“ประมง” นับแสนพร้อมเดินเท้าเข้าทำเนียบ

25 ส.ค. 2563 | 01:10 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ส.ค. 2563 | 09:26 น.
6.8 k

เผือกร้อน “ปม” ประมง” ปัญหารอวันปะทุ  “ศราวุธ” ลั่น ประมง ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง แรงงาน นับแสนพร้อมเดินเข้าทำเนียบ ขณะที่ “ปัตตานี” อยากจะถอนสมอ ขายเรือทิ้งคืนรัฐ  “สมุทรสาคร” จับตาประชุมใหญ่วันนี้ พร้อมสู้ทุกรูปแบบทวงอาชีพ

ศราวุธ โถวสกุล

 

นายศราวุธ โถวสกุล ที่ปรึกษาสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2563 สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ที่มีนายกำจร มงคลตรีลักษณ์ ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เป็นประธานในที่ประชุมได้มีมติในวันที่ 28 สิงหาคม 2563 จะเข้าพบกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้รับมอบหมายจากท่านนายกรัฐมนตรีให้มาประชุมพูดคุยกับสมาคมการประมงฯ ทั้ง 22 จังหวัดว่าจะแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ ตามสิ่งที่สมาคมประมงได้มีข้อเรียกร้องเรื่องการแก้กฎหมาย พ.ร.ก.การประมงฯ และกฎหมายลูก หากไม่ได้รับการแก้กฎหมาย ขีดเส้น 7 วัน รัฐบาลจะต้องมีคำตอบ

 

“แต่หากไม่มีคำตอบ นายกสมาคม 22 จังหวัดชายทะเล พร้อมที่จะเดินไปทวงคำตอบโดยการเดินทางเท้าเข้าทำเนียบรัฐบาล ซึ่งครั้งนี้เป็นสงครามครั้งสุดท้ายแล้ว จะไม่มีการไปรวมที่หน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกแล้ว คือ ถนน ทุกเส้นที่มุ่งเข้ากรุงเทพฯ เนื่องจากเรียกร้องไปทุกครั้งจะได้แค่ยาหอม แล้วก็เหมือนเดิมไม่ได้รับการแก้ไข คือรับปากแล้วก็หายไป โดยเฉพาะการเสียค่าปรับเล็กๆน้อย ก็ 5 แสนบาท ไม่ไหว ตอนนี้ไหมไหวก็หายตายจากลงไปเรื่อยๆ แล้วถ้าไม่สู้ในรุ่นนี้ รุ่นลูก รุ่นหลานก็ทำไม่ได้ ดังนั้นต้องให้ "จบที่รุ่นเรา"

 

นายศราวุธ กล่าวอีกว่า  "ประมง" อาชีพที่หลายคนสร้างมา แต่ละคน 30-40 ปี บางคน 50 ปีก็มี พอมาโดนกฎหมายไม่เป็นธรรม ไปไม่ได้ เปรียบเหมือน รัฐบาลเดินสะดุดขาตัวเองหกล้ม เรียกว่าของอยุ่ดี แต่ทำให้เจ๊ง เรือประมงพาณิชย์จับปลา ตกเดือนละกว่า 2 หมื่นล้านบาท เฉพาะแค่การจับปลา ยังไม่รวมต้นน้ำ กลาง น้ำ ปลายน้ำ หากรวมทั้งหมดเดือนละกว่า 6 หมื่นล้านบาท ไม่ต้องทำอะไรเลย แต่กลับไปจำกัดวันทำการประมง แล้วยังไปออกระเบียบกติกา เกินเลยจากที่สหภาพยุโรป (อียู) ต้องการ เกินเลยจากความเป็นจริงแล้วสุดท้ายก็จะบอกว่าเศรษฐกิจพัง จับปลามาได้ 90% เป็นค่าใช้จ่าย เงินที่จะต้องไปจ่ายแล้วไปหมุนเวียนเศรษฐกิจ มองว่าเราทำได้ แต่ทำไมให้หยุด ทั้งที่ปริมาณสัตว์น้ำก็ได้รายงานให้อียูทราบว่าในแต่ละปีเพิ่ม10-15% แล้วผ่านมา 6 ปีแล้ว คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 80% แต่กลับให้ทำการประมงแค่ 220-240 วัน ซึ่งไม่ตรงกับหลักความเป็นจริง

ในสถานการณ์โควิด อียูก็แจ้งมาแล้วว่าถ้าเศรษฐกิจแย่ก็ให้ใช้ทรัพยากรได้อย่างเต็มที่ หรือโอเวอร์ฟิชชิ่งก็ได้ ถามว่าในขณะนี้ไม่ต้องไปหวังที่จะส่งออก เอาแค่ให้คนในประเทศรอดก่อน ถ้ามองว่าวันที่ 17-18 ธันวาคม 2562 คนมาหมื่นคน แต่คราวนี้จะมาทุกจังหวัด เพราะทุกคนมีความคิดเหมือนกันว่าจะต้องจบแล้ว ถ้าไม่จบก็ไม่ไหวแล้ว เพราะไปต่อไม่ได้แล้ว วิธีการแก้ไข ไม่ยาก แต่อย่าฝืน รัฐบาลจะต้องเข้าใจว่าประมงคือระบบเศรษฐกิจที่จะต้องไปให้ได้ เพียงแค่รับฟังความคิดเห็นแล้วต้องแก้ไข ใบเขียวที่ได้รับจากอียูก็คงเดิม ซึ่งทุกจังหวัดพร้อมแล้ว จังหวัดคนเดินเป็นเรือนหมื่น ไม่ใช่เฉพาะชาวประมงเพียงอย่างเดียว จะมีคนซื้อ โรงงานแปรรูป และคนงานไปหมด เพราะได้รับผลกระทบทั้งหมดรวมแล้วเป็นแสนคนแน่นอนที่จะเข้าร่วมกิจกรรมการเดินเท้าในครั้งนี้

กฤษณ์พสุ เจริญ

 

นายกฤษณ์พสุ เจริญ กรรมการสมาคมประมงจังหวัดปัตตานี เผยว่า วันนี้ไม่ต้องการเดินคนเดียวแล้ว เราเหนื่อย เดินมา 6 ปีแล้ว ยื่นหนังสือทุกองค์กร ทุกรัฐมนตรีที่มีส่วนร่วมเพื่อขอให้แก้ไขความเดือดร้อนของประมง ยื่นไม่รู้กี่รอบ แทนที่จะได้รับการแก้ไข กลับได้กฎหมายเพิ่ม สุดท้ายก็อยู่ในวังวนไม่จบ แล้วปัญหานี้ลุกลามทำให้ “ปัตตานี” กลายเป็นจังหวัดที่จนที่สุดในประเทศไทย เป็นไปได้อย่างไร ปัตตานีเป็นจังหวัดที่มีเรือที่มีเยอะมากที่สุดในประเทศไทย แล้ววในอดีตก่อนแก้ปัญหาไอยูยู สามารถทำรายได้ติด 1 ใน 10 ของประเทศไทย เป็นสะพานปลาที่ไม่เคยแห้ง วันหนึ่งมีปลาจำนวนมากเป็นหมื่นตัน แต่วันนี้เหลือแต่โครงสร้าง กลางวันเงียบเหงา

 

“ประมงคือต้นน้ำ จับปลามาได้ แล้วทำให้ชาวบ้านมีอาชีพ เพื่อส่งต่อรายได้ ต่อเป็นทอดๆ แต่ถ้าประมงหยุด เศรษฐกิจพังหมด  ดังนั้นจะต้องจอดเรือทันที เพราะรัฐบาลยังไม่เห็นภาพความจริงว่าถ้าไม่มีประมงพาณิชย์ จะเกิดอะไรขึ้น แต่รัฐบาลมองแต่บริษัทใหญ่ที่นำเข้ามาในปลาราคาถูก เพราะไม่มีภาษี แต่ที่ชาวประมงเจ็บปวดก็คือ นำเข้าปลาใบเหลืองและปลาใบแดง แต่รัฐพยายามให้เราได้ใบเขียว แต่เป็นการได้ใบเขียวเพื่อใคร นี่คือมติที่ประชุมสมาคมปัตตานี ที่ได้นำเสนอไปที่ประชุมใหญ่ ให้จอดเรือทันที แต่เมื่อมติที่ประชุมใหญ่ก็ขอร้องให้เจรจากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็พร้อมรับมติเสียงส่วนใหญ่พร้อมที่จะปฎิบัติตาม”

 

มงคล มงคลตรีลักษณ์

 

นายมงคล มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของประมงแต่ละจังหวัดนับจากวันที่ 28 สิงหาคม 2563 นั้นให้จับตา 7 วัน นับจากวันนั้น หากไม่มีสัญญาณตอบรับจากรัฐบาล มาตรการต่อไปเดินเท้าเรียกร้องเพราะใกล้จะหมดตัวแล้ว ตอนนี้ก็มีแต่หนี้สิน อาชีพประมงเสียหายไปหมดแล้วถ้าไม่เยียวยาก็ต้องล้มหายตายจาก ฆ่าตัวตายไปเรื่อยๆ ก็เป็นอย่างนี้ เพราะสายป่านแต่ละคนไม่เท่ากัน เรียกว่าวิกฤติซ้ำเติมวิกฤติปัญหาต่างๆ รุมเทประดังเข้ามาจนเราต้องเรียกร้อง ถ้าไม่สนใจ ไม่เหลียวแล ก็ล้มหายตายจากหมดสิ้นอาชีพไป สุดท้ายออกไม่ไหวเรือก็ต้องจอดอยู่ดี

 

“ไม่ใช่จอดประท้วง แต่ไม่มีทุนทรัพย์จะออก "จอดเพราะเจ๊ง" ส่วน "สินเชี่อประมง" ก็แค่มาต่อลมหายใจนิดหนึ่ง เพราะปัญหาหลัก ไม่ว่ากฎหมาย ราคาสัตว์น้ำตกต่ำ และแรงงงาน ยังไม่ได้ถูกแก้ไข จะกลายเป็นหนี้เน่าและหนี้เสีย ไปอีก วันนี้ต้องยอมรับว่าจะมีสักกี่คนที่กู้ได้ วันนี้ (25 ส.ค.63) จะมีการประชุมใหญ่ สมาคมการประมงสมุทรสาคร จะมีแนวทางอย่างไร อะไรบ้างที่สมาคมสามารถทำได้เลย ทำได้ก่อน เพื่อช่วยเหลือตัวเองก่อน เพราะถ้าภาครัฐยังเป็นอย่างนี้ในไม่ช้าาชาวประมงก็คงจะหมดตัวไปเรื่อย จับตา มติในที่ประชุมพร้อมสู้ทุกรูปแบบเพื่อทวงอาชีพคืนกลับมา”

 

 

รณรงค์การขายเรือ 22 จังหวัดคึก

 

“ประมง” นับแสนพร้อมเดินเท้าเข้าทำเนียบ

 

“ประมง” นับแสนพร้อมเดินเท้าเข้าทำเนียบ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มติประชุมใหญ่ "เลิกอาชีพประมง" (มีคลิป)