I.C.C ชูนวัตกรรม  หน้ากากผ้า นาโน ซิงค์

11 เม.ย. 2563 | 07:29 น.
อัปเดตล่าสุด :11 เม.ย. 2563 | 15:54 น.
4.3 k

ไอ.ซี.ซี.ฯ ชูนวัตกรรมนาโน ซิงค์ ผลิตหน้ากากอนามัยแบบผ้า Becky Russell ช่วยป้องกันโควิด-19 เผยกระแสตอบรับดี เตรียมเพิ่มไซซ์ S M L พร้อมแตกไลน์ดีไซน์แฟชั่น  

 

นางรมิดา รัสเซลล์ มณีเสถียร กรรมการบริหารและผู้อำนวยการฝ่ายบูติคสตรี บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และกรรมการผู้จัดการ บริษัทไหมทอง จำกัด ผู้ผลิตหน้ากากอนามัยแบบผ้าภายใต้แบรนด์ “Becky Russell” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติโควิด-19 บริษัทจึงปรับสายงานการผลิตเสื้อผ้าแฟชั่น มาผลิตหน้ากากอนามัยแบบผ้าแทน ซึ่งนอกจากจะช่วยให้มีหน้ากากอนามัยแบบผ้าเพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภคแล้ว ยังช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับพนักงานในช่วงที่กลุ่มธุรกิจแฟชั่นเสื้อผ้าชะลอตัว จากการที่ห้างปิดให้บริการจำนวนมาก

 

สำหรับหน้ากากอนามัยแบบผ้า Becky Russell นี้ มีจุดเด่นที่นวัตกรรมที่บริษัทคิดค้นและพัฒนาขึ้น โดยผลิตจากผ้าสาลู ซึ่งเป็นผ้าที่ผลิตมาจากเส้นใยคอตตอน (cotton) ผสมกับเส้นใย โพลีเอสเตอร์ นาโน ซิงค์ (polyester nano zinc) ซึ่งเป็นเส้นใยที่เกิดจากการผสมกันแบบ embed (การฝังลงในเส้นด้ายโพลีเอสเตอร์) ไม่ใช่แบบ coating (การเคลือบบนผิวผ้า) จนทำให้เนื้อผ้ากลายเป็น permanent anti bacteria มีคุณสมบัติสามารถยับยั้งแบคทีเรียที่ดื้อยา (MRSA) 99.9% เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเมื่อนำมาใช้แล้วสามารถซักและนำกลับมาใช้งานได้ใหม่ และ Anti-odor ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวได้รับการทดสอบการต้านเชื้อจากสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (Thailand Textile Institute หรือ THTI) ของประเทศไทย และสถาบันประเมินคุณภาพโบเก้น (Boken Quality Evaluation Institute) จากประเทศญี่ปุ่น

 

รมิดา รัสเซลล์ มณีเสถียร

 
 

 

“เป็นจังหวะดีที่บริษัทมีนวัตกรรม polyester nano zinc อยู่ในมือและใช้ในการผลิตเสื้อผ้าของเครือสหพัฒน์อยู่แล้ว จึงนำมาใช้ผลิตเป็นหน้ากากอนามัยแบบผ้า โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิต 7,000 ชิ้นต่อเดือน ซึ่งนอกจากคุณสมบัติต่างๆ ข้างต้น ยังสามารถนำไปซักและกลับมาใช้งานได้มากกว่า 100 ครั้ง และเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้บริโภคคนไทยจึงจำหน่ายในราคาชิ้นละ 40 บาทเท่านั้น”

 

จากกระแสตอบรับที่ดี ทำให้บริษัทมีแผนพัฒนาสินค้าโดยเพิ่มไซส์ S M L ให้มีความหลากหลายสามารถสวมใส่ได้ทุกคนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ นอกจากนี้จะผลิตในรูปแบบฟังก์ชันนอล อิน แฟชั่น โดยเติมสีสัน เพื่อสร้างความสดใส และไม่จำเจให้กับผู้ใช้ ขณะที่ช่องทางการจำหน่ายสามารถสั่งซื้อได้ที่ เว็บไซต์ FashionDooDee.com และ Thailandbest

 

 

“การผลิตหน้ากากอนามัยแบบผ้าออกวางจำหน่าย ไม่ได้มุ่งหวังกำไรเป็นหลัก จึงขายในราคาเพียง 40 บาทเท่านั้น แต่เป็นการช่วยระบายสต๊อกผ้าที่มีอยู่ และยังสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับพนักงาน ในช่วงเกิดวิกฤตินี้ ล่าสุดบริษัทยังได้ส่งมอบหน้ากากอนามัยแบบผ้านี้ให้กับโรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อนำไปใช้ในกิจการทางการแพทย์ด้วย”

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,564 วันที่ 9-11 เมษายน 2563