ร้อง‘บิ๊กตู่’ ช่วย อียูเบรกเรือไทย อ้างเคยติดคดีห้ามทำประมง

21 ม.ค. 2563 | 10:00 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ม.ค. 2563 | 18:40 น.
1.7 k

ประมงนอกน่านนํ้าช็อก อียูเบรกกลางอากาศไม่ให้ออกทำประมง อ้างเรือเคยติดคดี กระทบชิ่งแบงก์ไม่ปล่อยกู้ วงในเผยไทยกลัวโดนใบเหลืองรอบ 2 หลังอียูหมายหัวปานามา แนะร้อง “ประยุทธ์” หาทางช่วย

 

ปลายปี 2562 สหภาพยุโรป (อียู) ขู่จะให้ใบเหลืองสาธารณรัฐปานามาเป็นครั้งที่ 2 โดยคณะกรรมาธิการยุโรปได้แจ้งให้ปานามาทราบถึงความเสี่ยงที่จะถูกระบุว่าเป็นประเทศที่ไม่ร่วมมือในการต่อสู้กับการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) จากครั้งแรกเคยได้รับใบเหลืองในเดือนพฤศจิกายน 2555 และถูกยกเลิกในตุลาคม 2557 ซึ่งในส่วนของไทยแม้จะได้รับการปลดใบเหลืองแล้ว แต่ก็ยังต้องระมัดระวังเช่นกัน

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการประมงนอกน่านนํ้าไทย เผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ปัจจุบันมีเรือประมงไทยที่ได้รับใบอนุญาตออกไปทำการประมงนอกน่านนํ้าจากกรมประมงแล้ว 6 ลำ และมีอีก 3 ลำที่จ่ายค่าธรรมเนียมแล้ว แต่ยังไม่ได้ใบอนุญาต ซึ่งเวลานี้เรือประมงนอกน่านนํ้าไทยยังไม่สามารถออกไปจับปลาได้ เนื่องจากทางอียูติงว่าเรือที่ได้รับใบอนุญาตบางลำเป็นเรือที่เคยติดคดีแล้วทำไมถึงออกใบอนุญาตปล่อยไปทำการประมงใหม่ได้

 

กรณีดังกล่าวนี้มองว่า เมื่อคดีสิ้นสุดแล้วก็ควรจะจบและให้ออกทำการประมงได้ ซึ่งต่างจากปานามาที่สาเหตุถูกหมายหัวอาจถูกใบเหลืองรอบ 2 จากเรือประมงปานามามีการขายธง หรือขายทะเบียนเรือให้กับเรือประมงต่างชาติออกไปทำการประมง เสี่ยงต่อการทำประมงผิดกฎหมาย

ร้อง‘บิ๊กตู่’ ช่วย  อียูเบรกเรือไทย  อ้างเคยติดคดีห้ามทำประมง

เมื่อเจ้าหน้าที่อียูเตือนจึงทำให้ไทยกลัวจะโดนใบเหลืองรอบ 2 ปัญหาคือ ผู้ประกอบการได้ลงทุนปรับปรุงเรือ และกำลังจะออกไปทำการประมงจะทำอย่างไร แต่ละลำใช้เงินหลายสิบล้านบาท ส่วนหนึ่งทำเรื่องกู้เงินไปที่ธนาคารออมสินกำลังจะให้กู้ก็ถูกดึงเรื่องออกไปอีก ผลกรรมตกอยู่ที่ผู้ประกอบการ

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ทางหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้แจ้งให้ผู้ประกอบการทำหนังสือถึง พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอความช่วยเหลือว่าจะทำอย่างไร จะอนุญาตให้ออกไปทำการประมงได้หรือไม่ หรือจะมีแนวทางอื่นๆ ปัจจุบันเกินอำนาจของหน่วยงานที่รับผิดชอบแล้ว

 

นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมการประมงนอก น่านนํ้าไทย และในฐานะคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ กล่าวว่า ความจริงแล้วการแก้ไขกฎระเบียบเป็นเรื่องในประเทศไม่ได้กระทบกับที่อียูจะมาให้ใบเหลืองไทยอีกรอบ มองว่าเป็นข้อกังวลของทีมงานชุดที่สามารถแก้ไขให้ไทยปลดใบเหลืองได้ก็คงไม่อยากให้แก้ไข

ผมคิดว่าบางเรื่องก็ควรที่จะปรับแก้ไข รัฐบาลควรจะเน้นสิ่งสำคัญก็คือให้ผู้ประกอบการสามารถออกไปทำการประมงได้ อีกด้านหนึ่งผู้ประกอบการก็ควรที่จะยึดหลักของประเทศด้วย

 

หน้า13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,541 วันที่ 19-22 มกราคม 2563