ต่างชาติกุมส่งออก จี้ไทยปรับสมดุลลงทุน

29 ม.ค. 2564 | 03:00 น.
699

ต่างชาติกุมชะตาส่งออกไทย ปีล่าสุด ยักษ์ใหญ่ 50 อันดับแรก ล้วนบริษัทข้ามชาติ “ซีเกท” จากสหรัฐฯปาดหน้า “โตโยต้า” ญี่ปุ่นผงาดเบอร์ 1 เอกชน-นักวิชาการจี้เร่งปฏิรูปโครงสร้างส่งออกครั้งใหญ่ เพิ่มจีดีพีในประเทศเป็น 50% ลดเสี่ยงต่างชาติย้ายฐานทำเศรษฐกิจทรุด

 

ข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากรปี 2563 ไทยมีมูลค่าการส่งออก 231,468.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ขยายตัวลดลงจากปีก่อน 6% ส่วนในรูปเงินบาทมีการส่งออก 7.17 ล้านล้านบาท ขยายตัวลดลง 5.9% โดยมีบริษัทส่งออกรวมทั้งสิ้น 36,164 ราย ในจำนวนนี้บริษัทที่มีมูลค่าการส่งออกระดับแสนล้านบาท มี 5 ราย มูลค่าส่งออกรวม 630,687 ล้านบาท(สัดส่วน 8.79%), มูลค่าการส่งออกระดับหมื่นล้านบาท 108 ราย มูลค่าส่งออกรวม 2.83 ล้านล้านบาท(สัดส่วน 39.47%) , มูลค่าการส่งออกระดับพันล้าน 859 ราย มูลค่าส่งออกรวม 2.28 ล้านล้านบาท(สัดส่วน 31.85%), มูลค่าการส่งออกระดับร้อยล้าน 3,521 ราย มูลค่าส่งออกรวม 1.13 ล้านล้านบาท(สัดส่วน 15.76%) และมูลค่าการส่งออกน้อยกว่าร้อยล้าน 31,671 ราย มูลค่าส่งออกรวม 296,655 ล้านบาท (สัดส่วน 4.13%)

 

“ซีเกท” ผงาดเบอร์ 1

 

ทั้งนี้หากเจาะลึกลงไปในกลุ่มบริษัทส่งออก 50 อันดับแรก พบสัดส่วนกว่า 80% เป็นการส่งออกของบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนใช้ไทยเป็นฐานผลิตส่งออก โดยในจำนวนนี้ใน 10 อันดับแรกมีถึง 7 บริษัทที่เป็นบริษัทต่างชาติอาทิ บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี(ประเทศไทย) จำกัด(บจก.) ยักษ์ฮาร์ดแวร์จากสหรัฐฯที่ผงาดครองผู้ส่งออกอันดับ 1 (จากได้รับอานิสงส์โควิด และ work from home) แซงหน้าโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทยที่ครองอันดับ 1 ในปี 2562, บจก.เอชจีเอสทีฯในเครือเวสเทิร์นดิจิตอลจากสหรัฐฯ (อันดับ 5), บจก.ซิเลซติกาฯ จากแคนาดา(อันดับ 8), บจก.มิตซูบิชิ มอเตอร์สฯ (อันดับ 9) และบจก.เวสเทิร์น ดิจิตอลฯ (อันดับ 10) เป็นต้น

 

ขณะที่มีบริษัทสัญชาติไทยที่ติดในกลุ่ม 50 อันดับแรก เพียง 12 บริษัท โดยที่ติดในกลุ่ม 10 อันดับแรกมี 3 บริษัทได้แก่ บจก.วาย แอล จี บลูเลียน อินเตอร์เนชั่นแนล, บจก.เอ็มทีเอส โกลด์(หรือแม่ทองสุก) และ บจก.ฮั่วเซ่งเฮง คอมโมดิทัช ทั้งหมดทำธุรกิจนำเข้า-ส่งออกทองคำที่ได้รับอานิสงส์จากราคาทองที่ปรับตัวสูงขึ้นในปีที่ผ่านมา

 

 

ลุย BCG ปรับสมดุล

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า หากประเมินในกลุ่มบริษัทส่งออก 50 อันดับแรกคิดเป็นสัดส่วน 70-80% ของมูลค่าการส่งออกของไทยที่คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 70% ของจีดีพี โดย 3 บริษัทไทยที่ติด 10 อันดับแรกทำธุรกิจนำเข้า-ส่งออกทองคำที่ซื้อขายในตลาดล่วงหน้าเพื่อเก็งกำไรส่วนต่าง ไม่ใช่ภาคการผลิตที่แท้จริง ทำให้เม็ดเงินรายได้ตกถึงคนไทยไม่มาก ขณะที่รายได้ส่งออกของบริษัทข้ามชาติจะไปตกกับบริษัทแม่ในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ไทยได้เฉพาะค่าแรงรวมถึงตัวเลขการส่งออกที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงในแต่ละปี น่าห่วงว่าในอนาคตหากบริษัทบริษัทข้ามชาติย้ายฐานการผลิตจากไทยเช่นไปที่เวียดนาม ตัวเลขส่งออกของไทยจะลดลงอย่างมาก ทำให้ช่องว่างการส่งออกระหว่างไทย-เวียดนามห่างกันมากขึ้น จากเวลานี้ตัวเลขส่งออกของเวียดนามแซงไทยไปแล้ว

 

“สินค้าไทยที่ส่งออกไม่ติด 1 ใน 50 อันดับแรก สะท้อนได้ว่า ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ เช่นสินค้าเกษตร พืชไร่ที่ส่งออกในรูปวัตถุดิบ ใช้เทคโนโลนีการผลิตไม่สูง การแปรรูปไม่มาก รวมถึงเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น อีกทั้งยังได้รับผลกระทบในเรื่องของต้นทุน และด้านราคาขาย จากความผันผวนของค่าเงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่าขึ้น กระทบความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากโลกอยู่ในช่วงปรับตัวจากโควิด หลายประเทศมีการปั๊มเงินออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯจะใช้งบกระตุ้นถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ จะส่งผลให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า ค่าเงินบาทไทยจะแข็งค่าขึ้น ปีนี้มีแนวโน้มจะอยู่ในช่วงต่ำกว่า 30 บาทต่อดอลลาร์”

 

สำหรับสิ่งที่ประเทศไทยต้องกลับมาทบทวนคือการปฏิรูปโครงสร้างการส่งออก และการหารายได้ของประเทศ โดยต้องวางแผนว่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้าจะต้องลดสัดส่วนการส่งออกต่อจีดีพีลงเหลือ 50% และเพิ่มสัดส่วนจีดีพีจากในประเทศเป็น 50% จะทำให้เศรษฐกิจไทยมีความเข้มแข็งและมั่นคง ขณะเดียวกันสินค้าไทยต้องเร่งพัฒนาในการสร้างมูลค่าเพิ่ม การใช้นวัตกรรม การสร้างแบรนด์เนมตัวเอง ล่าสุดนายกรัฐมนตรีได้ประกาศที่จะผลักดันแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ.2564-2569 (Bio-Circular-Green Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว) ซึ่งตรงกับสิ่งที่ ส.อ.ท.เล็งเห็น และกำลังเป็นเทรนด์ของโลก และยังไปตรงกับทิศทางนโยบายของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ หากสามารถขับเคลื่อนได้ตามเป้าหมายจะช่วยให้เศรษฐกิจและการส่งออกของไทยจะขยายตัวได้อีกมาก


ผู้ส่งออก 10 อันดับแรก

 

6 เรื่องเร่งเหยียบคันเร่ง

 

ด้านดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เวลานี้ถือว่าบริษัทต่างชาติเป็นผู้กุมชะตาภาคส่งออกไทย สิ่งที่ผู้ผลิตส่งออกของไทยต้องกลับมาทบทวนและเร่งดำเนินการได้แก่ 1.ประเมินตัวเองว่าถ้าเอาอุตสาหกรรม 4.0 เป็นตัวตั้ง ตัวเองอยู่ตรงไหน ถึง 4.0 แล้วจริงหรือไม่ หากยังไม่ถึงต้องเร่งปรับตัว 2.ปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น 3.การบริหารจัดการให้มีต้นทุนต่ำสุดและมีผลิตภาพมากที่สุด 4.การใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยในการผลิต 5.ต้องตอบโจทย์เรื่องเศรษฐกิจ BCG ที่เป็นเทรนด์ของโลก รวมถึง 6. รัฐบาลต้องประกาศวิสัยทัศน์ หรือจุดยืนที่ชัดเจนว่าจะผลักดันสินค้าใดของไทยให้เป็นโปรดักต์แชมป์เปี้ยนในตลาดโลก และเดินหน้าขับเคลื่อนอย่างจริงจัง 

 

ที่มา : หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,648 วันที่ 28 - 30 มกราคม พ.ศ. 2564

 

SCB ชี้ ส่งออกไทยปี64 แนวโน้มขยายตัวช้า

ส่องอาหารไทย-โลก 5 กลุ่มสินค้า มาแรง!สู้โควิด

ส่งออกสินค้าไทย เตรียมรับมือไบเดน

ชู 3 กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมไทย พระเอกส่งออกปี64

“ส่งออกไทย” ปี64 มีความหวัง กลุ่มอุตสาหกรรมฟื้นตัวในรอบ22เดือน