"สหฟาร์ม" โร่ร้องศาล อีวายยืดฟื้นฟู

30 ก.ค. 2563 | 11:10 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ก.ค. 2563 | 18:13 น.
9.8 k

สหฟาร์มจ่อร้องศาลล้มละลายกลาง 3 ส.ค. ค้านอีวายขอขยายแผนฟื้นฟูอีก 1 ปี เหตุไม่มีความคืบหน้าในการชำระคืน แม้ผ่านไป 5 ปี แต่หนี้ค้างชำระยังสูง

ความพยายามในการปลดบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด (อีวาย) ออกจากการเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท สหฟาร์ม จำกัดและบริษัท โกลเด้น ไลน์ บิสซิเนส จำกัด จะมีขึ้นอีกครั้งในวันที่ 3 สิงหาคมนี้ หลังจากที่บริษัทลูกหนี้คือ สหฟาร์ม เห็นว่า แผนฟื้นฟูภายใต้การดำเนินงานของอีวาย ไม่มีความคืบหน้า

แหล่งข่าวเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วันที่ 3 สิงหาคมนี้ สหฟาร์ม จะยื่นขอความเป็นธรรมต่อศาลล้มละลายเกี่ยวกับบริษัท อีวาย ที่จะยื่นขอขยายแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท สหฟาร์ม ออกไปอีก 1 ปี พร้อมขอให้ศาลพิจารณาให้ อีวายพ้นจากการเป็นผู้บริหารแผนฯ เนื่องจากลูกหนี้เห็นว่า การดำเนินงานภายใต้แผนฟื้นฟูดังกล่าว ที่ดำเนินงานมาร่วม 5 ปี แต่ไม่มีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจเท่าที่ควรจะเป็น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

จากรายงานแผนการชำระหนี้ของกลุ่มบริษัท สหฟาร์ม ในไตรมาส 2 ของปีที่ 5(ระหว่างวันที่ 20 พศจิกายน 2562-19 กุมภาพันธ์ 2563)พบว่า เจ้าหนี้ทั้ง 15 กลุ่ม ซึ่งมีหนี้เงินต้นรวมดอกเบี้ยอยู่ที่ 10,910 ล้านบาทเศษ ปัจจุบันมีภาระหนี้คงค้างอยู่ที่ 8,014 ล้านบาทเศษ ลดลงเพียง 2,896 ล้านบาทหรือ 36.13% โดยเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ได้รับการชำระหนี้เพียงส่วนน้อย เมื่อเทียบกับระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการบริหารแผนที่ลูกหนี้จ่าย

บริษัท สหฟาร์ม ผู้ผลิตและส่งออกไก่รายใหญ่ของไทยได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ภายใต้ศาลล้มละลายกลางเมื่อปี 2557 ภายใต้มูลหนี้รวมกว่า 20,788 ล้านบาท โดยเป็นของสหฟาร์มกว่า 10,353 ล้านบาท และบริษัท โกลเด้น ไลน์ บิสซิเนส อีกกว่า 10,435 ล้านบาท โดยมีธนาคาร กรุงไทยเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ ซึ่งศาลได้เห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 20  สิงหาคม 2558 และได้ดำเนินการตามแผนต่อเนื่องมาเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งแผนดังกล่าวจะครบกำหนดในปี 2563

\"สหฟาร์ม\" โร่ร้องศาล  อีวายยืดฟื้นฟู

ล่าสุดเมื่อ 7 พฤษภาคม 2563 อีวายได้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูฯต่อเจ้าหนักงานพิทักษ์ทรัพย์และขอขยายเวลาของแผนฟื้นฟูฯของทั้ง 2 บริษัท ออกไอีก 1 ปี เพื่อให้อีวาย บริหารกิจการของลูกหนี้ต่อไป โดยเหตุผลที่อีวายอ้างคือ แผนการฟื้นฟูกิจการไม่สามารถบรรลุเป้าหมายตามข้อกำหนด 

แผนชำระหนี้ของสหฟาร์ม กำหนดให้ต้องชำระหนี้เงินต้นให้กับเจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 (เจ้าหนี้มีประกัน) ไม่น้อยกว่า 50% ของหนี้เงินต้นคงค้าง แต่ปัจจุบันได้ชำระเพียงประมาณ 280.91 ล้านบาท หรือคิดเป็น 21.2% ของหนี้เงินต้นคงค้าง เมื่อครบกำหนดชำระหนี้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟู คาดว่าจะชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 ประมาณ 24.49% เท่านั้น จึงยังไม่ครบเงื่อนไข

ขณะที่แผนการชำระหนี้ของบริษัท โกลเด้น ไลน์ บิสซิเนส ตามแผนกำหนดให้จะต้องชำระหนี้เงินต้น ให้กับเจ้าหนี้กลุ่มที่ 1 (เจ้าหนี้มีประกัน) ไม่น้อยกว่า 70% ของหนี้เงินต้นคงค้าง ซึ่งปัจจุบันชำระหนี้ไปประมาณ 386.08 ล้านบาทหรือคิดเป็น 51.64% ของหนี้เงินต้นคงค้าง และเมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามแผนฟื้นฟูฯ คาดว่าผู้บริหารแผนน่าจะชำระหนี้ ได้ประมาณ 53.20% เท่านั้น จึงยังไม่ครบเงื่อนไขที่จะถือว่า การฟื้นฟูของลูกหนี้ดำเนินการมาเป็นผลสำเร็จ

สอดคล้องกับก่อนหน้านี้ ที่นายปัญญา โชติเทวัญ เจ้าของเดิมของสหฟาร์มได้ยื่นเรื่องต่อศาลล้มละลาย เพื่อขอให้บริษัท อีวายฯ พ้นจากการเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ โดยให้เหตุผลบริษัท อีวาย บริหารงานผิดพลาดหลายประการ ทำให้ลูกหนี้เสียหาย โดยขอเข้าเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯเอง แต่ศาลได้ยกคำร้องไป

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาบริษัท อีวาย เข้ามามีบทบาทในกระบวนการฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ในหลายบริษัท เช่น บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากลูกหนี้ ทำให้แผนฟื้นฟูฯไม่สามารถเดินหน้าได้ และล่าสุดอีวาย ยังได้รับว่าจ้างจากคณะผู้บริหารบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) 20 ล้านบาท เพื่อเข้ามาทำแผนฟื้นฟูกิจการการ แต่ได้รับรายงานจากอีวายว่า ไม่มีความเชี่ยวชาญด้านสายการบิน จึงได้เสนอที่จะว่าจ้างที่ปรึกษอีกทอดหนึ่ง เพื่อมาให้คำปรึกษาด้านสายการบิน

นอกจากนั้นสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ยังเคยดำเนินคดีกับอดีตผู้ช่วยผู้สอบบัญชีสังกัด บริษัท สำนักงาน อีวาย จำกัดกรณีนำข้อมูลร่างงบการเงินของบริษัทจดทะเบียนที่เป็นลูกค้า ซึ่งผ่านการสอบบัญชีแล้ว แต่ยังไม่ได้เปิดเผย ไปใช้ซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เกี่ยวข้องกับบริษัทจดทะเบียนรวม 12 บริษัท

หน้า 1  ฉบับที่ 3,596 วันที่ 30 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม พ.ศ. 2563