กรมปศุสัตว์เจ๋ง “คุมโรค AHS” 4 วัน เอาอยู่ ไม่มีม้าตาย

29 พ.ค. 2563 | 19:59 น.

อธิบดีกรมปศุสัตว์ยังคงคุมเข้ม เผยมาตรการออกฤทธิ์ทำให้ไม่มีม้าตายติดต่อกัน 4 วันแล้ว เฝ้าระวัง 30 วัน เร่งคืนสภาพปลอดโรคจาก OIE ให้เร็วที่สุด

วันที่ 29 พฤษภาคม 2563 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยว่า   โรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (AHS) เป็นโรคอุบัติใหม่ที่พบในประเทศไทย สร้างความเสียหายและผลกระทบแก่ผู้เลี้ยงม้าอย่างมาก เนื่องจากเมื่อม้าติดโรคแล้ว ม้ามีอัตราการตายที่สูง การติดโรคเกิดได้จากแมลงดูดเลือด เช่น ริ้น ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้ให้ความสำคัญอย่างมากและได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ ดำเนินการคลี่คลายสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อลดจำนวนม้าตายและลดความเสียหายให้เกิดน้อยที่สุดโดยเร็ว

กรมปศุสัตว์เจ๋ง “คุมโรค AHS” 4 วัน เอาอยู่ ไม่มีม้าตาย

สถานการณ์การระบาดของโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness: AHS) จากการสำรวจในประเทศไทย มีผู้เลี้ยงม้าจำนวน 2,987 ราย ม้าจำนวน 16,890 ตัว พบการเกิดโรคในพื้นที่ 12 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ชลบุรี ชัยภูมิ ราชบุรี สระแก้ว สระบุรี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา นครนายก และฉะเชิงเทรา มีม้าป่วยสะสมจำนวน 592 ตัว มีม้าตายจำนวน 550 ตัว (ข้อมูล ณ วันที่ 28 พฤษภาคม 2563) เกิดโรคมากที่สุดที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบันสามารถคุมโรคได้ในวงพื้นที่จำกัด ทั่วประเทศไม่พบรายงานม้าตายติดต่อกัน 4 วันแล้ว กรมปศุสัตว์ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมมือร่วมแรงกันในครั้งนี้ ทำให้สามารถคลี่คลายสถานการณ์คุมโรคได้วงจำกัดภายในระยะเวลาเพียง 2 เดือน จากการดำเนินงานด้านต่างๆ ดังนี้

1. การแต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานต่างๆ เพื่อดำเนินการ 6 คณะ โดยครอบคลุมการดำเนินงานทั้งหมด (ม้า ม้าลาย แมลงพาหะ การใช้วัคซีน ด้านวิชาการ และด้านลงพื้นที่ภาคสนาม)

2. แผนปฏิบัติการกำจัดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า เพื่อคืนสภาพปลอดโรคของประเทศไทย ภายใน 2 ปี ประกอบด้วย 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 คือระยะเผชิญเหตุ (กำลังอยู่ในระยะนี้) ซึ่งถ้ายังไม่พบรายงานการเกิดโรคและการตายของม้า ต่อเนื่องอีก 30 วัน จะสามารถเข้าระยะที่ 2 คือการเฝ้าระวังและป้องกันการเกิดโรคอุบัติซ้ำ และระยะที่ 3 คือการขอคืนสภาพปลอดโรคจากองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE)

กรมปศุสัตว์เจ๋ง “คุมโรค AHS” 4 วัน เอาอยู่ ไม่มีม้าตาย

3. การฉีดวัคซีนป้องกันโรค AHS ในม้า ในพื้นที่ 19 จังหวัด ภายในรัศมี 50 กิโลเมตรรอบจุดเกิดเหตุ ดำเนินการแล้ว 5,076 ตัวจากเป้าหมาย 7,999 (คิดเป็นร้อยละ 63.45) ข้อมูลวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ย้ำชัดวัคซีนมีปริมาณเพียงพอและมีประสิทธิภาพแน่นอน

 4. ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดสัตว์ชนิดอื่น โดยเพิ่มเติมให้ ม้าลายและรวมถึงสัตว์ในวงศ์อีไควดี เป็นสัตว์ภายใต้ พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2563 เพื่อควบคุมตรวจโรคในสัตว์ป่าที่ประกาศเพิ่มเติมได้ตามอำนาจหน้าที่ใน พรบ.

5. ขั้นตอนการนำเข้าม้าลายก่อนและหลัง วันที่ 8 เมษายน 2563 โดยการทำงานร่วมกันระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมศุลกากร

6. ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง แต่งตั้งสัตวแพทย์ตาม พรบ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ประกาศราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2561 โดยแต่งตั้งให้นายสัตวแพทย์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นสัตวแพทย์ตาม พรบ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 โดยมีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการเฉพาะในส่วนของสัตว์หรือซากสัตว์ ประเภทสัตว์ป่า

กรมปศุสัตว์เจ๋ง “คุมโรค AHS” 4 วัน เอาอยู่ ไม่มีม้าตาย

7. การสำรวจม้าลายในประเทศไทยจำนวน 541 ตัว ผู้เลี้ยงม้าลาย 24 ราย จึงได้กำหนดแนวทางปฏิบัติในการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันโรค AHS การสำรวจติดตามโรค วางยาสลบและเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อส่งวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ เฝ้าระวังโรคในสัตว์ที่เป็นตัวบ่งชี้การระบาดของโรค เช่น ม้า ลา ล่อ มีมาตรการด้านการขนส่งหรือเคลื่อนย้ายสัตว์ การควบคุมแมลงพาหะ โดยขณะนี้ได้ลงพื้นที่สุ่มเก็บตัวอย่างเลือดในม้าลายเสร็จสิ้นภายในสัปดาห์หน้า ส่งเลือดตรวจที่สถาบันสุขภาพแห่งชาติ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเมื่อทราบผลจะพิจารณาเพื่อสอบสวนสาเหตุทางระบาดวิทยาต่อไป

ทั้งนี้ สถานการณ์ที่สามารถคลี่คลายในระยะเวลาอันสั้นนี้ ต้องขอขอบคุณ ความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ เอกชน สมาคม มหาวิทยาลัย และที่สำคัญที่สุดความร่วมมือจากผู้เลี้ยงม้าทุกรายที่ทำตามมาตรการ โดยขอแสดงความเสียใจกับผู้เลี้ยงม้าที่เสียหายทุกคนด้วย และขอความร่วมมือผู้เลี้ยงม้าอย่าทำการเคลื่อนย้ายม้า เพื่อจะได้ลดความเสี่ยงในการเกิดโรค สามารถเข้าสู่ระยะเฝ้าระวัง และขอคืนสภาพปลอดโรคโดยเร็ว ซึ่งจะมีมาตรการผ่อนปรนในบางพื้นที่ที่คุมโรคได้อย่างเหมาะสม หากพบการเจ็บป่วยหรือตาย แจ้งสายด่วนกรมปศุสัตว์ทันทีที่ 063-2256888