หอการค้าฯเวิร์กช็อปใหญ่ กระตุ้นศก.-ท่องเที่ยวอันดามัน

30 พ.ย. 2563 | 18:59 น.

หอการค้าฯ ผนึกกำลังประชุมเชิงปฏิบัติการ ฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจเมืองท่องเที่ยวฝั่งอันดามัน ดัน Happy Model เที่ยวอารมณ์ดี มีความสุข ชู “พังงา”ศูนย์กลางผลิตและกระจายอาหาร

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นำคณะประกอบด้วย นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกิตติมศักดิ์ และรองประธานกรรมการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา  ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา พ.ต.ท.ม.ล.กิติบดี ประวิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ หน่วยงานภาครัฐจากส่วนกลาง สศช. ททท. สวทช. กรมเจ้าท่า ปยป. ร่วมกับ กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ภูเก็ต พังงา กระบี่ สตูล ระนอง ตรัง) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจเมืองท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 อย่างหนัก เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือทั้งระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการในวันนี้ได้แบ่งเนื้อหา 4 กลุ่ม โดยสรุปผลการประชุมเชิงปฏิบัติการทั้ง 4 กลุ่ม มีดังนี้

 

กลุ่ม 1 เรื่อง “ศูนย์กลาง Health & Wellness ผ่าน Happy Model”

การฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจเมืองท่องเที่ยว โดยการขับเคลื่อน Happy Model โมเดลอารมณ์ดี มีความสุข (กินดี อยู่ดี ออกกำลังกายดี แบ่งปันสิ่งดี ๆ) ผ่านกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน โดยรวบรวมข้อมูลและเรื่องราวต่างๆ เป็น Content ไว้บน TAGTHAi Platform  เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถวางแผนทริปท่องเที่ยวได้เอง และเชื่อมโยงกับ App. เป๋าตังของภาครัฐ รวมทั้งนำ Content ที่มีสร้างเป็น Creative Content เช่น ภาพยนตร์ ละคร  นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีข้อเสนอ เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยว ประกอบด้วย  

 

1.เนื่องจากเวลานี้เป็นเวลาที่เหมาะสมที่ต้องเร่งพัฒนาคุณภาพ มาตรฐาน ที่พัก โรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว สิ่งอำนวยความสะดวก และโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงรถ ราง เรือ รวมถึง การจัดผังเมือง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว

 

2.วางแผนสื่อสาร และทำการตลาด ให้ตรงตามความต้องการของนักท่องเที่ยวแต่ละ Segment แนะนำเส้นทางสถานที่ Unseen ใหม่ๆ รวมทั้งพิจารณาเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจากกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำในกลุ่มเป้าหมาย อาทิ Wellness, Long Stay, LBGT รวมทั้งการท่องเที่ยวเรือสำราญ Cruise / Yacht          

 

3.นำมาตรการเข้าประเทศอย่างปลอดภัย รวมถึง Ease of Traveling ที่เคยประกาศใช้แล้วให้ปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และเร่งปลดล็อคกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงเงื่อนไขให้เอื้อต่อการท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพและปลอดภัย เช่น การต่อวีซ่าต่างชาติ, การขอใบอนุญาตการทำโรงแรม, การใช้ประโยชน์สถานที่อุทยาน

 

4.ออกมาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ระยะเร่งด่วน เพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าในท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ต่อมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” และ “คนละครึ่ง”, เพิ่มสิทธิประโยชน์และขยายกลุ่มเป้าหมายและผู้ประกอบการ, เร่งจัดกิจกรรม “การเที่ยวข้ามภาคของหอการค้าไทย”, ส่งเสริมการท่องเที่ยวในวันธรรมดา, ส่งเสริมการประชุมและดูงานของ อบต. รวมถึงส่งเสริมกิจกรรมการจ้างงาน และมาตรการการเงิน/สินเชื่อ/ภาษี รวมทั้งการลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ประกอบการอาทิ ค่าสาธารณูปโภค (ค่าน้ำ ค่าไฟ) นอกจากนั้น มีข้อเสนอให้มีการตั้งกองทุนฟื้นฟูเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว และ การช่วยพยุงรักษาการจ้างงานโดยภาครัฐช่วยเรื่อง soft loans หรือ co-payment ให้กับผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยว

 

จากนี้จะมีการขยาย Happy Model หรือ โมเดลอารมณ์ดีมีความสุข ไปทุกจังหวัด โดยหอการค้าฯ จะร่วมมือกับภาครัฐและประชาชน โดยจะเน้นเรื่องการทำ content และการเล่าเรื่องราว (storytelling) ด้วย เพื่อเพิ่มความน่าสนใจและอยากที่จะมาเที่ยว

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ถือเป็นการส่งเสริมการประชุมข้ามภาค โดยนำผู้ร่วมประชุมจากทั้งกรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียงมาประชุมร่วมกันที่จังหวัดภูเก็ตอีกด้วย และต่อไปจะมีการโปรโมทแพคเกจร่วมกับ ททท. ในการส่งเสริมท่องเที่ยวจากกลุ่มจังหวัดภาคใต้ไปยังจังหวัดภาคเหนือหรือภาคอีสานต่อไปด้วย

 

หอการค้าฯเวิร์กช็อปใหญ่ กระตุ้นศก.-ท่องเที่ยวอันดามัน

กลุ่ม 2 เรื่อง “การพัฒนาศักยภาพกำลังคนและผู้ประกอบการ” มีข้อเสนอดังนี้

การพัฒนากำลังคน Up skill/ Re Skill/ New Skill โดยจัดหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non Degree) ในการสร้างผู้ประกอบการ และกำลังคนที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต (Lifelong Learning) เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง เช่น

 

Re Skill กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เพื่อสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ

 

Up Skill พัฒนาเกษตรกรสู่ผู้ประกอบการยุคใหม่ ที่มีทักษะ Smart Digital

 

New Skill โดยการสร้างทักษะและความเชี่ยวชาญใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

พัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ให้มีความรู้ทางธุรกิจ การเงิน และทักษะดิจิทัล

 

Digital Content สร้างทัศนคติ (Mindset) คนรุ่นใหม่ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง

 

หลักสูตรเฉพาะเจาะจงและ Advance : Tourism & Creative Economy Digital Marketing/ Digital Platform

Developer/ Business Analyst/ Travel Stylist/ Environmental Science Instructor

 

รวมทั้ง การขับเคลื่อนโครงการที่ต่อเนื่องของกระทรวงอุดมศึกษาฯ อาทิ โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย, โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่, โครงการหลักสูตรทวิภาคี เป็นต้น โดยผู้ประกอบการจะเป็นผู้ร่วมกำหนดหลักสูตร

 

หอการค้าฯเวิร์กช็อปใหญ่ กระตุ้นศก.-ท่องเที่ยวอันดามัน

 

กลุ่ม 3 เรื่อง “Value Chain อาหารในกลุ่มจังหวัดอันดามัน” มีข้อเสนอดังนี้

ขยายผลโครงการที่หอการค้าไทยขับเคลื่อนลงสู่พื้นที่ ได้แก่

 

ให้ “พังงา” เป็น “ศูนย์กลางผลิตและกระจายอาหารให้แก่กลุ่มจังหวัดอันดามัน”

 

ขยายผล Model Success Case 1 ไร่ 1 ล้าน ที่เหมาะสมกับพื้นที่จังหวัดภาคใต้ อาทิ โมเดล “น่าน กาแฟพรีเมี่ยม”/ โมเดล “โกโก้ หอการค้าฯ”/ โมเดล “เนื้อโควากิวสัญชาติไทย จังหวัดศรีสะเกษ”/ โมเดล “เนื้อโคสะเร็นวากิว จังหวัดสุรินทร์”/ โมเดล “ประมงน้ำจืดด้วยระบบไบโอฟลอค” เป็นต้น

 

ศึกษาและสร้างโมเดล Model Success Case เกษตรมูลค่าสูงเพิ่มเติม อาทิ กุ้งขาวแวนนาไม, แพะ, กุ้งมังกร

 

ขับเคลื่อน Gastronomy เชื่อมโยง Value Chain ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้แก่ สร้างองค์ความรู้ด้านอาหารพื้นถิ่น ยกระดับคุณภาพมาตรฐานของอาหารพื้นถิ่น สร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาด้านอาหารพื้นถิ่นอย่างยั่งยืน

 

ส่งเสริมเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer รวมทั้ง ส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรไปสู่อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องสำอาง ร่วมกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่และเกษตรจังหวัด

 

หอการค้าฯเวิร์กช็อปใหญ่ กระตุ้นศก.-ท่องเที่ยวอันดามัน

 

กลุ่ม 4 เรื่อง “การพัฒนา Andaman Maritime Tourism”

การพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน โดยมีเสนอที่สำคัญในการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวทางน้ำ (Cruise / Yacht/ Cross Border Ferry) ใน 7 เรื่องหลัก ประกอบด้วย 1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2) การจัดทำแผนที่เดินเรืออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรองรับการเดินเรือสำราญที่แม่นยำ 3) การปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวก 4) การส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อเนื่อง 5) การพัฒนาทักษะแรงงานรองรับการท่องเที่ยวทางทะเลโดยเรือสำราญ 6) การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยว 7) การจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและขับเคลื่อนการท่องเที่ยวทางน้ำกลุ่มจังหวัดอันดามัน 8) ผลักดันการพิจารณาภาษี Input Tax 7% สำหรับเรื่อ Super Yacht สำหรับเข้ามาทำการค้าในน่านน้ำไทย สู่การพิจารณาของกรมเจ้าท่าส่วนกลาง