รัฐ-เอกชน-เกษตรกรผนึกกำลัง ดันทำนาสู่ยุค “โดรน”

21 ต.ค. 2563 | 19:03 น.
748

รัฐ เอกชน เครือข่ายเกษตรกร ร่วมไบเออร์ไทย จัดกิจกรรมยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อย เป้า 5 หมื่นราย ทั้งด้านต้นทุน การใช้สารกำจัดศัตรูพืช การนำเทคโนโลยีโดรนมาใช้ในพื้นที่เพาะปลูก

จากวิถีชีวิตของชาวนาและภาวะเศรษฐกิจชุมชนกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ล่าสุดยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ล่าสุดงบริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด ร่วมกับมูลนิธิคลังสมองสหกรณ์ไทย จัดกิจกรรม “การฟื้นฟูธุรกิจ และเศรษฐกิจข้าวชุมชน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา” ภายใต้ โครงการ Better Farms, Better Lives  ณ โรงเรียนวัดสามบัณฑิต อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยจัดให้มีการฝึกอบรมความรู้ให้กับเกษตรกร เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริมการใช้นวัตกรรม เช่น อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) และการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ฯลฯ โดยมีเครือข่ายเกษตรกรรายย่อยเข้าร่วมกว่า 100 คน

 

นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล ประธานมูลนิธิคลังสมองสหกรณ์ไทย เปิดเผยว่า โครงการฯ นี้ มุ่งเน้นให้เกษตรกรปลูกข้าวในผืนนาที่ปลอดภัยต่อทั้งผู้ปลูกและผู้บริโภค ส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อยให้ได้ถึง 50,000 คน ครอบคลุม 25 จังหวัดหรือราว 150 ชุมชน โดยได้รับความร่วมมือจากภาคีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและเครือข่ายเกษตรกรต่าง ๆ 

 

โครงการ Better Farms, Better Lives ณ ชุมชนเกษตรสามบัณฑิต  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นการจัดกิจกรรมผ่านสถานีการเรียนรู้ที่สนับสนุนเกษตรกรในการทำนา อาทิ การปลูกข้าวปลอดภัย นวัตกรรมปลูกข้าว การใช้โดรน การสร้างเงินออม ฯลฯ โดยมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาให้ความรู้การทำการเกษตรครบวงจร อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมการข้าว สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นต้น

 

รัฐ-เอกชน-เกษตรกรผนึกกำลัง ดันทำนาสู่ยุค “โดรน”

สำหรับกิจกรรมที่เกษตรกรให้ความสนใจมาก คือสถานีให้ความรู้ โดรนเพื่อการเกษตร ช่วยเรื่องการพ่นยาปราบวัชพืชในนาข้าว ทำให้เกษตรกรประหยัดต้นทุนและเวลา ที่สำคัญคือปลอดภัย ลดความเสี่ยงในการใช้คนเดินพ่นยา

 

นายฆาแวน คำดี ประธานศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุข้าวชุมชน ตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า การใช้โดรนเพื่อการเกษตรนับเป็นนวัตกรรมที่ได้รับความนิยมหลายพื้นที่และกำลังขยายตัวรวดเร็วเพราะตอบโจทย์ชาวนา เนื่องจากการใช้โดรนพ่นยาปราบวัชพืชคิดค่าบริการไร่ละ 60-80 บาท และ 1 ชั่วโมง สามารถพ่นได้ถึง 25 ไร่  ซึ่งหากใช้แรงงานคนอาจเปลืองเวลาทั้งวัน แถมแรงงานที่จะมาทำแบบนี้ก็หาได้ยากขึ้น เทียบกันแล้วค่าแรงคนกับการใช้โดรนเท่ากัน แต่โดรนมีความปลอดภัยกว่า ไม่ต้องให้เกษตรกรไปสัมผัสสารเคมีอีกด้วย”

 

นางธนภรณ์ หงส์ทอง ประธานกลุ่มนาแปลงใหญ่ อำเภอวังน้อย และประธานสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. กล่าวว่า การทำนาให้ประสบผลสำเร็จคือต้องบริหารจัดการแปลงนาให้ดี โดยปัจจุบันมีแปลงนา 12 ไร่ เลือกปลูกพันธุ์ข้าว กข.43 น้ำตาลต่ำมาหลายปีแล้ว

 

"ข้าวพันธุ์นี้คนไทยนิยมบริโภคเพราะช่วยควบคุมน้ำตาล และเราก็คุมต้นทุนด้วย เวลาหว่านเมล็ดพันธุ์ใช้ปริมาณไม่มาก 15-20 กิโลกรัมต่อไร่ จากก่อนหน้านี้ต้องใช้ถึง 25 กิโลกรัม แถมข้าวในนาก็ไม่หนาแน่นพอมีช่องหายใจ ช่วยป้องกันศัตรูของข้าวอีกด้วย และการเป็นข้าวเพื่อสุขภาพ ราคาที่ขาย 5 กิโลกรัม 200 บาท หรือ 50 บาทต่อกิโลกรัม ถือเป็นราคาที่ชาวนาอยู่ได้” 

 

รัฐ-เอกชน-เกษตรกรผนึกกำลัง ดันทำนาสู่ยุค “โดรน”

นายสินสมุทร คงประโยชน์ ชาวนาต้นแบบอีกท่านหนึ่ง กล่าวเสริมว่า การใช้ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชอาจ ยังจำเป็นต้องใช้ต่อไป แต่ก็ควรผสมผสานกับปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ และต้องให้ความร่วมมือไม่เผาในแปลงนา ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือรวมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง 

 

ด้านนายสุทธินาท คงสมทอง ประธานศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีตำบลสามบัณฑิต ระบุถึงสาเหตุที่ชาวนาจำนวนมาก ยังไม่เปลี่ยนวิถีการทำนาแบบเดิม ๆ เป็นเพราะความ “กลัว” การปรับเปลี่ยนสู่วิถีใหม่แล้วต้นทุนจะสูงขึ้น หรือบางส่วนยังไม่ตระหนักถึงสารตกค้างในนาข้าวเท่าที่ควร ซึ่งโครงการฯ นี้ช่วยแก้ปัญหาได้

 

ขณะที่ นายประพันธ์ ตรีบุบผา นายอำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มองว่า ปัจจัยที่จะทำให้ชาวนาเข้าถึงการช่วยเหลือจากภาครัฐก็คือการรวมกลุ่มเป็น “เกษตรแปลงใหญ่” และต้องใช้เทคโนโลยีมาสนับสนุน ทั้งการปลูก การขาย และต้องเป็นการทำเกษตรที่ดีต่อคนและสิ่งแวดล้อม 

 

โครงการ Better Farms, Better Lives จัดขึ้นโดย บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด ร่วมกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมการข้าว มูลนิธิคลังสมองสหกรณ์ไทย สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โปรดิวส์ จำกัด ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยที่เผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด -19 ด้วยการมอบชุดผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ความปลอดภัยจำนวน 50,000 ชุด พร้อมโครงการการฝึกอบรมความรู้การผลิตข้าวในวิถีใหม่ด้วยเทคโนโลยีที่ปลอดภัย เกิดความยั่งยืน รวมมูลค่า 20 ล้านบาท ให้กับเกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา จังหวัดปทุมธานี สุพรรณบุรี พิษณุโลก และพื้นที่ใกล้เคียง 26 จังหวัด

 

รัฐ-เอกชน-เกษตรกรผนึกกำลัง ดันทำนาสู่ยุค “โดรน”