การบินไทย ลดเอาต์ซอร์ซ เลิกจ้างวิงสแปน 2.6 พันคน

02 ก.ย. 2563 | 11:27 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.ย. 2563 | 12:33 น.
11.2 k

การบินไทย บี้ลดต้นทุน ยืดสภาพคล่อง ล่าสุดบริษัทย่อย “วิงสแปน” เลิกจ้างพนักงาน 2.6 พันคน ส่วนโครงการ Together We Can พนักงานกว่า 1.6 หมื่นคน สมัครใจลาหยุดไม่รับเงินเดือน ทั้งเร่งหารายได้เพิ่มจากครัวการบิน-ฝ่ายช่าง ประคองตัว

       ในระหว่างที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)  รอนัดไต่สวนคำสั่งคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผน ซึ่ง ศาลล้มละลายกลาง มีนัดหมายในวันที่ 14 กันยายนนี้ และหากการบินไทยได้เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ต้องใช้เวลาอีกร่วม 3-5 เดือน ทำรายละเอียดของแผนฟื้นฟู รวมถึงการเจรจาหาแหล่งเงินจากสถาบันการเงิน โดยขอให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ เพื่อเตรียมสภาพคล่อง ในหลักหลายหมื่นล้านบาท  ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ เพื่อรีสตาร์ทธุรกิจใหม่

        ทำให้ในขณะนี้การบินไทย ต้องรักษาสภาพคล่องของการบินไทย ให้อยู่ได้นานที่สุด ทั้งในแง่ของการ ลดค่าใช้จ่ายทุกด้าน และ การสร้างรายได้เพิ่ม ในระหว่างที่ยังไม่สามารถกลับมาทำการบินได้ปกติ โดยเฉพาะการปรับลดจำนวนแรงงานภายนอก
       โดยล่าสุดบริษัทย่อยของการบินไทย คือ บริษัท วิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด ซึ่งเป็น บริษัทเอาต์ซอร์ซ ที่การบินไทยถือหุ้นอยู่ 49% ประกาศเลิกจ้างพนักงาน 2,598 คน จากจำนวนพนักงานทั้งหมดเกือบ 5,000 พันคน มีผลตั้งแต่ 1 กันยายน 2563 เพื่อให้พนักงานที่ยังคงปฏิบัติงานในปัจจุบันยังคงสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อไป

การบินไทย ลดเอาต์ซอร์ซ เลิกจ้างวิงสแปน 2.6 พันคน

        เนื่องจากผู้ว่าจ้างแรงงานหลัก คือการบินไทย ประสบปัญหาต้อง หยุดบินชั่วคราว และปัญหาทางการเงิน ทำให้มีการจ้างแรงงานน้อยมาก และยังไม่สามารถคาดการณ์ถึงการกลับมาว่าจ้างแรงงานในอนาคตเมื่อใดและจำนวนเท่าเดิมหรือไม่ วิงสแปน จึงไม่สามารถแบกรับค่าจ้าง 75% ได้ จากเงินเดือนที่ต้องจ่ายอยู่ที่ 20 กว่าล้านบาทต่อเดือน โดยที่ไม่มีงานมาไม่ตํ่ากว่า 3 เดือนแล้ว การเลิกจ้างพนักงานในส่วนของวิงสแปน ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายของการบินไทยด้วยเช่นกัน

       วิงสแปน จะจ่ายชดเชยการเลิกจ้างตามกฎหมายแรงงาน ประเมินว่าต้องใช้วงเงินราว 190 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยจ่ายเงินชดเชยตามกำหนดหมายให้พนักงานภายในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งพนักงานแต่ละคนได้รับเงินชดเชยไม่เท่ากันทุกคน เมื่อวิงสแปนฯมีเงินเหลือจากการดำเนินการก็จะทยอยจ่ายค่าชดเชยให้พนักงานที่ถูกเลิกจ้าง เช่น เดือนมกราคม 2564 ทยอยจ่ายให้คนละ 4-5 พันบาท เป็นต้น หรือหากพนักงานที่ยังไม่ประสงค์ให้เลิกจ้าง ก็ให้พนักงานแสดงความจำนงขอลาหยุดโดยไม่รับค่าจ้างเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 8 เดือน และให้ลาหยุดโดยไม่รับค่าจ้างเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน2563 เป็นต้นไป

        ทั้งนี้บริษัทวิงสแปน ถูกตั้งขึ้นมาในยุคที่ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ นั่งเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี)ของการบินไทย เพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นรัฐวิสาหกิจ ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับจัดหาบุคลากรให้กับบริษัทการบินไทยฯเพื่อปฏิบัติงานเป็นพนักงานบริการภาคพื้น ปฏิบัติหน้าที่และอำนวยความสะดวกในการให้บริการแก่ผู้โดยสารภาคพื้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายในด้านบุคลากรของการบินไทย

         สำหรับการลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรของบริษัทการบินไทย หลังจากเปิด โครงการ Together We Can ที่ขอความร่วมมือพนักงานระดับรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่(EVP) (สัญญาจ้าง) ลดเงินเดือน 70% EVP ลดเงินเดือน 50% และระดับผู้อำนวยการใหญ่ (VP) ลดเงินเดือน 40% และขอให้พนักงานร่วมมือลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือน ตั้งแต่ 1-10 วันตามฐานเงินเดือน ยาวไปถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 พบว่าผู้บริหารตั้งแต่ระดับVP ขึ้นไปราว 35 คนเข้าร่วมโครงการทั้ง 100% ขณะที่การลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือน มีพนักงานเข้าร่วมราว 80% หรือราว 1.6 หมื่นคน

การบินไทย ลดเอาต์ซอร์ซ เลิกจ้างวิงสแปน 2.6 พันคน

        การระงับการจ่ายค่าพาหนะทุกประเภทแก่พนักงานทุกระดับ การปรับลดค่าใช้จ่ายของพนักงานที่อยู่ต่างประเทศ ให้กลับมาประจำที่สำนักงานใหญ่ การชะลอการลงทุนและการจัดซื้อจัดจ้าง ที่ไม่จำเป็นและไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามปกติของบริษัท

          นอกจากนี้การบินไทยยังต้องเน้นการหารายได้เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการจัดเที่ยวบินเช่าเหมาลำเพื่อรองรับผู้โดยสารตกค้าง ให้สอดคล้องกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด รวมถึงเตรียมแผนเปิดเที่ยวบินพิเศษเช่าเหมาลำ บินตรงจาก 6 เส้นทาง ได้แก่ เดนมาร์ก เยอรมนี อังกฤษ เกาหลี ญี่ปุ่น และฮ่องกง เข้าภูเก็ต ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ รวมทั้งมีแผนที่จะทำการบินตรงจากจีนเข้าภูเก็ต เพื่อรองรับหากรัฐบาลเริ่มนโยบาย “ภูเก็ต โมเดล”

        รวมถึง THAI CARGO ยังได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อศึกษาและจัดสรรเที่ยวบินเพื่อรองรับการส่งสินค้าไปยังเมืองปลายทาง การหารายได้จากการขายของครัวการบิน ทั้งการจัดเลี้ยงนอกสถานที่ บริการดิลิเวอร์รี และโครงการ “อร่อยล้นฟ้า ไม่ต้องบิน ก็ฟินได้” เพื่อจำหน่ายอาหารเมนูพิเศษจากครัวการบินไทย ส่วน ฝ่ายช่าง ได้ทำการหารายได้เสริมจากการรับพ่นฆ่าเชื้อในเครื่องบิน และรับตรวจสอบเครื่องบินเมื่อจอดหรือจัดเก็บ เนื่องจากไม่ได้ทำการบินเพื่อให้เครื่องบินของการบินไทยเองและสายการบินลูกค้ามีความพร้อมกลับมาบินอีกครั้ง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"การบินไทย" เปิดเที่ยวบินพิเศษ 7 เส้นทางบินสู่ยุโรป-เอเชีย ก.ย.นี้
เปิดลิสต์เจ้าหนี้ 137 ราย หนุนฟื้นฟู “การบินไทย” ฉลุย
จบนัดไต่สวน “ชาญศิลป์” มั่นใจฟื้นฟู “การบินไทย” ราบรื่น
เปิดลิสต์16เจ้าหนี้ค้าน‘การบินไทย”ปม"อีวาย"บริหารแผนฟื้นฟู
“ถาวร” เปิดผลสอบ แกะปม “การบินไทย” ทำไมเจ๊ง

 ข่าวหน้า 1  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,606 วันที่ 3-5 กันยายน 2563