ช้อปปิ้ง “วันคริสต์มาส” อย่าลืมขอใบกำกับภาษีใช้สิทธิ์ “ช้อปดีมีคืน”

25 ธ.ค. 2563 | 03:30 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ธ.ค. 2563 | 19:47 น.

ฉลอง “วันคริสต์มาส” ช้อปปิ้ง-เที่ยว อย่าพลาดใช้สิทธิ์โครงการ “ช้อปดีมีคืน” ด้วยการขอใบกำกับภาษี เพื่อนำมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 3 หมื่นบาท  

วันนี้ 25 ธันวาคม 63 เป็นวันคริสต์มาส ที่ใครหลายคนใช้โอกาสนี้ ในการช้อปปิ้ง ซื้อของขวัญของที่ระลึก หรือ ไปเที่ยวพักผ่อนในช่วงปลายปีแบบนี้ 

 

ฐานเศรษฐกิจ เลยแว่บมาสะกิดเตือนว่าอย่าลืม มาตรการ “ช้อปดีมีคืน” ที่รัฐบาลหวังกระตุ้นให้ประชาชน อยากออกไปใช้จ่ายเงินกันมากขึ้น จึงขอเชิญชวนมาทวนความจำเพื่อไม่พลาดสิทธิ์ช้อปดีมีคืน ที่สามารถใช้สิทธิ์ได้ตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม - 31 ธันวาคม 2563

 

มาตรการช้อปดีมีคืน เป็นมาตรการรัฐที่กำหนดให้ประชาชน ผู้มีเงินได้ซี่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีจากค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการในประเทศ ได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน 

โดยผู้ที่ได้ประโยชน์จากมาตรการช้อปดีมีคืน 2563 นี้ จะต้องเป็นผู้ที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2563 ที่จะยื่นแบบภาษีในต้นปี 2564 ส่วนคนที่ไม่มีรายได้ หรือ มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี หรือ มีรายได้ถึงเกณฑ์เสียภาษีแต่มีค่าลดหย่อนอื่น ๆ ที่ช่วยให้ไม่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว จะไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ เพราะไม่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว 

 

ไม่ว่าจะซื้อช่วงนี้หรือซื้อเมื่อไร ก็ไม่ต่างกัน และหากเป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือเป็นผู้ใช้สิทธิโครงการคนละครึ่ง จะไม่สามารถใช้สิทธิ์ช้อปดีมีคืนได้อีก 

 

ส่วนสินค้าและบริการอะไรบ้างที่ใช้สิทธิช้อปดีมีคืน มีรายละเอียดดังนี้ 

-    สินค้าและบริการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม สินค้าและบริการที่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้นั้น ต้องเป็นสินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ต้องซื้อสินค้าและรับบริการจากร้านค้าที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม อย่างเช่น ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เกต ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารที่จดทะเบียน VAT 

 

-    ร้านค้าทั่วไปที่ออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปที่มีชื่อและข้อมูลของผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการได้เท่านั้น ไม่สามารถใช้ใบกำกับภาษีแบบย่อได้

 

-    หนังสือ สามารถซื้อได้ทั้งหนังสือที่เป็นสิ่งพิมพ์ ทุกประเภท (ยกเว้นนิตยสารและหนังสือพิมพ์) รวมทั้ง e-Book เพื่อเป็นการส่งเสริมให้คนไทยรักการอ่านมากขึ้น โดยต้องซื้อจากร้านที่เป็นบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล และสามารถออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปที่มีชื่อและข้อมูลของผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการหรือใบเสร็จรับเงินซึ่งมีรายการตามที่กรมสรรพากรกำหนด และมีชื่อและข้อมูลของผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการได้ 

 

-    สินค้าโอทอป (OTOP) ต้องเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว และมีหลักฐานเป็นใบเสร็จรับเงินซึ่งมีรายการตามที่กรมสรรพากรกำหนด และมีชื่อและข้อมูลของผู้ซื้อสินค้า หรือใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปที่มีชื่อและข้อมูลของผู้ซื้อสินค้า และระบุว่าเป็นรายการซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์  

 

สินค้าและบริการอะไรบ้างที่ใช้สิทธิช้อปดีมีคืนไม่ได้

-    สุรา เบียร์ และไวน์

-    ยาสูบ

-    น้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ

-    รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ

-    หนังสือพิมพ์และนิตยสาร และค่าบริการหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต

-    บริการจัดนำเที่ยว

-    ที่พักในโรงแรม

นอกจากนี้ สินค้าหรือบริการบางประเภทที่ไม่ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% อยู่แล้ว ก็จะไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ เช่น

-    ผัก-ผลไม้สดที่ยังไม่ได้แปรรูป

-    เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อปลา

-    ทองคำแท่ง

-    ค่ารักษาพยาบาล

-    ค่าทำศัลยกรรม

 

ทัั้งนี้ แม้ว่าช้อปดีมีคืน จะระบุว่าได้เงินคืนวงเงินสูงสุดถึง 30,000 บาท แต่ไม่ได้หมายความว่าจะนำมาลดภาษีได้ 30,000 บาททันที เพราะจริง ๆ แล้วต้องนำไปคำนวณภาษีตามขั้นภาษีที่เราเสียอยู่ก่อน 

 

ส่วนที่ต้องย้ำกันให้ชัด คือ หลักฐานที่ต้องใช้ในการใช้สิทธิช้อปดีมีคืนกรณีซื้อสินค้าหรือรับบริการทั่วไปจะต้องใช้ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปเท่านั้น ไม่สามารถใช้ใบกำกับภาษีแบบย่อได้ ซึ่งจะต้องมีการระบุข้อความดังนี้

 

-    คำว่า "ใบกำกับภาษี" ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด

-    ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของร้านค้าผู้ประกอบการ

-    ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ (เลขประจำตัวผู้เสียภาษี = เลขประจำตัวบัตรประชาชน)

-    หมายเลขของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)

-    ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือบริการ

-    จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการอย่างชัดแจ้ง

-    วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี

-    ข้อความอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด (ถ้ามี) เช่น คำว่า เอกสารออกเป็นชุด สำเนาใบกำกับภาษี ฯลฯ

 

ซึ่งวิธีขอใบกำกับภาษีนั้นก็ไม่ยากเลย แค่คุณยื่นบัตรประจำตัวประชาชนพร้อมใบเสร็จรับเงินให้ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการเท่านั้น ทั้งนี้ ใบกำกับภาษีต้องมีชื่อผู้ซื้อสินค้าหรือชำระค่าบริการเพียงคนเดียว ไม่สามารถนำใบกำกับภาษีที่มีผู้ซื้อสินค้าหลายคนมาหักลดหย่อนได้