พาณิชย์แนะผู้ประกอบการ เจาะตลาดสุขภาพออนไลน์ในจีน

10 เม.ย. 2563 | 15:02 น.

สนค. เผยผลสำรวจแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคของชาวจีนหลังโควิด-19แนะผู้ประกอบการไทยเจาะตลาดเพื่อสุขภาพออนไลน์ - แพจเกจขนาดใหญ่ ถูกสุขอนามัยสำหรับบริโภคหลายวันจะได้รับความนิยม หลังชินกับการซื้อของตุนหลายวันช่วงโควิด

น.ส. พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า แนวโน้มพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของชาวจีนที่มีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงไปต่อเนื่องภายหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ประกอบไปด้วย 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.ผู้บริโภคจะแสวงหาการรับรองสุขลักษณะและความปลอดภัยของอาหารมากขึ้น 2.ผู้บริโภคสูงวัยเข้าใจการค้าปลีกมากขึ้นมีการเริ่มหัดใช้เทคโนโลยีการซื้อของออนไลน์และการใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งบริษัทผู้ผลิตเองก็จะใช้โอกาสนี้ในการปรับปรุงรูปแบบ  การนำเสนอสินค้าให้เหมาะสมกับประชากรสูงวัยมากขึ้นเช่นเดียวกัน และ 3.รูปแบบการซื้อสินค้าที่เป็นหีบห่อหรือ แพคเกจขนาดใหญ่ อาจจะยังได้รับความนิยมต่อไป แต่การซื้อสินค้าครั้งละจำนวนมาก ๆ คาดว่าจะปรับกลับไปสู่การซื้อในรูปแบบเดิมซึ่งทั้งหมดนี้เป็นประเด็นที่ผู้ส่งออกและผู้ประกอบการไทยที่ค้าขายกับตลาดจีนควรทราบและหาวิธีปรับตัวรองรับต่อไป เพื่อให้สินค้าไทยยังเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าชาวจีนเช่นที่เคยเป็นมา

พาณิชย์แนะผู้ประกอบการ  เจาะตลาดสุขภาพออนไลน์ในจีน

“เช่นเดียวกัน เช่น ผู้บริโภคชาวไทยจะนิยมการสั่งสินค้าออนไลน์มากขึ้น ร้านค้าต้องใช้เทคโนโลยีเป็น การจ่ายเงินจะเป็นเงินสดน้อยลง และอื่น ๆ อีกหลายอย่าง ซึ่งผู้ประกอบการทั้งรายเล็กรายใหญ่คงจะต้องปรับตัวรองรับให้ได้ในอนาคตอันใกล้นี้” น.ส. พิมพ์ชนกกล่าว

 

พาณิชย์แนะผู้ประกอบการ  เจาะตลาดสุขภาพออนไลน์ในจีน

ทั้งนี้ จากการสำรวจข้อมูลของบริษัทมินเทล (Mintel) บริษัทวิจัยการตลาดระดับโลก โดยทำการสำรวจจาก 8 เมืองสำคัญของจีนคือ เซี่ยงไฮ้ เหอเฝย หวูหู หยิ่งช่าง เสินเจิ้น ถงหลู ไต้ชาน ยานไถ ผลการสำรวจฯ พบว่าผลการสำรวจที่น่าสนใจ คือ ผู้บริโภคจำเป็นต้องหันมาซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น และร้านค้าปลีกในชุมชนต้องปรับมาใช้วีแชท (WeChat) ในการสื่อสารซื้อขายสินค้ากับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งคาดว่ารูปแบบการซื้อขายเช่นนี้จะยังคงอยู่ในชุมชนชาวจีนหลังจากที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผ่านพ้นไปแล้ว นอกจากนี้ ผู้บริโภคจะมุ่งเน้นการซื้อขายสินค้าไปที่อาหารสด เช่น ผัก ผลไม้ และเนื้อสดมากขึ้น เพราะคิดว่าดีต่อสุขภาพมากกว่าสินค้าที่ตั้งอยู่บนชั้นวางของมานาน รวมทั้งก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาหารที่ถูกสุขลักษณะไม่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากนักแต่หลังจากนั้น ร้านอาหารขนาดใหญ่ ได้ยกระดับการสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้บริโภคมากขึ้นด้วยการบันทึกและแจ้งอุณหภูมิร่างกายของพนักงานและจำนวนครั้งของการล้างมือของพนักงานในครัวและพนักงานส่งของทุกครั้ง

พาณิชย์แนะผู้ประกอบการ  เจาะตลาดสุขภาพออนไลน์ในจีน

เพื่อให้ผู้บริโภคมีความไว้ใจในสินค้าที่กำลังจะบริโภค สำหรับพัสดุที่ส่งมายังประชาชนในชุมชน ก็จะถูกวางไว้ในบริเวณนอกชุมชน จากนั้นเจ้าหน้าที่จัดการพัสดุก็จะจัดวางพัสดุตามหมายเลขห้องพัก และทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคพัสดุทุกชิ้น สินค้าอาหารสดก็เช่นกัน จะถูกวางแยกบนชั้นวางของเพื่อให้ประชาชนมาเลือกหยิบไป รวมทั้งพบว่าก่อนจะมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ประชากรผู้สูงอายุในจีน (อายุเกิน 55 ปี) มีเพียง 12%ที่ซื้อของออนไลน์ โดยให้เหตุผลว่าหน้าจอเว็บต่าง ๆ เข้าถึงยาก แต่ถ้าเป็นการสื่อสารง่ายๆ อย่าง WeChat ก็ทำให้ผู้สูงอายุสื่อสารได้ง่ายขึ้น จากการสำรวจของบริษัท Mintel ช่วงเดือนก.พ.  2563 พบว่า 31 %ของผู้สูงอายุในจีน ใช้โปรแกรม WeChat ในการหาข้อมูลอาหารเพื่อสุขภาพ ทั้งนี้ ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ร้านค้าปลีกในชุมชนใช้ WeChat ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลสินค้าที่มีการวางขาย โดยใช้รูปภาพและวิดีโอเป็นสื่อนำเสนอ นอกจากนี้ ชาวไร่ชาวสวนยังรวมกลุ่มกันหาลูกค้าผ่านทาง WeChat ซึ่งลูกค้าที่รวมกลุ่มกันซื้อสินค้า ก็จะได้รับสินค้า  ในราคาพิเศษอีกด้วย พฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปอีกประการหนึ่ง คือก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผู้คนส่วนใหญ่   ซื้อสินค้าให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคเพียงแค่สองสามวันเท่านั้น แต่หลังการแพร่ระบาดฯ และได้รับคำแนะนำให้อยู่ภายในที่พัก ประชาชนหันมาเลือกซื้อสินค้าในจำนวนมากขึ้นในแต่ละครั้ง เพื่อให้เพียงพออย่างน้อยหนึ่งอาทิตย์ข้างหน้า ซึ่งรูปแบบการบริโภคเช่นนี้ คาดว่าจะอยู่ในสังคมจีนต่อไปหลังจากสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติแล้ว โดยคาดว่าในอนาคตสินค้าที่ขายในรูปแบบแพคเกจขนาดใหญ่จะได้รับความนิยมมากขึ้น

พาณิชย์แนะผู้ประกอบการ  เจาะตลาดสุขภาพออนไลน์ในจีน