พาณิชย์ไฟเขียวต่างชาติลงทุนไทยครึ่งปีแรกพุ่ง 5 พันล้าน

12 ก.ค. 2563 | 17:53 น.

6 เดือนแรกของปี 2563 กระทรวงพาณิชย์ฯ ไฟเขียวต่างชาติลงทุนในไทยกว่า 5 พันล้าน เพิ่มขึ้น 35 %

คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เปิดเผยข้อมูลว่า ในช่วง 6 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-มิ.ย.) คนต่างด้าวได้รับใบอนุญาต จำนวน 134 ราย เพิ่มขึ้น 35% มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 5,357 ล้านบาท โดยมีต่างชาติลงทุนประกอบธุรกิจ เช่น บริการขุดเจาะปิโตรเลียม บริการให้ข้อมูลเกี่ยวกับบริการด้านการเงินและการลงทุนของบริษัทในเครือ ค้าปลีกเครื่องบดย่อยและคัดแยกขนาด (Crusher and Screening Equipment) อุปกรณ์ลำเลียงและขนถ่าย (Conveyor) อุปกรณ์แต่งแร่ (Minerals Processing Equipment) และบริการซ่อมแซมและบำรุงรักษาหอกลั่น (Tower) และเตาปฏิกรณ์ (Reactor) รวมทั้งท่อแยกแก๊ส 


ขณะที่ข้อมูลเฉพาะเดือนมิ.ย.2563 พบว่าได้อนุญาตให้คนต่างชาติ 22 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทยภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และจีน มีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจ 1,587 ล้านบาท ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 3,575 คน และมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน

พาณิชย์ไฟเขียวต่างชาติลงทุนไทยครึ่งปีแรกพุ่ง 5 พันล้าน
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว  เปิดเผยว่า ธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ประกอบไปด้วย 1.ธุรกิจบริการโดยเป็นคู่สัญญากับเอกชน จำนวน 4 ราย โดยเป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น และจีน มีเงินลงทุนจำนวน 542 ล้านบาท เช่น บริการขุดเจาะปิโตรเลียม บริการออกแบบ จัดซื้อ จัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ ก่อสร้าง ติดตั้ง และทดสอบโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม บริการออกแบบทางวิศวกรรม จัดหาวัสดุอุปกรณ์ ก่อสร้าง และติดตั้ง ทดสอบและบำรุงรักษา สำหรับโครงการก่อสร้างคลังน้ำมันเชื้อเพลิง
 

2.ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่ม จำนวน 6 ราย โดยเป็นนักลงทุนจากประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์ มีเงินลงทุนจำนวน 632 ล้านบาท เช่น บริการให้ข้อมูลเกี่ยวกับบริการด้านการเงินและการลงทุนของบริษัทในเครือที่ประเทศสิงคโปร์ บริการสนับสนุนบุคลากรไปดำเนินการตรวจสอบภายในของกลุ่มบริษัท


3.ธุรกิจนายหน้า ค้าปลีก ค้าส่ง จำนวน 7 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ฟินแลนด์ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และสิงคโปร์  มีเงินลงทุนจำนวน 181 ล้านบาท เช่น นายหน้าประกันชีวิต ประเภทการจัดการให้มีการประกันภัยโดยตรง ค้าปลีกเครื่องบดย่อยและคัดแยกขนาด (Crusher and Screening Equipment) อุปกรณ์ลำเลียงและขนถ่าย (Conveyor) อุปกรณ์แต่งแร่ (Minerals Processing Equipment) ค้าส่งกาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่ม และผลิตภัณฑ์นม เป็นต้น


4.ธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้า จำนวน 5 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากประเทศสวิส ซามัว อังกฤษ สิงคโปร์ และหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน มีเงินลงทุนจำนวน 232 ล้านบาท เช่น บริการซ่อมแซมและบำรุงรักษาหอกลั่น (Tower) และเตาปฏิกรณ์ (Reactor) รวมทั้งท่อแยกแก๊ส บริการรับจ้างผลิต วิจัยและพัฒนาชิ้นส่วนยานยนต์ ให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ บริการออกแบบพร้อมติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ รวมทั้งซ่อมแซมบำรุงรักษาสินค้าประเภทแผงโซล่าเซลล์


ส่วนการถ่ายทอดเทคโนโลยี ส่วนใหญ่เป็นองค์ความรู้ในแขนงที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญหรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการทำงานในที่อับอากาศและการถ่ายเทสารเคมีในหอกลั่นสูงที่มีความกดอากาศตามมาตรฐานยุโรป องค์ความรู้เกี่ยวกับการทำงานของเครื่องกำเนิดไอน้ำที่ใช้หลักการแลกเปลี่ยนความร้อน (HRSG system) องค์ความรู้เกี่ยวกับโปรแกรมเพื่อออกแบบและพัฒนาคุณภาพชิ้นส่วนยานยนต์ และโปรแกรมเพื่อการตรวจและทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ และองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการความเสี่ยงของสินทรัพย์ เป็นต้น