร้าน (Sit and Stay) แบบคลาสสิค และยังสามารถเลือกเครื่องดื่มในรูปแบบของการซื้อกลับบ้าน (On the go) หรือแบบไดรฟ์ทรู (Drive-through) และในช่องทางเดลิเวอรี่ (Delivery) ผ่านพันธมิตรอย่าง Grab Foodpanda และ LINE MAN ล่าสุด “สตาร์บัคส์” ขยับตัวแรงอีกครั้ง กับการยังเดินหน้าสู่ “ดิจิทัล” อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ รวมถึง Starbucks Cashless Store

เกมใหม่ ‘สตาร์บัคส์’   วาไรตี้ คอฟฟี่   รับ นิว นอร์มอล 

โดยสตาร์บัคส์ ทดลองให้บริการร้านสตาร์บัคส์ Cashless Store หรือสาขาที่ไม่รับเงินสด ในเดือนกันยายน 2563 เพื่อศึกษารูปแบบ พฤติกรรมลูกค้า รวมถึงพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะขยายโมเดลนี้กระจายในสาขาที่ตั้งอยู่ในเมือง ก่อนเริ่มขยาย cashless store อย่างจริงจังตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา จนปัจจุบันมี cashless store รวม 50 แห่ง อาทิ สตาร์บัคส์ สาขา Office Central World, United Center, The Market Place, 101 the Third Place, The Parq, SCB, Sun Towers ฯลฯ

ถือเป็นการตอบรับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่ ที่ลดการใช้เงินสด ขณะเดียวกันยังช่วยตอบโจทย์ลูกค้าในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ต้องการลดการสัมผัสเงินสด เพื่อความปลอดภัยจากการแพร่เชื้อโรค รวมถึงลดการจัดการเงินสดในร้าน และเพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการลูกค้าหน้าร้าน เพราะลูกค้าสามารถเลือกชำระเงินได้ผ่านบัตรเครดิต, บัตรเดบิต, QR Code, Starbucks Cards, แอพพลิเคชั่นบนมือถือ Starbucks TH, และ Starbucks Line My Card

เกมใหม่ ‘สตาร์บัคส์’   วาไรตี้ คอฟฟี่   รับ นิว นอร์มอล 

เกมใหม่ ‘สตาร์บัคส์’   วาไรตี้ คอฟฟี่   รับ นิว นอร์มอล 

เกมใหม่ ‘สตาร์บัคส์’   วาไรตี้ คอฟฟี่   รับ นิว นอร์มอล 

นอกจากนี้ในปลายปีที่ผ่านมา สตาร์บัคส์ ประเทศไทย เปิดตัว Mobile Order & Pay ฟีเจอร์ใหม่เพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าสามารถสั่งเครื่องดื่มและอาหารจากร้านสตาร์บัคส์บนแอพพลิเคชั่น Starbucks® Thailand โดยชำระเงินล่วงหน้าออนไลน์ 

นางสาวเนตรนภา ศรีสมัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท สตาร์บัคส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคระบาดที่ผ่านมา ทำให้ทุกคนต้องปรับตัวกับรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้สตาร์บัคส์ต้องปรับแผนการดำเนินงาน โดยกลยุทธ์ Go digital หรือ “เดินหน้าสู่ยุคดิจิทัล” ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลัก ที่สตาร์บัคส์ต้องการนำเสนอให้กับลูกค้า ทั้งการอัพเดทข้อมูลข่าวสารทาง Facebook Instagram และ LINE Official Account @StarbucksThailand โปรแกรมสมาชิก Starbucks® Rewards การเติม/ชำระเงินแบบไร้สัมผัส (Contactless payment) ผ่านทางแอพพลิเคชั่น Starbucks Thailand และแอพพลิเคชั่น LINE Starbucks Card

“ประเทศไทยเป็นตลาดที่สำคัญของสตาร์บัคส์และเป็นตลาดที่เติบโตดีมากในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้บริษัทยังมีแผนเดินหน้าขยายสาขาเฉลี่ย 20-30 สาขาต่อปี ในหลากหลายรูปแบบที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตใหม่ หรือ New Normal ซึ่งที่ผ่านมาสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสตาร์บัคส์เช่นกัน แต่ด้วยรูปแบบที่หลากหลายทำให้ยังสามารถให้บริการลูกค้าได้เป็นอย่างดี”

ขณะที่ธุรกิจร้านกาแฟในประเทศไทยยังคงเป็นเทรนด์ที่เติบโตได้ดี สะท้อนผ่านการเข้ามาในเซกเมนต์ของผู้ประกอบการหน้าใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมาสตาร์บัคส์มีสาขาในไทยรวม 414 แห่ง และต้นปีนี้เปิดเพิ่มแล้ว 3 แห่งคือ เดอะพาร์ค คลองเตย, ปั๊มคาลเท็กซ์ ติวานนท์ แบบไดร์ฟทรู และไอคอนสยาม ภายใต้ชื่อ  “สตาร์บัคส์ รีเสิร์ฟ เจ้าพระยา ริเวอร์ฟร้อนท์ แอท ไอคอนสยาม” ซึ่งมีพื้นที่ราว 1,200 ตร.ม. ถือเป็นสาขาที่ 417 และเป็นสาขาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่บนชั้น 7 ไอคอนสยาม

โดยสตาร์บัคส์ รีเสิร์ฟ เจ้าพระยา ริเวอร์ฟร้อนท์ แอท ไอคอนสยาม มีจุดเด่นที่เสิร์ฟ กาแฟสตาร์บัคส์ ม่วนใจ๋ เบลนด์ ซึ่งปลูกในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ในรูปแบบของเครื่องดื่มเอสเพรสโซ่แบบต่างๆ เป็นแห่งแรก-มี Teavana™ Bar แห่งแรกของประเทศไทย สำหรับกลุ่มลูกค้าที่มองหาประสบการณ์การดื่มชาหลากหลายรสชาติ มี Mixology bar บาร์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะ (ปัจจุบันยังไม่เปิดให้บริการจากมาตรการของภาครัฐ) ซึ่งเป็นโมเดลที่ถูกนำมาใช้แล้วในหลายประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น อิตาลี อเมริกา เป็นต้น นอกจากนี้ที่นี่ยังมีเมนูอาหารหลัก และเอ็กซ์คลูซีพเมนู ที่มีวางจำหน่ายเฉพาะที่นี่เท่านั้น

ปัจจุบันสตาร์บัคส์ ทั้ง 417 สาขา เแบ่งออกเป็นร้านโมเดล รีเสิร์ฟ 12 สาขา ร้านแบบมีชาทีวาน่า 1 สาขา, ร้านแบบเปิด 24 ชั่วโมง 20สาขา (ปัจจุบันยังไม่สามารถให้บริการเต็มรูปแบบได้ตามมาตรการของรัฐ) แบบไดร์ฟทรู 33 สาขา และร้านแบบไม่รับเงินสด 50 สาขา และตั้งเป้าหมายที่จะมีสาขาให้ได้ 600 สาขาภายในปี 2565

“ในปีก่อนมีร้านสตาร์บัคส์ cashless store ราว 17 สาขาแต่ในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 50 สาขา ซึ่งเป็นไปตามนโยบายผลักดันสังคมไร้เงินสด โดยลูกค้าสามารถสั่งซื้อสินค้า ล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชั่น ก่อนไปรับสินค้าที่ร้าน และจ่ายเงินผ่านแอพลิเคชั่นได้

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโต โดยสตาร์บัคส์มีแผนขยายสาขา 20-30 สาขาในแต่ละปี หลังจากนี้จะเน้นไปที่การขยายสาขาที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนให้มากที่สุด นอกจากสตาร์บัคส์ รีเสิร์ฟ เจ้าพระยา ริเวอร์ฟร้อนท์ฯ ในปีนี้เตรียมเปิดสาขาแบบไดร์ฟทรูเพิ่มอีก 10 สาขา ลดการสัมผัสและรักษาระยะห่างรวมทั้งบริการดีลิเวอรีที่มีพาร์ทเนอร์หลัก 3 รายแล้วคือ แกร็บ ไลน์แมน และฟู้ดแพนด้าด้วย” 

 

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,656 วันที่ 25 - 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564