ถก 6 เดือนเหลว สหรัฐเดินหน้า “ตัด GSP ไทย”

26 เม.ย. 2563 | 12:41 น.
อัปเดตล่าสุด :26 เม.ย. 2563 | 15:45 น.
26.5 k

สหรัฐฯเดินหน้าตัด GSP สินค้าส่งออกไทย 573 รายการ มูลค่า 40,000 ล้านบาท ต้องเสียภาษีนำเข้าสหรัฐฯเพิ่มขึ้นจากเดิม โดยเฉลี่ยทุกสินค้าประมาณ 4.7%

จากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ได้ลงนามในคำสั่งเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562 ระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(GSP)สินค้าไทย 573 รายการ หรือ 1 ใน 3 ของสินค้าไทยที่ยังได้รับสิทธิ GSP จากสหรัฐฯประมาณ 1,300 รายการ อาทิ สินค้าประมง อาหารทะเล  ผัก ผลไม้ เมล็ดพันธุ์ น้ำเชื่อม น้ำตาล ซอสถั่วเหลือง น้ำผัก น้ำผลไม้ อุปกรณ์เครื่องครัว ประตูหน้าต่าง ไม้อัด ไม้แปรรูป ดอกไม้ประดิษฐ์ ตะกร้า เครื่องประดับ ทอง เหล็ก สแตนเลส เป็นต้น โดยจะมีผลบังคับใช้ในอีก 6 เดือน หรือในวันที่ 25 เมษายน 2563

สหรัฐฯอ้างเหตุผลหลักที่ตัดสิทธิจีเอสพีไทยครั้งนี้เนื่องจากไทยมีปัญหาด้านการคุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานระหว่างประเทศ ขณะมุมมองจากหลายฝ่ายของไทยระบุการตัดจีเอสพีของสหรัฐฯครั้งนี้มาจากเหตุผลที่หลากหลาย แต่ส่วนใหญ่โฟกัสว่าเป็นผลจากสั่งแบนสารพิษของไทยที่ทำให้ผู้ค้ารายใหญ่ที่เป็นนายทุนของรัฐบาลสหรัฐฯ เสียประโยชน์  รวมถึงผลจากไทยไม่ยอมเปิดให้มีการนำเข้าเนื้อสุกรที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงของสหรัฐฯ ที่เรียกร้องมาหลายปี

 อย่างไรก็ดีการถูกตัดสิทธิครั้งนี้จะกระทบสินค้าไทยในกลุ่มข้างต้นที่มีมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 40,000 ล้านบาท ต้องเสียภาษีนำเข้าสหรัฐฯเพิ่มขึ้นจากเดิม โดยเฉลี่ยทุกสินค้าประมาณ 4.7% คิดเป็นยอดภาษีรวมประมาณ 1,500-1,800 ล้านบาท

แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมามีความพยายามของฝ่ายไทยในการขอเจรจากับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ(USTR) เพื่อขอให้มีการพิจารณาทบทวน หรือเลื่อนการบังคับใช้ออกไปก่อน แต่ความคืบหน้าล่าสุด สหรัฐฯยังยืนยันในการเดินหน้าตัดสิทธิจีเอสพีสินค้าไทย 573 รายการ มีผลตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2563 เป็นต้นไปเช่นเดิม

โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ

                                               

- 6 เดือนยันไทยสู้เต็มที่แล้ว

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า นับแต่สหรัฐฯประกาศตัดสิทธิจีเอสพีไทยเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562 ทางกรมการค้าต่างประเทศและทีมไทยแลนด์ได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ในการขอเจรจากับสหรัฐฯ โดยเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2562 ได้มีการเจรจาผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์กับยูเอสทีอาร์

ในครั้งนั้นฝ่ายสหรัฐฯระบุต้องการให้ไทยปรับปรุงแก้ไขกฎหมายด้านแรงงาน แต่การดำเนินการของฝ่ายไทยยังไม่คืบหน้า โดยอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานชี้แจงว่า รัฐบาลไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญา 2 ฉบับ

แต่อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการ(ได้แก่ อนุสัญญาฉบับที่ 87 ว่าด้วยเรื่องของการรวมตัวกันเป็นสมาคม(ให้คนต่างด้าวสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีการประชาพิจารณ์เพื่อแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ปี 2518) และอนุสัญญาฉบับที่ 98 ว่าด้วยการรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรอง) แต่เนื่องจากทั้ง 2 เรื่องยังอยู่ในขบวนการขั้นตอนทางกฎหมายของไทยที่ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ และคงดำเนินไม่แล้วเสร็จก่อนเดือนเมษายน 2563

กีรติ  รัชโน

                                                    กีรติ  รัชโน    

ยันคำเดิมตัด GSP ไทย

“หลังจากวีดีโอคอนเฟอเรนซ์กันในครั้งนั้น เขาบอกถ้ามีความคืบหน้าแล้วค่อยมาคุยกัน และไม่เปิดโอกาสให้ไทยเข้าหารืออีก แต่เราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจได้ให้ทูตพาณิชย์ที่วอชิงตัน และทีมไทยแลนด์พยายามติดต่อเจรจากับยูเอสทีอาร์หลายครั้ง ซึ่งนายโรเบิร์ต ไลท์ไทเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯได้ตอบกลับมาว่าขบวนการพิจารณาได้เสร็จสิ้นและจบลงแล้วตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2562 ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามในคำสั่งตัดสิทธิจีเอสพีไทยและไม่ขอคุยอีก”

ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้ก็คือ การเตรียมการรองรับผลกระทบ โดยเดือนกุมภาพันธ์ 2563 กรมการค้าต่างประเทศได้ทำหนังสือสอบถามไปยังภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยประมาณ 50 ราย ได้รับตอบกลับมาประมาณ 30 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีระบุว่าได้รับผลกระทบ

โดยกระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือไว้แล้วทั้งด้านการเงิน ผ่านทางธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(ธสน./เอ็กซิมแบงก์) และร่วมมือกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในการดำเนินการเพื่อขยายตลาดใหม่ ๆ ได้แก่ อเมริกาเหนือ เอเชียใต้ อินเดีย  รวมถึงการใช้สิทธิพิเศษจากความตกลงการค้าเสรี(เอฟทีเอ)ที่ไทยมีกับประเทศต่าง ๆ ในการช่วยขยายตลาดส่งออก เป็นต้น

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 ได้นำผู้ประกอบการทั้ง 50 ราย ทั้งที่ระบุว่าได้รับผลกระทบและไม่ได้รับผลกระทบเข้าร่วมเสวนา “ตัดสิทธิ GSP : SMEs รับมืออย่างไร” เพื่อรับฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่มาให้ข้อมูลถึงสถานการณ์การตัดสิทธิจีเอสพีของสหรัฐฯ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงโอกาสและทางเลือกในการหาตลาดใหม่ ๆ

ถัดมาวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 ได้จัดกิจกรรมเอ็กซ์ปอร์ตคลินิก นำผู้ประกอบการทั้ง 50 รายไปพบกับทูตพาณิชย์ที่ประจำการอยู่ในประเทศต่างๆ เพื่อพบปะสร้างความรู้จัก แลกไลน์และข้อมูลในการติดต่อประสานงาน เพื่อรับทราบความต้องการของภาคเอกชนและช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด

ถก 6 เดือนเหลว สหรัฐเดินหน้า “ตัด GSP ไทย”

เฮือกสุดท้ายไม่เป็นผล

ขณะที่ช่วงกลางเดือนมีนาคม หลังไวรัสโควิด-19 มีการระบาดอย่างรุนแรง ทางกรมได้ทำหนังสือให้ท่านจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เซ็นลงนาม ส่งถึงยูเอสทีอาร์เพื่อขอให้พิจารณาเลื่อนการบังคับใช้การตัดสิทธิจีเอสพีสินค้า 573 รายการของไทยออกไปก่อน เนื่องจากทั้งสองฝ่ายต่างได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวมถึงได้ไปล็อบบี้ 17 สมาคมผู้นำเข้าสินค้าของสหรัฐฯที่เป็นลูกค้าของเราให้ช่วยเป็นกระบอกเสียงในการยับยั้งครั้งนี้ แต่ทางยูเอสทีอาร์ก็ตอบปฏิเสธมา โดยระบุว่าเราไม่ได้ดำเนินการในสิ่งที่เขาต้องการ และย้ำมาอีกว่าขบวนการพิจารณาของสหรัฐฯได้เสร็จสิ้นลงแล้วตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2562

ดังนั้นถือว่าการบังคับใช้ในการตัดสิทธิจีเอสพีสินค้าไทย 573 รายการตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2563 ได้มีผลอย่างสมบูรณ์แล้ว ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยก็ได้ใช้ความพยายามในการดำเนินการเพื่อให้สหรัฐฯทบทวนในเรื่องนี้อย่างเต็มที่แล้ว ขอให้ผู้ประกอบการทำใจ เพราะการให้สิทธิจีเอสพีเป็นการให้ฝ่ายเดียว และเขาก็ให้มานานแล้ว ดังนั้นเราต้องปรับตัวเองเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและหาช่องทางในการขยายตลาดใหม่ ๆ ร่วมกับภาครัฐต่อไป