อุดม ตันติประสงค์ชัย ผู้ก่อตั้งโอเรียนท์ ไทยแอร์ไลน์ เสียชีวิตแล้ว

17 ม.ค. 2564 | 09:40 น.
13.2 k

อุดม ตันติประสงค์ชัย ผู้ก่อตั้งและอดีตเจ้าของโอเรียนท์ ไทยแอร์ไลน์ รวมถึงสายการบินวันทูโก เสียชีวิตแล้ว หลังจากไม่นานมานี้ ศาลฯมีคำสั่งให้โอเรียนท์ ไทยแอร์ไลน์ ล้มละลาย ปิดตำนานการดำเนินธุรกิจกว่า 24ปี ของสายการบิน

อุดม ตันติประสงค์ชัย เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นอดีตเจ้าของสายการบินโอเรียนท์ ไทยแอร์ไลน์ รวมถึงสายการบินวันทูโก สายการบินต้นทุนต่ำสายแรกของไทย เสียชีวิตแล้ว ด้วยโรคหัวใจกำเริบ ด้วยวัย65ปี

 

โดยทางครอบครัว ได้สวดอภิธรรมและฌาปนกิจ ที่วัดเทพศิรินทร์ ตั้งแต่วันที่17มกราคม-24มกราคมนี้ โดยเสียชีวิตในเมืองไทย

อุดม ตันติประสงค์ชัย ผู้ก่อตั้งโอเรียนท์ ไทยแอร์ไลน์ เสียชีวิตแล้ว

 

ทางครอบครัวขอเรียนเชิญแขกที่เคารพเข้าร่วมพิธีรพน้ำศพของคุณพ่ออุดม ตันติประสงค์ชัย หากท่านไม่สะดวกที่จะเดินทางมารดน้ำศพได้ในวันนี้ ทางครอบครัวได้จัดทำการเข้าร่วมพิธีรดน้ำศพในวันนี้ เวลา 16.00-17.00 โดยผ่านลิ้งค์ที่ได้ให้มาตามนี้

Join Zoom Meeting
https://us02web.zoom.us/j/87931918256?pwd=YlhkczJLK2tkSlNWT0FWVy9zUGNadz09

Meeting ID: 879 3191 8256
Passcode: 838455

 

ทั้งนี้นายอุดม ตันติประสงค์ชัย จัดว่าเป็นนักสู้ที่บุกเบิกธุรกิจการบิน เจ็บปวดรวดร้าว ในยุคตั้งแต่ไทยยังไม่ได้เปิดเสรีการบิน โดยนายอุดมได้ก่อตั้งโอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ (อังกฤษ: Orient Thai Airlines) เปิดให้บริการเมื่อปี พ.ศ. 2538 เดิมใช้ชื่อว่า โอเรียนท์ เอ็กซ์เพรส แอร์ 

อุดม ตันติประสงค์ชัย ผู้ก่อตั้งโอเรียนท์ ไทยแอร์ไลน์ เสียชีวิตแล้ว

โดยเปิดให้บริการเที่ยวบินเส้นทางภายในประเทศระหว่างภูมิภาค ด้วยเครื่องบินแบบโบอิง 727 จำนวน 2 ลำ บินจากเชียงใหม่ไปยังอุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น ฯลฯ 

ในปลายปี พ.ศ. 2539 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ และได้นำเข้าเครื่องบินแบบล็อกฮีต แอล-1011 ไทรสตาร์ จำนวน 2 ลำ บินจากกรุงเทพมหานครไปเชียงใหม่และภูเก็ต โดยแวะพักที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ด้วยสาเหตุที่ประเทศไทยยังไม่เปิดเสรีการบิน น่านฟ้าผูกขาดโดย การบินไทย 

หลังจากนั้นสายการบิน โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ จึงได้งดให้บริการเที่ยวบินเส้นทางภายในประเทศชั่วคราว และหันไปเปิดให้บริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำร่วมกับสายการบิน กัมพูเชีย แอร์ไลน์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน และในปี พ.ศ. 2544 

เมื่อประเทศไทยเปิดเสรีการบิน น่านฟ้าไม่มีการผูกขาด สายการบิน โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ จึงได้นำเข้าเครื่องบินแบบโบอิง 747 คลาสสิก จำนวน 2 ลำ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 ได้เปิดเส้นทางไปยังฮ่องกง และในเดือนเมษายนปีเดียวกัน ได้เปิดเส้นทางไปยังโซล (อินชอน)

 ในปี พ.ศ. 2545 ได้นำเข้าเครื่องบินแบบ โบอิง 747 คลาสสิก และล็อกฮีต แอล-1011 ไทรสตาร์ มาประจำการเพิ่มเติม และได้เปิดเส้นทางเพิ่มเติมไปยังกัวลาลัมเปอร์ โดยแวะพักที่สิงคโปร์ 

หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2546 จึงได้ก่อตั้ง วัน-ทู-โก โดย สายการบิน โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ ซึ่งเป็นสายการบินราคาประหยัดสายการบินแรกของประเทศไทย ภายใต้การบริหารงานของ สายการบิน โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่

ประกอบกับหลังการเปิดน่านฟ้าเสรี มีสายการบินในไทยมากขึ้น  ทำให้สายการบินประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก มีการจอดเครื่องทิ้งหลายลำ และนายอุดม ตันติประสงค์ชัย ก็ได้ขายกิจการให้กลุ่มทุนจากจีน ได้เงินมาหลายพันล้านบาท แต่ก็ไปต่อไม่ได้

โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ได้ยุติการให้บริการเที่ยวบินทั้งหมดอย่างถาวรในปี พ.ศ. 2561 เนื่องจากถูกสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) สั่งพักใบอนุญาตทำการบินของโอเรียนท์ฯ แบบไม่มีกำหนด 

สืบเนื่องมาจากปัญหาด้านภาระหนี้สินที่โอเรียนท์ฯ ค้างจ่ายกับหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งรวมไปถึงค่าเช่าที่จอดเครื่องบินของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และค่าใช้บริการจราจรทางอากาศของวิทยุการบินแห่งประเทศไทย

อีกทั้งเมื่อวันที่4ก.ย.62 ศาลกรุงปารีส ในฝรั่งเศส อ่านคำพิพากษา  ตัดสินลงโทษจำคุก นายอุดม ตันติประสงค์ชัย นักธุรกิจชาวไทย อดีตซีอีโอสายการบิน วัน-ทู-โก  จากเหตุการณ์ที่เครื่องบินโดยสารสายการบิน วัน-ทู-โก เที่ยวบิน โอจี 269 เกิดอุบัติเหตุลื่นไถลออกนอกรันเวย์ที่สนามบินภูเก็ต เมื่อวันที่ 16 ก.ย.2550

 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 90 ราย ผู้โดยสาร 2 ใน 3 เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ศาลฝรั่งเศสมีคำตัดสินว่า นาย อุดม ตันติประสงค์ชัย มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ให้ลงโทษจำคุกเป็นเวลา 4 ปี และ ปรับเป็นเงิน 2,517,000 บาท แต่ที่ผ่านมานายอุดม ก็ยังอยูเมืองไทย เนื่องจากป่วยเป็นโรคประจำตัว

โดยในการอ่านคำตัดสิน ผู้พิพากษากล่าวว่า พบหลักฐานข้อผิดพลาดมากมายของสายการบิน และ เหตุการณ์นี้เกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์ แต่ผลสอบก็พบเช่นกันว่า นักบินทำงานเกินชั่วโมงบินต่อสัปดาห์ และ มีความเครียดสะสมจากความเหนื่อยล้าและพักผ่อนไม่พอ จึงทำให้การตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินที่แย่ลงไปด้วย รวมถึง ข้อผิดพลาดจากการฝึกอบรม ไปจนถึงการบำรุงรักษาเครื่องบินของสายการบิน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปิดตำนาน 24ปี "โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์"ศาลฯสั่งล้มละลาย

ไหวมั้ย ! 8 แอร์ไลน์ไทย ตุนสภาพคล่องถึงปี66 ยืนระยะฝ่าโควิด

สายการบินโอเรียนท์ไทย รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่